SpringNews ได้สัมภาษณ์ คุณชวลิต จันทรรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ ในประเด็นการระบายน้ำเหนือ ลุ่มเจ้าพระยา สู่อ่าวไทย แล้วการเดินทางครั้งสุดท้ายของมวลน้ำเหนือจำนวนมหาศาลในฤดูฝนปีนี้ มีโอกาสจะก่อให้เกิดวิกฤตน้ำท่วม กทม. หรือไม่ ?
การเดินทางของน้ำเหนือ มายังลุ่มเจ้าพระยา โดยมวลน้ำหลักต้องผ่านใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อไปสู่อ่าวไทย ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทาง ในปีนี้ถือว่าเป็นการเดินทางที่ลุ้นระทึกยิ่งนัก เพราะด้วยปริมาณน้ำฝนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของปีที่ผ่านมา ทำให้การระบายน้ำจำนวนมหาศาล ต้องมีการวางแผนที่รัดกุม ที่ต้องคำนึงถึงกำลังความจุของเขื่อน การหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องให้กระทบกระเทือนกับประชาชนน้อยที่สุด รวมถึงโจทย์โหดๆ อย่างน้ำทะเลหนุนสูง ที่ส่งผลให้ชาวนนทบุรีที่อยู่ที่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ต้องประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมสูง
โดยก่อนหน้านี้ SpringNews ได้สัมภาษณ์ คุณชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ ถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งคุณชวลิตได้คาดการณ์ว่า ในวันที่ 16 ต.ค. ที่จะถึงนี้ ลุ่มเจ้าพระยา ช่วงบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา จะมีอัตราการไหลของน้ำ 3,200 ลบ.ม./ วินาที ซึ่งเป็นอัตราที่พีคสุด ก่อนที่สถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ เพราะปริมาณฝนจะน้อยลง รวมถึงสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงได้สิ้นสุดลงไปแล้ว
แต่ SpringNews ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ด้วยจำนวนมวลน้ำมหาศาล (น้ำเหนือ ลุ่มเจ้าพระยา) ที่อยู่เหนือกรุงเทพฯ ในเวลานี้ ที่มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่อ่าวไทย โดยต้องผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาใจกลาง กทม.
ประกอบกับประกาศล่าสุดของกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องดีเปรสชั่นกำลังแรง ที่เคลื่อนเข้าสู่เวียดนาม ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ ที่จะส่งผลให้ฝนตกมากขึ้นในไทย แล้วอย่างนี้จะส่งผลกระทบกับ กทม. มากน้อยเพียงใด ? โดยคุณชวลิตได้อธิบายและไขข้อสงสัยดังต่อไปนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง
SpringNews : หลังจาก “น้ำทะเลหนุนสูง” สิ้นสุดลง แต่ยังมีมวลน้ำมหาศาลในลุ่มเจ้าพระยา ที่อยู่เหนือกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการระบายไปลงที่อ่าวไทย โดยมวลน้ำส่วนใหญ่ต้องผ่านกรุงเทพฯ แล้วอย่างนี้จะมีโอกาสทำให้เกิดวิกฤตน้ำท่วมใน กทม. หรือไม่ครับ ?
“วันที่ 7 – 11 ต.ค. ที่ผ่านมา น้ำทะเลหนุนสูง โดยน้ำทะเลหนุนสูงที่สุดก็คือวันที่ 11 ต.ค. เพราะฉะนั้นจะเกิดเหตุการณ์น้ำเอ่ออยู่ตรงนั้นตรงนี้มากมาย ก็เพราะระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยไม่เอื้ออำนวยให้น้ำไหลลง ประกอบกับมีฝนตกเป็นจุดจุด แล้วจะสังเกตเห็นว่า เวลาฝนตกบริเวณใด ตรงนั้นก็จะระบายน้ำไม่ทัน ซึ่งปัญหาก็คือท่อระบายน้ำข้างถนนประสิทธิภาพมันแย่ลง สมมติท่อตันครึ่งหนึ่ง เราก็ต้องใช้เครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วย
