svasdssvasds

ไทยเตรียมรับมือฝนทิ้งช่วง แนะปลูกพืชอายุสั้น เพราะอาจแล้งนาน

ไทยเตรียมรับมือฝนทิ้งช่วง แนะปลูกพืชอายุสั้น เพราะอาจแล้งนาน

พื้นที่นอกเขตชลประทานโปรดเก็บน้ำรอได้เลยวันนี้! ไทยกำลังเข้าสู่ภาวะฝนทิ้งช่วง ฝนตกน้อยกว่าปกติ และอาจแล้งหนักเนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญกำลังเกิดขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปรากฎการณ์เอลนีโญที่เริ่มก่อตัวขึ้น ทำให้สภาพอากาศอาจแปรปรวนมากขึ้น โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับภัยแล้ง ดังนั้น เกษตรกรควรเตรียมตัวรับมือกับสภาพอากาศแปรปรวนของปีนี้และปีต่อไป

รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย ได้เผยกับทีมสปริงนิวส์ว่า ฝนทิ้งช่วงในประเทศไทย คือฝนไม่ได้ขาดเม็ด มีฝนอยู่ แต่ปริมาณฝนต่อวันมีน้อย ในปี 2566 นี้ ฝนทิ้งช่วงจะอยู่ประมาณสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายนไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม

ไทยเตรียมรับมือฝนทิ้งช่วง แนะปลูกพืชอายุสั้น เพราะอาจแล้งนาน แต่ปีนี้เราเผชิญหน้ากับปรากฎการณ์เอลนีโญ ก็อาจทำให้ฝนทิ้งช่วงเยอะขึ้น โดยอาจยาวนาถึงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกรกฎาคม และฝนที่ตกอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ตกได้เพราะอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม จะแรงขึ้นและอ่อนลงเป็นระยะ แต่ให้ฝนไม่มาก และฝนจะตกในช่วงบ่ายถึงค่ำเป็นส่วนใหญ่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาคใต้เกิดภาวะฝนทิ้งน้อย ส่วนใหญ่จะเกิดกับประเทศไทยตอนบน เหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก บริเวณเหล่านี้จะโดนเยอะ หรือไม่บริเวณที่อยู่ทางอ่าวไทยตอนบน อย่าง เพชรบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ อาจจะฝนน้อย พื้นที่ที่น่าห่วงที่สุดคือ พื้นที่ที่ใช้น้ำฝนนอกเขตชลประทาน พื้นที่เหล่านี้อาจขาดแคลนน้ำใช้ทางการเกษตรได้

สรุปแล้ว ปีนี้ชลประทานยังสามารถให้น้ำได้อย่างเพียงพอต่อภาคเกษตรกรรม แต่หากปรากฎการณ์เอลนีโญยังคงเกิดในปีต่อไปอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะแล้งหนักได้ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือการเริ่มบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ปีนี้ เก็บน้ำฝนในขณะที่มันยังตก และช่วยกันประหยัดน้ำ

การคาดการณ์ปรากฎการณ์เอลนีโญ ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยถึงมาตรการเตรียมรับมือปรากฎการณ์เอลนีโญว่า จากเดิมที่คาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 5 และมีโอกาสเกิดฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2566 แต่จากการติดตามผลพบว่า ความรุนแรงของเอลนีโญอาจทำให้เกิดฝนทิ้งช่วงยาวนานจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นและหลายจังหวัดอาจประสบปัญหาภัยแล้ง

ทางกรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอเตือนเกษตรกรที่จะเพาะปลูกพืชในช่วงเข้าสู่ฤดูฝนนี้ ให้วางแผนกักเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ในเวลาฝนทิ้งช่วง หรือปลูกพืชอายุสั้น/พืชผัก เช่น ผักบุ้ง ตำลึง กะหล่ำปลี คะน้า ซึ่งใช้ระยะเวลาเพาะปลูกประมาณ 25-40 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

เพื่อป้องกันผลผลิตเสียหาย กรณีขาดแคลนน้ำในช่วงดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำวิธีการดูแลรักษาพืชผักในช่วงนี้ ไว้ดังนี้

  1. การเตรียมเมล็ดพันธุ์ ควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่ติดมากับเมล็ด
  2. ยกแปลงให้สูงไม่ต่ำกว่า 30 เซ็นติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้รากพืชขาดอากาศเนื่องจากแช่ในน้ำนาน
  3. เพิ่มปริมาณปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก เพื่อเพิ่มช่องว่างในดิน
  4. ใส่ปูนขาว 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อลดความเป็นกรดของดิน
  5. รดกล้าผักด้วยน้ำปูนใส สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
  6. หมั่นกำจัดวัชพืช และ
  7. ใช้วัสดุคลุมแปลง ป้องกันความเสียหายของผิวหน้าดินและระบบรากพืชที่เกิดจากเม็ดฝนโดยมีข้อควรคำนึงคือในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง เกษตรกรจำเป็นต้องให้น้ำแก่พืชผักอย่างเพียงพอ สม่ำเสมอเพราะหากขาดน้ำจะทำให้พืชผักโดยเฉพาะพืชผักรับประทานผล ได้รับความเสียหายหรือผลแตกเมื่อฝนตกลงมาอีกครั้ง

ไทยเตรียมรับมือฝนทิ้งช่วง แนะปลูกพืชอายุสั้น เพราะอาจแล้งนาน ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำให้เกษตรกร โดยเฉพาะผู้ที่ทำการเพาะปลูกนอกเขตชลประทาน สร้างแหล่งกักเก็บสำรองน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วง เพื่อเตรียมพร้อมกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในช่วงที่จะมีฝนตกชุกหนาแน่นในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายนตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ไว้

โดยขอย้ำให้เกษตรกรติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง หรือสามารถขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ได้ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน

ที่มาข้อมูล

กรมส่งเสริมการเกษตร

สัมภาษณ์ รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย

related