svasdssvasds

Climate change พ่นพิษ ! ทำโลกเกิดหลุมอากาศมากขึ้น หวั่นกระทบอุตฯการบิน

Climate change พ่นพิษ ! ทำโลกเกิดหลุมอากาศมากขึ้น หวั่นกระทบอุตฯการบิน

นับวันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate change ทวีความรุนแรงต่อโลกมาขึ้นเรื่อยๆ บางพื้นที่แล้งหนัก บางที่อากาศแปรปรวน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ล่าสุดมีผลวิจัย เผยว่า limate change ทำโลกเกิดหลุมอากาศมากขึ้น หวั่นกระทบอุตสาหกรรมการบิน

Climate change มีผลกระทบอย่างอย่างมากกับโลกใบนี้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของโลกที่ต้องหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างผลกระทบต่อมนุษย์ แต่ยังมีผลไปถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในระบบนิเวศ ถ้า ไม่รีบดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาจส่งผลถึงการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตบนโลกด้วย

เว็บไซต์ EPA (United States Environmental Protection Agency) บอกถึงสภาพภูมิอากาศที่มีอิทธิพลต่อระบบนิเวศอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อนที่มีผลให้สัตว์จำนวนมากต้องปรับอุณหภูมิร่างกายของตัวเองเพื่อให้เอื้อต่อการอยู่รอด ในทำนองเดียวกัน ขณะที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น น้ำเค็มก็เริ่มรุกล้ำเข้าสู่ระบบน้ำจืด ซึ่งอาจส่งผลให้สัตว์บางสายพันธุ์ต้องย้ายที่อยู่หรือตายไป เป็นเหตุให้ระบบห่วงโซ่อาหารประสบกับปัญหาภาวะวิกฤตได้สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่เพียงแต่ Climate change จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตโดยตรงเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อมนุษย์ในด้านต่างๆ เช่น ด้านการพัฒนาที่ผลกระทบจะค่อยๆ ทวีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนระบบนิเวศเปลี่ยนไปแบบที่เราไม่ทันรู้ตัว  อย่างเช่น ตามแนวชายฝั่งทะเลที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาที่ดินซึ่งมีความเปราะบางอยู่แล้ว อาจพังลงถ้าสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงจนเกิดเป็นพายุฝน

 ต้องยอมรับว่าโลกของเราตอนนี้ Climate change ได้ทวีความรุนแรงกับโลกของเราไปเรื่อย ๆ  ล่าสุด Environman มีการนำเสนอผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Geophysical Research Letters จากทีมนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัย Reading ในประเทศอังกฤษ เผยว่า ตั้งแต่ปี 1979 จนถึงปี 2020 โลกเกิดหลุมอากาศขนาดรุนแรงในเส้นทางบินแถบแอตแลนติกเหนือเพิ่มขึ้นถึง 55 % โดยมีสาเหตุหลักเกิดจากอากาศที่ร้อนขึ้นจากสภาวะโลกรวน ส่งผลให้ความเร็วลมในชั้นบรรยากาศด้านบนเกิดการเปลี่ยนแปลง

สำหรับหลุมอากาศเกิดจากปรากฏการณ์ที่ลมเปลี่ยนแปลงทิศทางอย่างรวดเร็วและรุนแรงทั้งในแนวราบ และแนวดิ่ง เราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “ลมเฉือน” (Wind Shear) เครื่องบินบินอยู่ในอากาศได้โดยอาศัยแรงยกจากอากาศที่เคลื่อนที่ผ่านปีก โดยปกติแล้วลมจะมีความหนาแน่นเท่าเดิมและอยู่ในทิศเดิมไปตลอดเส้นทาง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของความหนาแน่นหรือทิศทางลม เมื่อนั้นหลุมอากาศจะเกิดขึ้น เวลาที่เครื่องบินต้องปะทะกับอากาศที่มีความหนาแน่นที่เปลี่ยนแปลงไป แรงยกปีกจะลดลง เราจึงรู้สึกวูบเหมือนเครื่องบินตกหลุมเวลาเจอหลุมอากาศ

ด้วยอากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้สภาวะลมเฉือนมีความรุนแรงขึ้น ดังนั้นจึงพบหลุมอากาศได้ถี่ขึ้น โดยตามปกติแล้วดาวเทียมจะสามารถจับภาพกระแสลมที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากพายุได้ เราจึงสามารถพยากรณ์หลุมอากาศที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ปัญหาสำคัญคือหลุมอากาศที่เกิดขึ้นกระทันหันหรือหลุมอากาศในวันที่ฟ้าใส หลุมอากาศประเภทนี้จะไม่ปรากฏบนจอเรดาร์ มันจึงเป็นเรื่องยากมากที่จะตรวจจับหลุมอากาศประเภทนี้ล่วงหน้าได้

อย่างไรก็ตามยิ่งหลุมอากาศเกิดบ่อยขึ้น การเดินทางสัญจรในอากาศก็จะยิ่งลำบากมากขึ้น ศาสตราจารย์ Paul Williams หนึ่งในผู้วิจัยกล่าวว่า “ยิ่งโลกมีสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้นเท่าไหร่ หลุมอากาศก็จะยิ่งเกิดมากขึ้นเท่านั้น” โดยปรากฎการณ์ที่หลุมอากาศเกิดถี่ขึ้นนั้นเริ่มเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้วในรูทบินประเทศอเมริกา รูทบินทวีปยุโรป รูทบินเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก และรูทบินในตะวันออกกลาง

สำหรับไฟล์ทบินที่ต้องเจอกับหลุมอากาศนั้นนอกจากจะสร้างความตระหนกแล้วยังอาจสร้างความบาดเจ็บแก่ผู้โดยสารอีกด้วย ถึงแม้ว่าหลุมอากาศขั้นรุนแรงจะพบได้น้อย แต่หากเครื่องบินปะทะกับหลุมอากาศที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหันในขณะที่ผู้โดยสารไม่ได้คาดเข็มขัด อันตรายอาจเกิดขึ้นได้ เพราะฉนั้น การรัดเข็มขัดอยู่ตลอดเวลาบนเครื่องบินจะช่วยสร้างความปลอดภัยแก่ทุกคนมากขึ้น

นอกจากการบินที่ยากขึ้น ยังมีราคาที่ต้องจ่ายอีกด้วย ทั้งราคาที่เป็นเงินจริงๆ และผลเสียที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมการบินในสหรัฐอเมริกาต้องเสียเงินจำนวนกว่า 5,000 ล้านถึง 17,000 ล้านบาทในแต่ละปีเพื่อซ่อมแซมเครื่องบินที่ชำรุดจากการตกหลุมอากาศ ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อม การที่นักบินต้องบินระยะทางที่ไกลขึ้นเพื่อหลบเลี่ยงหลุมอากาศนั้นแสดงว่าเครื่องบินต้องปล่อยไอเสียเพิ่มขึ้นด้วย ไอเสียนั้นมีทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่ทำร้ายโลก

สำหรับปัญหาหลุมอากาศที่เกิดขึ้นจำนวนมากในตอนนี้เนื่องจาก Climate change ซึ่งมนุษย์อย่างเราๆทำอะไรไม่ได้มากนอกจากพัฒนาเทคโนโลยีพยากรณ์หลุมอากาศให้แม่นยำมากขึ้นเพื่อเตรียมรับมือกับหลุมอากาศที่จะเกิดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต เว้นเสียแต่ว่ามนุษย์ หรือนักวิทยาศาสตร์จะสามารถชะลอ หรือหยุดยั้งภาวะโลกรวนที่กำลังเกิดขึ้นไว้ได้ !

related