“และสมมติระบายน้ำจากข้างถนนไปลงที่คลองได้ คลองนี้ถ้าไปต่อตรงกับแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน โดยไม่มีบานประตู น้ำก็ไหลไม่ลง เพราะระดับน้ำสูงหมดแล้ว แต่ก่อนนี้ทางฝั่งท่าจีนยังไม่สูง ก็จะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ ยกเว้นแถวบางปลาม้า ซึ่งใช้เป็นแก้มลิงที่รับน้ำมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม
“พอมาถึงตอนนี้บริเวณอื่นๆ ที่ไม่ได้เตรียมให้เป็นแก้มลิง น้ำก็จะระบายไม่ลง ไม่ว่าจะเป็นคลองเล็ก คลองน้อยต่างๆ ที่ระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ระบายไม่ลงเลยในช่วงวันที่ 7 – 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพราะน้ำในคลองมันเอ่อเต็ม ในบางพื้นที่มันจะสูงขึ้นบ้างจนถึงวันที่ 16 ต.ค. แต่ว่าส่วนใหญ่จะไม่สูงขึ้นแล้วครับ มันอยู่ตัวแล้ว น้ำที่ไหลมาจากสุโขทัย แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ที่กำลังมา แม้มาถึงยังไม่หมด แต่ว่าไม่ได้สูงกว่านี้แล้ว อย่างที่นครสวรรค์ทรงตัวแล้ว น้ำก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นแล้ว
“ถัดมาก็จะสิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ก็ประมาณวันที่ 16 ต.ค. บางไทรก็จะอยู่ตัว ทรงตัว แต่ที่น่าห่วงก็คือ ฝนที่ยังตกอยู่ ซึ่งความจริงลมหนาวมาแล้ว ฝนตกน้อยลงแล้ว แต่จะตกเป็นหย่อมๆ แต่ถ้าตกที่ไหน หากเกิน 100 มิลลิเมตร มันก็จะระบายไม่ทัน (ประสิทธิภาพการระบายน้ำในกรุงเทพฯ อยู่ที่ไม่เกิน 60 มิลลิเมตร )”
SpringNews : อัตราการไหลของน้ำ 3,200 ลบ.ม. ต่อวินาที ในวันที่ 16 ต.ค. ถือว่าเป็นระดับตัวเลขที่น่ากังวลหรือไม่ครับ ?
“ไม่น่ากังวลครับ (จากกรณีการสิ้นสุดของน้ำทะเลหนุนสูง และปริมาณฝนที่น้อยลง) พูดถึงแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนนะ ตอนนี้ประคองอยู่ได้ 3,200 ลบ.ม. ต่อวินาที (อัตราการไหลของน้ำ) แต่บางช่วงจะเพิ่มขึ้นบ้างเป็น 3,300 ลบ.ม. ต่อวินาที แต่ไม่ใช่ขึ้นอย่างฮวบฮาบ จนกระทั่งถึงวันที่ 16 ก็น่าจะ 3,300 ลบ.ม. ต่อวินาที ไม่เกินนี้นะครับ เพราะตอนนี้โดยภาพรวม มันอยู่ตัวดีแล้ว
ส่วนที่หลายคนอาจจะตกใจกันก็คือแม่น้ำท่าจีน เวลาน้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำท่าจีนจะส่งผลกระทบมากกว่าในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน เพราะพอขึ้นแล้วลงช้า ซึ่งเดือนพฤศจิกายน ทางท่าจีนจะหนักกว่าทางเจ้าพระยา”
ส่วนสถานการณ์ของแม่น้ำป่าสักตอนนี้ก็อยู่ตัวแล้ว ลดการระบายน้ำแล้ว จาก 900 ลบ.ม.ต่อวินาที เหลือ 800 ลบ.ม.ต่อวินาที มันลงไปเป็นขั้นบันได ส่วนหนึ่งก็เพราะได้มีการการระบายน้ำไปทางแปดริ้ว (แม่น้ำบางปะกง) แล้วใช้การปล่อยน้ำผ่านระบบคลอง ซึ่งการมีระบบคลองก็ดีอย่างนี้ จะเปิดให้ไปทางไหนก็ได้ พอเห็นว่าทางแปดริ้วน้ำยังไม่มาก ก็ปล่อยไปทางนั้น เพราะถ้าปล่อยลงมาคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตตรงๆ เลย เวลาฝนตกในกรุงเทพฯ ก็จะสูบออกไม่ได้อีก คนกรุงเทพฯ ก็จะเดือดร้อนอีก เพราะฉะนั้นเขาจึงขอผันออกไปทางแปดริ้วก่อน ก็ช่วยได้ กระทั่งตอนนี้น้ำในป่าสักเริ่มลดลงแล้ว
“สรุปแล้ว (สถานการณ์ลุ่มเจ้าพระยา) ในภาพรวมดีขึ้น ยกเว้นในพื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่ที่เป็นแอ่ง น้ำก็จะอยู่ยาวถึงปลายเดือน ในบางพื้นที่อาจถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งบริเวณไหนที่ท่วม ถ้าไม่ใช่พื้นที่ที่ติดกับแม่น้ำ ก็เป็นเพราะปัญหาฝนตกแล้วระบายไม่ทัน หลังจากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง (7 – 11 ต.ค.) สถานการณ์ก็จะดีขึ้น ฝนจะเริ่มน้อยลง เพราะลมหนาวมาแล้ว”
SpringNews : พายุดีเปรสชั่นในเวียดนาม จะส่งผลกระทบกับไทยอย่างไรบ้างครับ ?
