svasdssvasds

ผู้เชี่ยวชาญ อธิบาย ฝนถล่ม น้ำท่วมภูเก็ต เหตุจากร่องมรสุม และอิทธิพลไซโคลน

ผู้เชี่ยวชาญ อธิบาย ฝนถล่ม น้ำท่วมภูเก็ต เหตุจากร่องมรสุม และอิทธิพลไซโคลน

คุณชวลิต จันทรรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ อธิบายถึงสาเหตุฝนถล่มภูเก็ตอย่างหนัก มีปัจจัยหลักมาจากร่องมรสุมพาดผ่าน ส่วนปัจจัยเสริมคืออิทธิพลจากไซโคลน โดยคาดว่า หลังจากวันที่ 18 ต.ค. สถานการณ์จะดีขึ้นตามลำดับ กระทั่งภูเก็ตกลับสู่สภาวะปกติในที่สุด

ถือได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่หนักหนาเป็นอย่างยิ่ง สำหรับน้ำท่วมที่จังหวัดภูเก็ตในปีนี้ โดยคุณชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ ได้อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ฝนถล่มภูเก็ตอย่างหนัก จนทำให้เกิดน้ำท่วมสูงในหลายพื้นที่ ดังต่อไปนี้

สาเหตุฝนถล่มหนัก จนทำให้ภูเก็ตน้ำท่วม

คุณชวลิต กล่าวว่า นอกจากอิทธิพลร่องมรสุมผ่านพาดจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง ยังมีอิทธิพลจากพายุไซโคลน จึงส่งผลให้เกิดฝนตกอย่างหนักในช่วง 3 วันที่ผ่านมา (14 - 16 ต.ค.)

“(อิทธิพลจากพายุไซโคลน) มีผลทำให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ลมมรสุมตะวันเฉียงใต้คือลมที่พัดพาความชื้นจากอันดามันเข้ามาภาคใต้ อันนี้คือประเด็นสำคัญเลย เพราะว่าในอันดามัน ปกติก็มีลมมรสุมตามฤดูกาล คือตั้งแต่ช่วงพฤษภาคมเป็นต้นมา  

“แต่พอเกิดพายุไซโคลน ขอบของพายุก็มาเสริมกับลมที่พัดเข้ามา ตั้งแต่สตูล ตรัง ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง และพม่าที่อยู่ขอบอันดามัน ทำให้พื้นที่เหล่านี้ได้รับความชื้นมากขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

“และมีร่องมรสุมที่พาดผ่านภูเก็ตมา 3 วันแล้ว (14 - 16 ต.ค.) และคาดว่าจะพาดผ่านคงที่อย่างนี้ต่อไปอีก 2 วัน จึงทำให้ภูเก็ต และพื้นที่ใกล้เคียง มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ไปถึงวันที่ 18 ต.ค.”

“ความชื้นจะเข้ามารวมตัวในร่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นลมตะวันตก ลมตะวันตกเฉียงใต้ ก็จะมาลงในร่อง พอลงร่องปุ๊บ มันก็มีพลังลม ยกตัวขึ้นแล้วปล่อยตัวลง ก็กลายเป็นฝนเลย

“แต่ตอนนี้ไซโคลนเคลื่อนที่เกือบถึงอินเดีย (17 ต.ค.) เพราะฉะนั้นวันนี้และพรุ่งนี้ (17 - 18 ต.ค.) ก็หมดอิทธิพลของไซโคลนแล้ว จริงๆ วันนี้ (17 ต.ค.) เป็นวันสุดท้ายแล้ว วันพรุ่งนี้ (18 ต.ค.) ฝนที่ตกในภูเก็ต ก็เพราะอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่านเท่านั้น และฝนก็จะตกน้อยลง

คุณชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ

ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้น้ำท่วมสูงที่ภูเก็ต

คุณชวลิต ยืนยันว่า ปัจจัยหลักฝนตกหนักที่ภูเก็ต ก็คือร่องมรสุมพาดผ่าน โดยมีอิทธิพลจากพายุไซโคลน เป็นปัจจัยเสริม และไม่ได้มีปัจจัยอื่นๆ อาทิ น้ำทะเลหนุนสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง

“ไม่มีปัจจัยด้านน้ำทะเลหนุนสูงครับ เพราะแม่น้ำลำน้ำในภาคใต้มีความชัน ส่งผลให้น้ำไหลลงทะเลได้เร็ว ต่างจากลำนำที่ลักษณะราบในภาคอื่นๆ ที่น้ำทะเลหนุนสูงจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมได้ (แม้ฝนไม่ได้ตกหนักมากก็ตาม)

“โดยแม่น้ำที่ลักษณะราบ จะทำให้น้ำไหลลงทะเลได้ช้า อันดับ 1 ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา ที่แทบไม่มีความลาดชันเลย อันดับ 2 แม่น้ำท่าจีน อันดับ 3 แม่น้ำบางปะกง และอันดับ 4 แม่น้ำแม่กลอง”

ส่วนในประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การสร้างสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำอาจจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งหรือไม่  ซึ่งในกรณีน้ำท่วมจังหวัดภูเก็ต คุณชวลิตได้กล่าวว่า “ถ้าพูดในภาพรวม ก็ต้องไปดูตัวลำห้วย สาขาของลำน้ำต่างๆ ในพื้นที่ว่ามันมีคอขอดมากหรือเปล่า โดยปกติพื้นที่ติดทะเลจะมีน้ำขึ้นน้ำลงวันละ 2 ครั้ง แต่ขึ้นเร็วและลงเร็ว เพราะว่ามีความชันสูง แต่หากมีการก่อสร้างสิ่งที่ไปขวางทางน้ำ ก็จะส่งผลกระทบกับการระบายน้ำ ทำให้น้ำไหลสู่ทะเลได้ช้าลง”

ผู้เชี่ยวชาญ อธิบาย ฝนถล่มภูเก็ต เหตุจากร่องมรสุม และอิทธิพลไซโคลน

ส่วนปรากฎการณ์ลานีญา จะส่งผลกระทบกับประเทศไทยอีกนานเท่าไหร่ คุณชวลิตได้ข้อมูลจาก ผลการวิเคราะห์ล่าสุด ของ International Research Institute for Climate and Society (IRI) ไว้ว่า “มีโอกาส 91% ที่สภาวะลานีญา (ฝนมาก น้ำมาก) ยังคงอยู่ต่อไป จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 และมีโอกาส 54% ที่สภาวะลานีญาจะมีผลต่อเนื่องไปถึงเดือนมีนาคม 2566”

และทั้งหมดนี้ ก็คือการอธิบายเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดภูเก็ต ในช่วงก่อนไฮซีซั่นฤดูการท่องเที่ยว ที่กำลังจะถึงมานี้ ซึ่งคุณชวลิตได้กล่าวสรุปว่า หลังจากวันที่ 18 ต.ค. สถานการณ์จะดีขึ้นตามลำดับ กระทั่งภูเก็ตกลับสู่สภาวะปกติในที่สุด

related