ชวลิต จันทรรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ คาด 16 ตุลาคม ปริมาณน้ำในลุ่มเจ้าพระยาจะถึงจุดพีคสุด ก่อนลดลง และสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ แนะ ต้องดูแลพนังกั้นน้ำและคันกั้นน้ำให้แข็งแกร่ง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันน้ำท่วม
จากสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยา ที่น่ากังวล และฝนยังคงตกหนักอย่างต่อเนื่อง รวมถึงระดับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มขึ้นสูง จนทะลักท่วมพื้นที่ในเขตจังหวัดนนทบุรี ส่งผลให้เกิดความวิตกว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะหนักหนายิ่งขึ้นไปอีกหรือไม่ ? จะพีคที่สุดในช่วงเวลาไหน ? และจะมีสัญญาณบวกให้อุ่นอกอุ่นใจได้เมื่อใด ?
SpringNews สัมภาษณ์คุณชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ อัปเดตสถานการณ์น้ำ จากที่ก่อนหน้านี้เมื่อประมาณ 1 เดือนที่แล้ว คุณชวลิตได้เตือนว่า เดือนตุลาคม จะเป็นช่วงที่หนักหนาสาหัสที่สุด สำหรับสถานการณ์น้ำในภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล
บทความที่น่าสนใจ
ช่วงที่ต้องระวัง น้ำทะเลหนุนสูง ถึงวันที่ 11 ตุลาคม
ในการสัมภาษณ์ครั้งก่อน (ผู้เชี่ยวชาญ เตือน กรุงเทพฯ เสี่ยงน้ำท่วม ช่วงตุลาคม 2565) คุณชวลิต กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 7 - 11 ตุลาคม เป็นช่วงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะน้ำทะเลจะหนุนสูง ส่งผลกระทบกับการระบายน้ำลงสู่อ่าวไทย ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยามีระดับน้ำที่สูงขึ้น SpringNews จึงเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนนทบุรี สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากน้ำทะเลหนุนสูงหรือไม่ ?
“ใช่เลยครับ น้ำทะเลหนุนสูงวันที่ 7 - 11 ตุลาคม และจะสูงที่สุดในวันที่ 11 ตุลาคม เพราะฉะนั้นช่วงนี้ก็ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องพนังกั้นน้ำ (สิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำขนาดใหญ่) และคันกั้นน้ำ (สิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำขนาดเล็กลงมา) ที่อยู่ 2 ข้างแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ ปากน้ำ (สมุทรปราการ)
“ตอนนี้ถ้าคันกั้นน้ำบริเวณไหนพัง ก็จะท่วมในบริเวณจำกัด ท่วมเฉพาะบริเวณนั้น เพราะว่าน้ำ (น้ำเหนือ) ไม่ได้ลงมาเป็นมวลใหญ่ เหมือนในปี 2554 ถ้าเทียบกันแล้ว ทุกอย่างในปี 2565 จะอยู่ในเกณฑ์ 2 ใน 3 ของปี 2554
“ในกรุงเทพฯ พนังกั้นน้ำ หรือคันกั้นน้ำจุดที่ฟันหลอ ก็ต้องเอากระสอบทรายไปเติม ช่วงปลายเดือนวันที่ 27 - 31 ตุลาคม น้ำทะเลจะหนุนสูงอีก แต่หลังวันที่ 16 ตุลาคมไป ระดับน้ำในลุ่มเจ้าพระยาก็ลดลงแล้ว ก็คงไม่มีผลกระทบมากนัก”
16 ตุลาคม จุดพีคของปริมาณน้ำในลุ่มเจ้าพระยา
สถานการณ์ในลุ่มเจ้าพระยา ที่มีน้ำเหนือระบายลงมาบวก รวมกับปริมาณน้ำในพื้นที่ที่มีมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากฝนที่ตกกระหน่ำลงมาอย่างหนัก โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ การบริหารจัดการในการระบายน้ำ โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่อ่าวไทย ให้กระทบกระเทือนประชาชนในภาคกลาง กทม. และปริมณฑลให้น้อยที่สุด โดยคุณชวลิตกล่าวว่า ช่วงพีคที่สุดของสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยา ก็คือวันที่ 16 ตุลาคม
“ปริมาณน้ำ ถ้าไล่เรียงลงมาตั้งแต่นครสวรรค์ ตอนนี้อยู่กับที่ประมาณ 3,100 ลบ.ม./ วินาที ส่วนปริมาณน้ำที่บางไทร ก่อนจะเข้ากรุงเทพ ฯ เราก็คาดว่า วันที่ 16 ตุลาคม ปริมาณน้ำจะสูงที่สุด อยู่ที่ประมาณ 3,200 ลบ.ม./ วินาที (ปริมาณน้ำที่น่ากังวล คือตั้งแต่ 3,000 ลบ.ม./ วินาที ขึ้นไป)
