svasdssvasds

ออสเตรเลียเอาจริง ปฏิเสธเหมืองถ่านหินจากเจ้าพ่อเหมือง เพื่อปกป้องปะการัง

ออสเตรเลียเอาจริง ปฏิเสธเหมืองถ่านหินจากเจ้าพ่อเหมือง เพื่อปกป้องปะการัง

เมื่อเจ้าพ่อเหมืองออสเตรเลีย ขอเปิดโครงการเหมืองถ่านหินใหม่ใกล้ Great Barrier Reef รัฐบาลชุดใหม่ออสเตรเลียก็โดดเข้ามาปฏิเสธเลยว่าไม่ได้ เพราะอาจส่งผลเสียต่อปะการัง

ถึงเวลาชะล้างสิ่งสกปรกให้ธรรมชาติ! เมื่อวันพุธที่ผ่านมา รัฐบาลออสเตรเลียได้ปฏิเสธข้อเสนอการสร้างเหมืองถ่านหินแบบเปิดที่คาดว่าจะสร้างให้ห่างจากปะการัง Great Barrier Reef ไม่เกิน 6.2 ไมล์ การปฏิเสธครั้งนี้ถูกพิจารณาภายใต้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลีย

Great Barrier Reef รัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย Cr. Pixarbay อย่างที่ทราบกันดีว่าตอนนี้ทั่วโลกเริ่มตื่นรู้ในเรื่องของผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากกิจกรรมของมนุษย์แล้ว แต่ยังมีอีกหลายส่วนทั่วโลกที่ยังไม่เชื่อว่า ภาวะโลกร้อนมีจริง เหล่าผู้มีอำนาจหลายรายพยายามศึกษาและออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือ แต่ฝ่ายตรงข้ามก็ยังมีอยู่ ผู้ที่หวังหาผลกำไรจากธรรมชาติยังไงล่ะ

โครงการถ่านหิน Central Queensland ถูกนำเสนอโดยเจ้าพ่อเหมืองชาวออสเตรเลีย ไคลฟ์ พาร์มเมอร์ (Clive Palmer) ซึ่งนายคนนี้เรียกได้ว่าเป็นขาใหญ่แห่งเจ้าพ่อเหมืองของออสเตรเลียก็ว่าได้ เขาเป็นผู้ก่อตั้งและให้การสนับสนุนทุนแก่พรรคอนุรักษ์นิยมออสเตรเลียด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ไคลฟ์ มีกำลังการผลิตถ่านหินถึง 11 ล้านตันต่อปี เป็นเวลา 25 ปีที่ผ่านมา แต่โครงการเพื่อหากำไรอันยิ่งใหญ่ของเขาก็สะดุด เมื่อเจอกับ Tanya Plibersek รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำของออสเตรเลีย ที่ได้ออกมาปฏิเสธการขยายเหมืองของเขา

“ฉันตัดสินใจแล้วว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมจากเหมืองนั้นรุนแรงเกินไป เหมืองเป็นเหมืองแบบเปิดที่ตั้งอยู่ห่างจากแนวปะการัง Great Barrier Reef ไปเพียงแค่ไม่ถึง 10 กิโลเมตรเอง อาจเสี่ยงให้เกิดมลพิษและความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้ต่อแนวปะการัง” ธันยา กล่าวผ่านวิดีโอในทวิตเตอร์ของเธอ

เธอเสริมว่า การทำเหมืองจะทำให้น้ำจืดปนเปื้อนมลพิษและส่งผลต่อทุ่งหญ้าทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของพะยูนและแหล่งเพาะพันธุ์ปลาด้วย

การตัดสินใจของเธอไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้กำหนดให้เธอต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้เสนอเหมืองและประชาชนทั่วไปด้วย หลังจากช่วงแสดงความคิดเห็นสาธารณะจบลง ผู้คนมากกว่า 9,000 คน ส่วนใหญ่สนับสนุนการตัดสินใจของเธอเพื่อหยุดยั้งโครงการนี้

เดี๋ยวน้อนไม่มีหญ้าทะเลกิน Cr. Pixarbay ในปี 2022 นอกจากปะการังต้องเผชิญหน้ากับเหมืองถ่านหินแล้ว ยังต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตสภาพภูมิอากาศด้วย เพราะในปีที่ผ่านมา เกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ๋ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งที่ 6 แล้ว นับตั้งแต่ปี 1998

รัฐบาลชุดปัจจุบันของออสเตรเลียเข้ามามีอำนาจบริหารงานเมื่อปีที่แล้ว โดยให้คำมั่นว่าจะยกระดับความทะเยอทะยานด้านสภาพอากาศของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 43% ภายในปี 2030

แต่อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียยังเป็นประเทศหนึ่งที่ส่งออกถ่านหินและก๊าซธรรมชาติให้กับคนทั้งโลก และพรรคสีเขียวเรียกร้องให้รัฐบาลชุดปัจจุบันปฏิเสธโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ทั้งหมด และรัฐก็ให้สัญญาแล้วว่าจะดำเนินงานตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้เพื่อปกป้องทรัพยากรของชาติและของโลก

ที่มาข้อมูล

ECOWATCH

related