กรมประมงจับมือปตท.สผ. นำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม มาทำเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยให้สัตว์ทะเล เพิ่มความยั่งยืนด้านการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ
ทุกวันนี้ บ้านของสัตว์ทะเลส่วนหนึ่งคือปะการัง แต่เพราะอุณหภูมิของโลกกำลังสูงขึ้น ทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวและการเดินเรือที่เพิ่มมากขึ้นจากการกลับมาของการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ทำให้ปะการังเริ่มกลับไปเสื่อมโทรมอีกครั้ง อันเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยหลักของสัตว์น้ำน้อยใหญ่
ด้วยเหตุนี้ กรมประมง ร่วมกับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) จึงได้ร่วมกัน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลเพื่อการประมงจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่งอ่าวไทย ณ ห้องประชุมอานนท์ กรมประมง กรุงเทพฯ
โดยจุดประสงค์ของการนำขาแท่นหลุมปิโตรเลียม มาศึกษาวิจัยเพื่อสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล อันเนื่องมาจาก ความต้องการในการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อการประมง ฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลให้อุดมสมบูรณ์มากขึ้น รวมถึงเพื่อส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาองค์ความรู้ของประเทศในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการรักษาสมดุลระบบนิเวศทางทะเลให้เกิดความยั่งยืนอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สัตหีบ-แสมสาร น่าห่วง โรคแถบสีเหลือง ระบาด ปะการัง เสียหายหนัก เร่งคัดแยกออก
Deep Learning หนุนอาสาสมัครทั่วโลก ช่วยปกป้อง แนวปะการังใหญ่ที่สุดของโลก
การทำประมงเกินขนาดเริ่มมาจากไหน ทำความเข้าใจ วิกฤตอาหารทะเล Overfishing
IUCN เผยงานวิจัยใหม่ สัตว์ในทะเลกว่า 10% กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์แล้ว
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงด้วยมาตรการหลากหลายรูปแบบ การจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลหรือปะการังเทียมเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนับเป็นหนึ่งในมาตรการที่สำคัญในการสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ เพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์ทะเลตามธรรมชาติ
ที่ผ่านมากรมประมงได้มีการศึกษาและพัฒนาวัสดุและรูปแบบการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันกรมประมงใช้แท่งคอนกรีตเป็นมาตรฐานในการจัดสร้าง เนื่องจากเป็นวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับความร่วมมือในการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลด้วยวัสดุขาแท่นปิโตรเลียม เป็นการนำร่องในการศึกษา ด้านแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลรูปแบบใหม่ในประเทศไทยที่ยังมีการศึกษาที่ไม่ครอบคลุมด้านการประมงจึงต้องอาศัยความร่วมมือกัน ในการพัฒนาองค์ความรู้ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อวางแนวทางการใช้ประโยชน์จากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมอย่างเหมาะสมในอนาคต
นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับด้านวิชาการและด้านการประมงที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ เพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหาร ตลอดจนส่งเสริมการทำประมงนอกชายฝั่งและการทำประมงชายฝั่งให้เกิดความยั่งยืนต่อการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมงอีกทางหนึ่งด้วย
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. กล่าวว่า ปตท.สผ. ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในอ่าวไทยมากว่า 37 ปี ซึ่งปัจจุบันกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบางพื้นที่ในอ่าวไทยได้สิ้นสุดลง สิ่งติดตั้งและอุปกรณ์การผลิตซึ่งจะต้องทำการรื้อถอนหลังจากที่สิ้นสุดการทำหน้าที่ในการผลิตปิโตรเลียมเพื่อเป็นพลังงานให้กับประเทศแล้วนั้น ยังสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อในการทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลได้
ซึ่งการนำขาแท่นผลิตปิโตรเลียมไปจัดสร้างเป็นปะการังเทียมในระดับน้ำลึกราว 50-60 เมตร เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลและช่วยเพิ่มผลผลิตที่เป็นประโยชน์ต่อการประมง ซึ่งนับเป็นแนวทางที่ทั้ง 5 หน่วยงาน จะมาร่วมกันศึกษาเพื่อเป็นทางเลือกในการนำทรัพยากรดังกล่าวมาใช้ให้เกิดคุณค่าและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อท้องทะเลไทย
นับเป็นอีกหนึ่งโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ที่ใช้งานแล้ว นำกลับมาใช้ให้มีประโยชน์ได้เป็นอย่างดีอีกโครงการหนึ่ง นอกจากนี้ โครงการนี้ยังได้เปิดโอกาสให้กับทุกหน่วยงาน มาร่วมกันศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ในการนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมไปจัดสร้างเป็นแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลเพื่อการประมง เพื่อต่อยอดการใช้งานที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อนึ่ง เรื่องของวิกฤตสัตว์ทะเล เป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องหันมาให้ความสนใจ เพราะเป็นอีกแหล่งตระกร้าข้าวหลักของหลายประเทศ ที่ได้ทรัพยากรทางทะเลมาบริโภค แต่เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน ทำให้อุณหภูมิของโลกและทะเลสูงขึ้น ส่งผลต่อการดำรงชีวิต อาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลจำนวนมาก และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปยังอุตสาหกรรมประมง ที่ทำให้สัตว์น้ำที่จัดขึ้นมามีจำนวนน้อยลง ขาดแคลนการแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำ รวมไปถึงคุณภาพของสัตว์น้ำลดน้อยลงอันเนื่องมาจากวิกฤตมลพิษทางน้ำที่มีเยอะมาก
ทำอย่างไร จึงจะทำให้ตระกร้าข้าวจากผืนน้ำใบใหญ่นี้มีความยั่งยืน แน่นอนว่าต้องมาจากความร่วมและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันจากทุกภาคส่วน และที่สำคัญต้องมาจากการบริหารจัดการและการเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางธรรมชาติ โดยเฉพาะสัตว์น้ำวัยอ่อนที่จะเติบโตมาเป็นทรัพยากรหลักของโลกต่อไป รวมถึงสัตว์น้ำน้อยใหญ๋ในห่วงโซ่อาหารของกันและกันที่จะส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในที่สุด