ทีมนักวิทยาศาสตร์ ค้นพบว่า น้ำทะเลจากมหาสมุทรอาร์กติกมีความเป็นกรดมากขึ้น สาเหตุมาจากการที่น้ำแข็งละลายส่งผลให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จับตัวกับน้ำทะเลจนมีค่าความเป็นกรดสูง
กลุ่มนักวิจัยนานาชาติ ซึ่งนำโดยนักวิทยาศาสตร์จีนจากสถาบันวิจัยทะเลและขั้วโลก (Polar and Marine Research Institute) แห่งมหาวิทยาลัยจี๋เหม่ย (Jimei University) เปิดเผยว่า มหาสมุทรอาร์กติก (Arctic Ocean) กำลังมีความเป็นกรดเร็วกว่ามหาสมุทรเปิดแห่งไหนในโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการละลายของน้ำแข็งในทะเล
โดยตีพิมพ์การศึกษาลงใน "ไซแอนซ์" (Science) วารสารวิทยาศาสตร์ ระบุว่า อัตราการเป็นกรดในมหาสมุทรอาร์กติกฝั่งตะวันตกนั้นเร็วกว่าในแอ่งมหาสมุทรอื่น ๆ มากกว่า 3-4 เท่า ซึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยฝีมือมนุษย์ ส่งผลให้ความเป็นกรดในน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นและแคลเซียมคาร์บอเนตอิ่มตัวลดลง อันเป็นกระบวนการที่เรียกว่า "ปรากฏการณ์ทะเลกรด" (Ocean Acidification)
นักวิจัย ได้ทำการสังเคราะห์ข้อมูลคาร์บอเนตในมหาสมุทรจากการล่องเรือวิจัย 47 ครั้งรอบมหาสมุทรอาร์กติกระหว่างปี 1994 - 2020 เพื่อตรวจสอบว่าวัฏจักรคาร์บอนของมหาสมุทรดังกล่าวนั้นตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
พบว่า น้ำแข็งเคยปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของน้ำทะเลนั้นได้สัมผัสกับบรรยากาศ ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการหดตัวของน้ำแข็งทะเล โดยภาวะดังกล่าวได้กระตุ้นการดูดซึมคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว นำไปสู่ความเป็นกรดของมหาสมุทร และความจุบัฟเฟอร์ (Buffer Capacity) ของมหาสมุทรลดต่ำลง
นอกจากนี้ ทีมวิจัย คาดว่า ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) จะลดลงอีก ณ ระดับละติจูดที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นระดับที่ยังคงเผชิญการหดตัวของน้ำแข็งทะเล พร้อมเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อรักษาระบบนิเวศของอาร์กติก
"ความเป็นกรดของมหาสมุทรสามารถส่งผลร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น หอยกาบ หอยแมลงภู่ และหอยสังข์ ซึ่งเป็นอาหารหลักสำหรับปลาแซลมอนและปลาเฮอริงอาร์กติก" ฉี ตี้ (Qi Di) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจี๋เหม่ย กล่าว