วิกฤตหลังจากเขื่อนแตกในยูเครนยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง พืชผล สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า ขยะ ทรัพย์สิน และชีวิตผู้คนได้ละลายหายไปกับมวลน้ำมหาศาล เขื่อนแตกให้ผลลัพธ์อะไรบ้าง
เกิดอะไรขึ้น?
การพังทลายของเขื่อน Nova Kakhovka ในเมือง Kherson Oblast ของยูเครน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ได้ปล่อยน้ำออกมาอย่างกระทันหันขนาด 18 ลูกบาศก์กิโลเมตร พุ่งเข้าใส่บ้านเรือน ทำให้น้ำท่วมหมู่บ้านและพื้นที่การเกษตรฉับพลันเป็นวงกว้าง
เขื่อน Nova Kakhovka ตั้งอยู่บนแม่น้ำ Dnipro ของยูเครน เมื่อเขื่อนแตกทำให้น้ำไหลลงมาตามแม่น้ำในปริมาณมหาศาล ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันกับชุมชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ทำผู้คนพลัดถิ่นเกือบ 1 ล้านคน
เหตุการณ์ครั้งนี้ ประธานาธิบดี โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ได้กล่าวหาเจาะจงไปยังรัสเซียที่กำลังมีข้อพิพาทกันอยู่ ว่ารัสเซียจงใจระเบิดเขื่อนของยูเครน
ซึ่งเซเลนสกีกล่าวว่า การกระทำของรัสเซียครั้งนี้เป็นการก่อวินาศกรรม เป็นอาชญากรรมสงคราม เป็นการก่อการร้าย และเป็นการทำลายล้างระบบนิเวศที่โหดร้าย จนสามารถใช้คำว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ก็ย่อมได้
รัสเซียได้ปฏิเสธคำกล่าวหาเหล่านี้ ว่าไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุระเบิดเขื่อน ในขณะเดียวกันยูเครนก็เตรียมเปิดฉากตอบโต้ และกล่าวว่า รัสเซียต้องรับผิดชอบ!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เขื่อนแตก ไม่ได้หมายความว่าน้ำในเขื่อนที่ไหลมาจะดื่มได้
แม้การแตกของเขื่อนในครั้งนี้ น้ำที่ไหลออกมาจะเป็นน้ำจืดที่ดื่มได้ แต่แม้จะมีน้ำดื่มอยู่รอบตัว ยังไงเสียก็ไม่สามารถดื่มได้ เพราะทุกอย่างที่ปนมากับน้ำเหล่านี้คือ สารพิษ
จากการให้สัมภาษณ์กับสื่อ Aljazeera ของ Pavlo Khrapun เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมจาก Project Hope ของ NGO เผยว่า น้ำท่วมที่เกิดจากเขื่อนแตกในยูเครนครั้งนี้ได้ทำการชะล้างปุ๋ยเคมีจากพื้นที่เพาะปลูก ชะล้างมลพิษจากก้นแม่น้ำ สุสานที่จมอยู่ใต้น้ำ น้ำมันเครื่องอย่างน้อย 150 ตัน ของเสียจากอุตสาหกรรม กองขยะและซากสัตว์อีกจำนวนมากมาพร้อมกับน้ำด้วย
ทีมงานของ Pavlo ทำงานเพื่อส่งน้ำดื่มสะอาดให้กับผู้คนท่ามกลางเสียงกระสุนปืนที่ดังเกือบตลอดเวลาและความเสี่ยงที่จะเจอทุ่นระเบิดต่อต้านรถถังที่อาจหลุดมาตามน้ำที่ท่วม ซึ่งตอนนี้องค์การสหประชาชนประเมินว่า มีคนกว่า 700,000 คนต้องการน้ำดื่มสะอาดเร่งด่วน
น้ำท่วมที่ปนเปื้อนสารเคมี ไม่เพียงทำให้คนและสัตว์ดื่มน้ำไม่ได้ แต่มันยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางน้ำได้ด้วย เช่น โรคอุจจาระร่วงและอหิวาตกโรค
ยูเนสโก ประกาศให้ ซุปบอร์ช borsch ของยูเครน เป็นมรดกวัฒนธรรมที่ถูกคุกคาม
เขื่อนพังทลาย สิ่งแวดล้อมก็พังทลาย
แต่ทั้งหมดที่กล่าวไป เป็นเพียงความเสียหายระยะสั้นเท่านั้น เขื่อนแตกยังสร้างผลกระทบระยะยาวด้วย เขื่อนแตกได้ทำลายล้างพันธุ์พืชและสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ และสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เขื่อน
องค์กร Ecoaction นำโดย Yevheniia Zasiadko หัวหน้าแผนก Climate Department เผยว่า แหล่งที่อยุ่อาศัยของสัตว์จำนวนหนึ่งที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศประเทศมีแนวโน้มที่จะถูกทำลายหรือก่อให้เกิดมลพิษอย่างร้ายแรง
และที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือปลายทางของน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษ คือ “ทะเลดำ” ซึ่งเป็นเขตสงวนชีวมณฑลของยูเนสโก ซึ่งในทะเลดำมีสิ่งมีชีวิตเปราะบางอีกมากมายอาศัยอยู่
พื้นที่ขนาดใหญ่ทางฝั่งใต้ของแม่น้ำ Dnipro เป็นที่อยู่ของต้นสนไครเมีย สนทั่วไป และกระถินขาว ซึ่งพวกมันไม่เหมาะที่จะสัมผัสกับความชื้นเป็นเวลานาน และพวกมันอาจตายลงเนื่องจากน้ำท่วมในครั้งนี้ และที่สำคัญมันได้พัดขยะของมนุษย์ไหลลงทะเลดำด้วย
ความเสียหายต่ออู่ข้าวอู่น้ำของโลก
UN ได้เผยว่า การทำลายล้างนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกธัญพืช หรือเสบียงอาหารของโลกด้วย เพราะกระทรวงนโยบายการเกษตรและอาหารของยูเครนประเมินว่า น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรกว่า 100 ตารางกิโลเมตร
และมีความเป็นไปได้มากที่เราจะสูญเสียผลผลิตทั้งหมดในปีนี้ ขึ้นอยุ่กับว่าน้ำท่วมจะอยู่กับยูเครนอีกนานแค่ไหน และขอบเขตของความเสียหายก็ขึ้นอยู่กับว่าความเร็วของน้ำจะลดลงเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม ความเสียหายยังคงดำเนินต่อไป พื้นที่ที่เคยโล่ง เต็มไปด้วยสุสานของสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับเหี่ยวเฉาเพราะน้ำท่วม และน้ำตาของผู้คนที่ยังไม่เคยหยุดไหลจากการสูญเสียคนอันเป็นที่รักไป ความขัดแย้งไม่เคยสร้างผลดี ไม่ว่าจะแลกเพื่อได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเพียงใดก็ตาม
ที่มาข้อมูล
Pic : Reuters