จีนเปิดประเทศแล้ว 8 มกราคม นี้ ซึ่งประเทศไทยก็หนึ่งใน Destination ยอดนิยมของชาวจีนและชาวต่างชาติ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่การท่องเที่ยวไทยจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง และเป็นจังหวะที่ดีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทย
แต่ทว่าโอกาสที่จีนเปิดประเทศย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงในการที่ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศจะเสียหายจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่นๆ ดังกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับสถานที่ท่องเที่ยวหลายๆ แห่ง อย่างเหตุการณ์ล่าสุดที่เรือของบริษัทท่องเที่ยวจอดทับปะการังได้รับความเสียหายหนักในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ซึ่งการกระทำนี้ถือเป็นการทำผิด พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และเพื่อเป็นการป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามให้อยู่คู่คนไทยไปตราบนานเท่านาน
ในส่วนของมาตรการรับมือนักท่องเที่ยวที่กำลังจะหลั่งไหลเข้ามา นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เผยว่า ประเทศไทย พร้อมรับนักท่องเที่ยวจีนและต่าชาติ หลังจากที่จีนเปิดประเทศเต็มรูปแบบ 8 ม.ค. 2566 นี้ ส่วนในประเด็นทางสิ่งแวดล้อม มีทั้งมาตรการสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยว และมาตรการรับมือนักท่องเที่ยว
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
วางทุ่นผูกเรือ แนวทางการอนุรักษ์ปะการัง ป้องกันเสียหายจากการท่องเที่ยว
รู้หรือไม่? ปะการังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามทำลาย ข้อควรทราบก่อนดำน้ำ
เพจดังเผยภาพ ปะการังพังยับ เขตอุทยานหมู่เกาะพีพี คาดจากเรือท่องเที่ยว
มาตรการการรองรับและป้องกันสำหรับผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่า ช่วงก่อนฤดูการท่องเที่ยวหรือก่อนที่จีนเปิดประเทศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) นายวราวุธ ศิลปอาชา ได้มอบนโยบายเตรียมความพร้อมในเรื่องการท่องที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมทั้งมีมาตรการคุ้มครองปะการังจากกิจกรรมการดำน้ำหรือการท่องเที่ยวทางทะเล บังคับใช้คุ้มครองทั้งเรื่องปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล รวมทั้งเรื่องคุณภาพของน้ำทะเล เพราะฉะนั้นมาตรการที่ออกมาจะควบคุมทั้งผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว
มาตรการรับนักท่องเที่ยวที่ใช้ควบคุมกิจการผู้ประกอบการที่นำเที่ยว ไม่ว่าจะการเที่ยวชมธรรมชาติอย่างเดียวก็จะเน้นเป็นเรื่องของการนำขยะเข้ามาในพื้นที่ ทั้งอาหารการกินและสิ่งของอื่นๆ ปริมาณขยะที่นักท่องเที่ยวนำเข้ามาในพื้นที่ท่องเที่ยว ควรจะนำขยะกลับไปทิ้งด้วย ไม่ควรทิ้งที่เกาะหรือสถานที่ท่องเที่ยว
หลังจากที่เราประกาศมาตรการนี้ออกไปแล้วผู้นำท่องเที่ยวหรือผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวจะต้องได้รับการอบรม และต้องมีใบรับรองในการอนุญาตทำกิจกรรมเกี่ยวกับการดำน้ำหรือกิจกรรมใดๆ ที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเรื่องการดูแลความสะอาด หรือแม้กระทั่งครีมกันแดดที่ต้องเป็นครีมกันแดดที่ไม่มีสารเคมีอันตราย 4 ชนิด อย่าง Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) Octinoxate (Ethylhexyl Methoxycinnamate) 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) Butylparaben ซี่งสารเหล่านี้จะทำลายปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล
ส่วนนักท่องเที่ยวที่ต้องการดำน้ำ ต้องมีใบรับรองมีหลักสูตรการดำน้ำ ไม่ว่าจะเป็นหลักสพื้นฐาน Open Water Diver หลักสูตร Diver หลักสูตร Advance หลักสูตร Master ก็เป็นไปตามระดับของความลึก หากดำน้ำไม่เก่งแล้วดำไปที่ระดับความลึกฟินอาจจะไปโดนปะการังหรือเอามือเผลอไปจับปะการัง
นอกจากการดำน้ำที่ดูแลอย่างเคร่งครัดแล้ว การล่าสัตว์ทะเล หรือตกปลาในพื้นที่อุทยานหรือพื้นที่อนุรักษ์ก็ต้องเป็นเรื่องที่ดูแลก็เป็นสิ่งที่ห้ามทำ ซึ่งเรื่องเหล่านี้นักท่องเที่ยวบางคนอาจจะไม่รู้ เพราะฉะนั้นผู้ประกอบจึงเป็นตัวกลางที่สำคัญที่สุดในการสื่อสาร หากผู้ประกอบการปล่อยให้นักท่องเที่ยวทำลายธรรมชาติแสดงว่ากิจการท่องเที่ยวนั้นไม่มีการควบคุมตามที่เรากำหนดมาตรการ จะมีบทลงโทษตั้งแต่พักใช้ใบอนุญาต ไม่อนุญาตให้เข้ามาดำเนินกิจการ เป็นต้น
ในส่วนของนักท่องเที่ยวที่มีเจตนาทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ก็จะมีบทลงโทษตามข้อบังคับใช้กฎหมาย ทางอุทยานจะมีข้อบัญญัติที่ถูกปรับในบางเรื่องที่เป็นเรื่องร้ายแรง ทางรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถึงกับแจ้งไปยังต่างประเทศว่าขอให้ผู้กระทำผิดออกนอกประเทศเลยก็มี ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่มาล่าสัตว์ มีการจับปะการังหรือจับปลาดาวขึ้นมา รวมถึงการทิ้งขยะลงไปในทะเล การทิ้งขวดน้ำหรือขยะลงไปในทะเล
