“วราวุธ” ชี้ประเทศไทยจากนี้ไป 3 ปี ข้างหน้าไทยมีโอกาสเจอปรากฏการณ์เอลนีโญ หลังจากปี 2564 -2565 เจอลานีญา มาแล้วทั้งน้ำท่วม ฝนเยอะ ลั่นเอลนีโญ คือโจทย์ใหญ่ที่รอรัฐบาลใหม่อยู่ และต้องทำการบ้านให้ดีหาทางรับมือ
การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประเทศไทยบางปีเจอลานีญา น้ำเยอะ น้ำท่วม บางปีเจอเอลนีโญ ภัยแล้งหนักกระทบพี่น้องประชาชน และกระทบเศรษฐกิจ กระทบ GDP อย่างมหาศาล ซึ่งปัญหาดังกล่าวนับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องหาทางรับมือให้ได้ แน่นอนว่านี่คือโจทย์ใหญ่ที่รอรัฐบาลใหม่อยู่ หลังจากการเลือกตั้งที่จะถึงนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตือน ! ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำรับมือภัยแล้ง แนะ 10 วิธีข้อควรปฏิบัติให้รอด
โลกจะเผชิญคลื่นความร้อนและภัยแล้ง จากผลพวงเอลนีโญ ที่รุนแรง-ยาวนานขึ้น
โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในงานสัมมนา“EARTH JUMP 2023 : New Frontier of Growth” ที่จัดขึ้นโดยธนาคารกสิกรไทย เมื่อเร็วๆนี้ว่า แม้ว่าเมื่อช่วงปี2564 -2565ประเทศไทยเจอลานีญา ทั้งน้ำท่วม ฝนเยอะ ในหลายพื้นที่กระทบต่อภาคการเกษตร กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน แต่…มันกำลังจะผ่านไป และเข้าสู่เจอปรากฏการณ์เอลนีโญ ภัยแล้งมาเยือนไทยตั้งแต่ปี 2566 -2568 นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องทำการบ้านอย่างหนักหาทางรับมือภัยแล้ง
นอกจากปัญหาภัยแล้งแล้วรัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญกับการนำไทยไปสู่ประเทศที่ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ในปี2065 เนื่องจากไทย คือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับ 9 ของโลก ถือได้ว่าเป็นลำดับแรกๆ แต่ในทางกลับกันไทยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 0.8% อยู่อันดับที่ 19 ของโลก ถือว่ายังน้อย หากเทียบกับ จีน อเมริกา และ EU
สำหรับแผนการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยในระยะสั้น และระยะยาว คือในปี2050-2065 โดยในไทยจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณ 388 ล้านตันในปี2025 และจากนั้นอีก 40 ปีจะค่อยๆลดลงเหลือ120 ล้านตันในปี2065 ส่วนแผนระยะสั้นปี2030 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง40%
สำหรับในอนาคตการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเน้นกลุ่มต่าง ๆดังนี้
-กลุ่มพลังงาน ขนส่ง ลดลง 216 ล้านตัน
- ภาคอุตสาหกรรมลดลง 2.4 ล้านตัน
-กำจัดขยะ น้ำเสีย ชุมชนลดลง 1.6 ล้านตัน
- เกษตรลดลง 2.6 ล้านตัน
อย่างไรก็ตามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ยกระดับการทำงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ ทบทวนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขาที่สอดคล้องกับเป้าหมาย NDC (ปี 2030) ในภาคพลังงานและขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคของเสีย และภาคเกษตร พัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ การเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน
พร้อมกันนี้กระทรวงอยู่ระหว่างผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการยกระดับจาก Voluntary เป็น Mandatory เพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาคาร์บอน และกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต และเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย ที่จะไปสู่ Net Zero GHG เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำทุกอย่างเป็นจริงได้