“ในส่วนของดีเปรสชั่น มันก็จะเข้ามาในวันที่ 14 – 15 ต.ค. แต่ก็มาเจอลมหนาว ก็จะสลายตัวเร็ว เท่าที่ดูเบื้องต้นจะมีผลกระทบกับภาคอีสาน อุบลราชธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ส่วนทางภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่กระทบครับ ทางอีสานก็ไม่ได้รับผลกระทบในพื้นที่กว้าง มีฝนตกแต่ไม่มาก และในเฉพาะบางจุดเท่านั้นครับ”
SpringNews : ในความเห็นของอาจารย์ คิดว่าการบริหารจัดการน้ำเหนือในครั้งนี้ของกรมชลประทาน ถือว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดครับ ?
“ถ้าพูดถึงการระบายน้ำ (น้ำเหนือ ลุ่มเจ้าพระยา สู่อ่าวไทย) ก็ถูกต้องตามหลัก ตามจังหวะเลยครับ เราจะสังเกตเห็นว่า จะมีการระบายน้ำมากขึ้นเป็นช่วงๆ พอช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงเขาจะลดการระบายลง เพียงแต่พอมีฝนตกเพิ่มขึ้นทางภาคเหนือ ก็จำเป็นต้องระบายมากขึ้น
“พอระบายมากขึ้น มันก็มาปะทะกับน้ำทะเลหนุนสูง คือน้ำทะเลหนุนสูงเป็นช่วงๆ นะครับ จังหวะนี้มันเจอกันพอดี เพราะน้ำเหนือระบายลงมาตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค. แต่พอวันที่ 7 – 11 ต.ค. ก็เกิดน้ำทะเลหนุนสูง มันก็เลยมาปะทะกัน ซึ่งได้มีการแบ่งน้ำส่วนหนึ่งออกไปที่สุพรรณบุรีแล้ว ทำให้ท่าจีนมีน้ำเยอะ และส่วนหนึ่งก็แบ่งไปทางแปดริ้วด้วย
“และได้มีการเตรียมการเร่งเกี่ยวข้าวในพื้นที่แก้มลิง ประมาณ 1 ล้าน 1 แสนไร่ บางแก้มลิงก็เต็มแล้ว โดยเฉลี่ยตอนนี้เต็มไปแล้วครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งก็สำรองไว้ เวลาน้ำมาเยอะก็ผันเข้าไปไว้ในแก้มลิงก่อน อันนี้ก็ถือว่าทำได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ”
สุดท้ายนี้ อาจารย์ต้องการเน้นย้ำ หรือฝากเรื่องใดเป็นพิเศษครับ ?
“เรื่องคันกั้นน้ำครับ เพราะถึงแม้ว่า ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. น้ำจะทยอยลดลง แต่ว่าหลายพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยเฉพาะที่ติดแม่น้ำ ก็ต้องช่วยกันดูแลเรื่องคันกั้นน้ำที่มันแช่น้ำอยู่นานๆ คันกั้นน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำแช่น้ำมาเดือนกว่าแล้ว อีกกว่า 2 สัปดาห์ น้ำถึงจะลงหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนี้จนถึงวันที่ 16 ต.ค. น้ำยังเพิ่มขึ้นบ้าง ถึงแม้ขึ้นไม่มาก แต่ว่าตัวน้ำเวลาเพิ่มขึ้น แรงดันมันก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ฉะนั้นขอให้ช่วยกันตรวจตรา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาสาสมัครหรือทางเทศบาล ก็ต้องจัดคนไปคอยดูแลคันกั้นน้ำ
“ประเด็นที่ 2 ก็คือ ฝนยังตกเป็นหย่อมๆ แม้ไม่เยอะ เพราะว่ามีลมหนาวมาแล้ว ถ้าในตัวเมืองก็ต้องอาศัยเครื่องสูบน้ำ เพราะเดี๋ยวท่อระบายน้ำไม่ค่อยทัน เพราะทุกคนสร้างเป็นคอนกรีตกันหมด (สิ่งปลูกสร้างขวางทางไหลของน้ำ) แก้มลิงตามธรรมชาติก็ไม่มีแล้ว หรือมีน้อยมาก ทำให้การระบายน้ำแย่ลงกว่าเดิม จึงต้องใช้เครื่องสูบน้ำมากขึ้น เพราะฉะนั้นก็ต้องช่วยกันดูแลซ่อมเครื่องสูบน้ำ เพื่อเอาไว้ใช้จนกระทั่งถึงปลายเดือนตุลาคมนี้ให้ได้ครับ”