เช่นเดียวกับเวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศ ทำไมเรารู้สึกว่ามาตรการรับนักท่องเที่ยวและข้อบังคับของเขาจริงจังน่ากลัวที่นั่นซึ่งแม้แต่บุหรี่ก็ห้ามทิ้ง นั่นเพราะกฎระเบียบเขาหนักและเอาจริง เพราะฉะนั้นบ้านเราก็เหมือนกันต้องมีกติกาและต้องบังคับใช้อย่างจริงจัง หากเขากลัวเขาก็ไม่กล้าทำ หากเราทำให้เข้มแข็งผมว่าคนทำผิดก็เกรงกลัว นักท่องเที่ยวทุกคนที่เข้ามาก็จะไม่กล้าทำอันตรายกับทรัพยากรของเรา
จัดระเบียบการท่องเที่ยวสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
การจัดระเบียบการท่องเที่ยวเพื่อรับนักท่องเที่ยวจีนหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติรับกระแสจีนเปิดประเทศ นอกจากในส่วนของผู้ประกอบการแล้ว จำเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงทั้งกับนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยเอง ถึงสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องทราบเมื่อเข้ามาในประเทศเกี่ยวกับเรื่องข้อห้ามต่างๆ ในการที่จะเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชิงธรรมชาติต้องปฎิบัติอย่างไรให้เป็นไปตามข้อบังคับ รับผิดชอบขยะของตัวเอง ไม่ใช่จะทิ้งที่ไหนก็ได้หรือทิ้งไม่เป็นที่
ตอนนี้มีหลายอุทยานทางธรรมชาติปลูกฝังให้นักท่องเที่ยวรับผิดชอบขยะของตัวเอง โดยพื้นที่นั้นจะไม่มีถังขยะ แต่จะให้ผู้ที่เดินทางไปท่องเที่ยวนำขยะกลับไปทิ้ง เช่น พื้นที่เกาะต่างๆ จะไม่ให้ทิ้งขยะบนเกาะ ซึ่งมันจะเป็นภาระของชาวบ้านหรือคนที่ทำงานอยู่บนเกาะ เมื่อเราทิ้งไม่ตรงที่ก็จะทำให้เกิดความเสียหาย เพราะฉะนั้นทางที่ดีให้นักท่องเที่ยวนำขยะกลับไปด้วย
ดูแลธรรมชาติอย่างไรเมื่อธรรมชาติถูกทำลายจากการท่องเที่ยว
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะความเสียหายเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องใช่เวลานานกว่าจะฟื้นฟู อย่างเช่นปะการัง หากมันเสียหายไปมันต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี บางพื้นที่ปิดไป 10 ปีก็ยังไม่เหมือนเดิม ปะการังโตช้ามาก การที่จะฟื้นฟูก็ต้องให้เป็นไปตามธรรมชาติ ค่อยๆ ฟื้นฟูและต้องใช้ระยะเวลานาน ไม่ใช่ทุกอย่างที่พังไปแล้วมันจะฟื้นฟูได้หมด ในส่วนของปะการังเราก็ไม่สามารถปลูกหรือเพาะเลี้ยงได้ทุกชนิด ปลาเวลาสูญพันธุ์หายไปแล้ว ก็คือหายไปเลย ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายหรือถูกทำลายเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ร่วมมือกับผู้ประกอบการและชุมชน เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
คุณอรรถพลเล่าให้ฟังว่า ได้มีการพูดคุยและร่วมกันกับชุมชนและหลายฝ่าย ทั้งท้องถิ่น ผู้ประกอบการท่องเที่ยว อีกทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคคมนาคม และอื่นๆ ร่วมกันทำความเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบกับทรพยากรธรรมชาติ ตลอดจนมีการอบรมเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน
แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วม เนื่องจากมองว่าการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะเท่าไรก็เป็นการดี เพราะเป็นการสร้างรายได้ เขาไม่ได้สนใจเรื่องขยะหรือธรรมชาติซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องไปเจาะกลุ่มนี้ให้ได้ ก็จะมีบางกลุ่มที่ไม่เคารพกติกา มีบางกลุ่มที่พูดอย่างไรก็ไม่ฟัง ก็จะเข้าสู่กระบวนการต่อไปคือการบังคับใช้ด้วยกฎหมาย และทำให้เขาเข้าใจว่าหากทรัพยากรธรรมชาติที่มีพังไป ก็จะไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยว และก็จะส่งผลกระทบกับพวกเขา
จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ยิ่งปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว
Carrying Capacity หรือการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ในพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีปริมาณการรองรับจำกัด ซึ่งหากมีนักท่องเที่ยวในพื้นที่นั้นมากเกินไปอาจกระทบกับธรรมชาติได้ เช่น อ่าวมาหยา ที่มีพื้นที่ขนาดเล็กและไม่สามารรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวมากๆ ได้จึงต้องจำกัดจำนวน และมีการจองคิว ซึ่งอุทยานแห่งชาติและสถานที่ท่องเที่ยวหลายพื้นที่ก็เริ่มทำแล้ว เพื่อลดความแออัด อีกทั้งยังปลอดภัย และป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การท่องเที่ยวแบบนี้ต้องมีมูลค่า ซึ่งบางประเทศต้องจองเป็นปีๆ เพราะฉะนั้นเราก็เหมือนกันต้องดูแลให้มากๆ ไม่จำเป็นต้องเอาปริมาณ ปริมาณไม่มากแต่มีคุณภาพ และยังเป็นอีกทางที่ป้องกันทรัพยากรธรรมชาติเสียหาย