“เอลนีโญ” คือ โจทย์หิน โจทย์ใหญ่ ที่รัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน เพราะมีคาดการณ์กันว่า เดือนธันวาคม 2566 นี้ จะถล่มไทย ล่าสุดมีการเสนอ 3 ข้อให้รัฐบาลใหม่ ให้รับมือ
เอลนีโญ คือ สิ่งที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะมีคาดการณ์กันว่าเอลนีโญจะทำให้เกิดภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวมีความกังวลอย่างมากว่าช่วงปลายปี 2566 ยาวไปจนถึงปี2567 เอลนีโญจะส่งผลกระทบรุนแรงกับประชาชน และภาคธุรกิจ หลายฝ่ายก็เดินหน้ารับมือกันอย่างเข้มข้นแล้ว และที่สำคัญมีการฝากการบ้านถึงรัฐบาลใหม่ว่าจะต้องนำเรื่องนี้เป็นภาระเร่งด่วนที่จะต้องรับมือ และแก้ไขปัญหา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดฉาก “เอลนีโญ” ถล่มภาคเกษตรไทย คาดปี’66 เสียหาย 4.8 หมื่นล้นล้านบาท
โดยปัญหาหลักของการเกิดเอลนีโญ คือสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ล่าสุด รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา MQDC และผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ประมาณเดือนธันวาคม 2566 ที่จะถึงนี้ ไทยจะเผชิญกับเอลนีโญ และจะเกิดภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่ โดยจะเห็นสัญญาณฝนทิ้งช่วงได้ชัดเจนตั้งแต่เดือนกันยายน – พฤศจิกายน 66 และจะเริ่มทวีความรุนแรงช่วงเดือนธันวาคม 2566 ลากยาวไปจนถึงปี 2567
ทั้งนี้จากการสำรวจน้ำในเขื่อนหลัก 4 เขื่อน ปัจจุบันพบว่าน้ำฝนเติมลงเขื่อนน้อยมาก และหากหมดฤดูฝนปีนี้จะส่งผลกระต่อภาคเกษตร ดังนั้นขอเตือนภาคเกษตรจะต้องมีการวางแผนตุนน้ำให้ดี นอกจากนี้ภาคอุตสาหกรรมก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน ในส่วนภาคการท่องเที่ยวก็เริ่มได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแล้ว ซึ่งเห็นได้ชัดเจนที่ปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เริ่มมีปัญหาเรื่องน้ำแล้ว
นอกจากนี้ ยังมองว่า เอลนีโญ คือ ปัญหาเร่งด่วนที่จะมองข้ามไม่ได้แล้วต่อจากนี้ ดังนั้นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลใหม่จะต้องเร่งแก้ไข และรับมือ คือ 1. จะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน และรวดเร็ว กับทุกภาคส่วน 2. จะต้องนำบุคลากรทางด้านการแก้ไขปัญหาโลกร้อนของไทยเข้าไปทำงานร่วมกับองค์กรที่แก้ไขปัญหาโลกระดับโลก เพื่อเข้าไปเรียนรู้ และนำความรู้มาปรับใช้ในไทย ต้องการให้องค์กรระดับโลกเหล่านั้นมีคนไทยร่วมทำงานอยู่ด้วย 3.ต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นได้ตัดสินใจเอง ให้เป็นไปตามหลักการ งบประมาณ ของรัฐที่กำหนดไว้ โดยให้ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างเข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน
ขณะที่นายประฏิพัทร์ กล่ำเพ็ง ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ จ.ชัยนาท กล่าวว่า เอญนีโญเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ไทยต้องเผชิญ จึงอยากให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนบริหารจัดการน้ำที่ดีกว่านี้ เช่นตอนที่ฝนตกก็ต้องมีแผนเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ในยามหน้าแล้งให้มากที่สุด ส่วนตัวเชื่อว่าการบริหารน้ำที่ดีมีประสิทธิภาพสำคัญกว่าการแก้ไขปัญหาเอลนีโญ เพราะหากฤดูฝนสามารถเก็บน้ำได้มาก ผลกระทบก็จะน้อยลง ทั้งนี้มองว่านโยบายที่รัฐแนะนำให้ปลูกพืชน้ำน้อยในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา มองว่านโยบายนี้ไม่ได้ผล และยังส่งผลกระทบต่อชาวนา และเกษตรกรในเรื่องของหนี้สินเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ด้านนายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า การรับมือเอลนีโญ ปี2566 คือการใช้มีข้อมูลมากพอและมีประสบการณ์จากภัยแล้งในปี 2562-2563 ทำให้ สทนช. ได้วางแผนแและคาดการณ์สถานการณ์ฝน และปริมาณน้ำในเขื่อนได้ดีขึ้นมีการออกมาตรการรองรับไว้เพื่อลดผลกระทบ ความเสียหายจากภัยแล้งที่จะเกิดกับเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม ได้เร็วกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา และมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการน้ำและพยุงสถานการณ์ไปจนกว่าจะถึงฤดูฝนปี 2567
อย่างไรก็ตามหัวใจหลักในการจัดการน้ำในช่วงตั้งแต่ ก.ย. 2566 ไปจนถึง พ.ค. 2567 คือ การเตรียมแผนสำหรับบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อภาคอุปโภค บริโภค ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร โดยเบื้องต้น สทนช.จะติดตามปริมาณน้ำฝนต่อเนื่อง หากพบว่าฝนตกท้ายเขื่อนก็จะผลันน้ำลงมากักเก็บในเขื่อน เพื่อที่จะได้มีน้ำพอใช้สำหรับฤดูฝนปีหน้า
ส่วนภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่าในโซนพื้นที่ภาคตะวันออกจะได้รับผลกระทบมากกว่าพื้นที่อื่นๆ สทนช.ได้มีการเตรียมถ่านย่ำลงในอ่างเก็ยน้ำประแส อ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อสำรองสำหรับภาคอุตสาหกรรม ส่วนภาคการเกษตรได้มีการแจ้งข้อมูลปริมาณน้ำและมาตรการล่วงหน้า เพื่อให้เกษตรได้พิจารณาว่าจะทำนาต่อเนื่องหรือไม่ เพราะลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากเกิดภาวะน้ำแล้งน้ำน้อย ดังนั้นข้อมูลที่จะสื่อสารไปยังภาคการเกษตรจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ สทนช. จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะหากไม่แจ้งเตือนก่อนเกษตรกรจะไม่มีข้อมูล และหากมีการลงทุนทำนาไปจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
เรื่องของเอลนีโญเป็นเรื่องที่นับจับตาอย่างมาก เพราะหลายประเทศกำลังให้ความสำคัญ และตื่นตัวมาก ไทยเองก็ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะรัฐบาลใหม่ นั่นคือ โจทย์ใหญ่ โจทย์หิน ที่รออยู่