“หลังวันที่ 16 ตุลาคม เป็นต้น ปริมาณน้ำจะลดลง เพราะลมหนาวมาภาคเหนือตอนบนแล้ว ทำให้ฝนตกน้อยลง แต่ช่วงนี้สิ่งที่ต้องช่วยกันดูแลก็คือพนังและคันกั้นน้ำ ให้อยู่รอดอย่างแข็งแกร่งจนถึงปลายเดือนตุลาคม
“เพราะถึงแม้ว่า หลังวันที่ 16 ตุลาคม ปริมาณน้ำจะลดลง แต่มันไม่ใช่น้ำนิ่ง น้ำที่บางไทร ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ ยังคงขึ้นๆ ลงๆ อยู่ (แม้จะลดระดับลง) เป็นน้ำที่มีกำลังดัน อาจทำให้คันกั้นน้ำเสียหายได้ จึงต้องดูแลคันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรง จนถึงปลายเดือนตุลาคม
“ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ ช่วงอ่างทองถึงอยุธยา จุดบรรจบระหว่างแม่น้ำป่าสักกับแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณบ้านป้อม น้ำจะเจิ่งมาก รวมถึงคลองในพื้นที่บางหลวงโดด บางบาล ข้างแม่น้ำน้อย จะท่วมนานไปถึงกลางเดือนพฤศจิกายน เพราะเป็นที่ลุ่มต่ำมาก จึงระบายน้ำได้ช้า”
ระบายน้ำลงคลองระพีพัฒน์ เซฟบางไทร และสถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสาน
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์ว่า ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฝนจะตกน้อยลง ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม เป็นต้นไป (พยากรณ์ 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 10 - 16 ตุลาคม) สอดคล้องกับข้อมูลของคุณชวลิต ดังต่อไปนี้
“ส่วนเรื่องฝน ตอนนี้แนวลมหนาวปะทะกับแนวลมอุ่น ไทยเรายังอุ่นอยู่ แต่ว่าเมืองจีนเขาหนาวแล้ว โดยแนวลมหนาว (มวลอากาศเย็น) จากจีน ก็มาถึงเชียงรายแล้ว ทำให้ตอนนี้เชียงราย เลย หนองคาย อากาศเย็นสบาย อาจมีฟ้าแลบ ฟ้าคะนองเยอะหน่อย แต่ปริมาณที่เป็นน้ำฝนมีไม่มาก แล้วแนวลมหนาวก็จะแผ่ลงมาเรื่อยๆ”
โดยคุณชวลิตให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้จังหวัดที่อยู่ชายฝั่งทะเล มีฝนตกมากขึ้น ส่วนกรุงเทพฯ เอง หลังจากวันที่ 12 ตุลาคม แม้ฝนจะตกไม่มาก และหลังวันที่ 16 ตุลาคม ระดับปริมาณน้ำในลุ่มเจ้าพระยาจะเริ่มลดลง แต่ระบบระบายน้ำของ กทม. รองรับปริมาณน้ำฝนได้ไม่เกิน 60 มิลลิเมตร ดังนั้นถ้าช่วงไหนมีปริมาณน้ำฝนเกินกำลังระบบระบายน้ำ ก็อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในบางจุด ในบางระยะ จนกระทั่งถึงปลายเดือนตุลาคม
ส่วนกรณีที่กรมชลประทาน ระบายน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างผ่าน “คลองระพีพัฒน์” สู่ แม่น้ำนครนายก – บางปะกง เพื่อไปลงที่อ่าวไทย คุณชวลิตกล่าวว่า เป็นเรื่องของความจำเป็น เพราะถ้าระบายน้ำตามเส้นทางเดิมเป็นหลัก อาจจะส่งผลให้ปริมาณน้ำที่บางไทรมากเกินกว่า 3,200 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นอย่างมากให้กับประชาชนในจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสาน คุณเชาวลิตคาดว่า ในจังหวัดอุบลธานี ยโสธร ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ แม้ตอนนี้ระดับน้ำจะทรงตัว แต่ก็ยังก็ถือว่าอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งคาดว่าจะประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมจนถึงปลายเดือนตุลาคม ฉะนั้นทางการจึงต้องให้ความช่วยเหลือทั้งด้านอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือนร้อน โดยสุดท้ายนี้คุณเชาวลิตได้ย้ำว่า
“เครื่องสูบน้ำ ไม่ว่าจะเป็น กทม. หรือพื้นที่ลุ่มต่ำ ยังมีความจำเป็น ขอให้ซ่อมบำรุงให้ดี ฝนตกตรงไหนเกิน 60 มิลลิเมตร ถ้าจำเป็นก็ต้องสูบเฉพาะจุดเลย ต้องเร่งเข้าไปช่วยทันที โดยคันกั้นน้ำ กับเครื่องสูบน้ำ เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในช่วงเวลานี้ จึงต้องดูแลให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มที่ ให้อยู่รอดปลอดภัยไปถึงปลายเดือนตุลาคม”