svasdssvasds

จากเหตุ ไฟไหม้​เขาแหลม-​เขาชะพลู หมอล็อตแนะ วิธีปฐมพยาบาลสัตว์ป่าตามอาการ

จากเหตุ ไฟไหม้​เขาแหลม-​เขาชะพลู หมอล็อตแนะ วิธีปฐมพยาบาลสัตว์ป่าตามอาการ

จากเหตุการณ์ "ไฟไหม้​เขาแหลม-​เขาชะพลู" หมอล็อตแนะ วิธีปฐมพยาบาลสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากไฟ โอกาสรอดและเกิดความสูญเสียน้อยที่สุด คือการช่วยเหลือที่เร็วที่สุด

 จากเหตุการณ์ "ไฟไหม้​เขาแหลม-​เขาชะพลู" โดยเกิดไฟป่าลุกไหม้บริเวณเขาแหลม ตำบลเขาพระ อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก บริเวณยอดเขาซึ่งอยู่หลังโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ช่วงค่ำของวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน ช่วยกันควบคุมไฟป่าไม่ให้ลุกลามลงในเขตพื้นที่บ้านเรือนประชาชนและในพื้นที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โดยสามารถควบคุมเพลิงบริเวณ "เขาแหลม" ไว้ได้แล้วบางส่วนแต่ยังมีไฟป่าที่ยังไฟอยู่เป็นจุดๆ

 ล่าสุด นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ "หมอล็อต" หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน” ประเด็น การปฐมพยาบาลสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากไฟ โอกาสรอดและเกิดความสูญเสียน้อยที่สุด คือการช่วยเหลือที่เร็วที่สุด ไม่ว่าใครก็ตาม ดังนั้น ทุกคนเป็นผู้ช่วยเหลือได้ โดยระบุว่า 

เราสามารถช่วยได้ ช่วยกันแชร์การปฐมพยาบาลสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากไฟ” ในพื้นที่ตอนนี้ ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 นครนายก พร้อมในการช่วยเหลือสัตว์ป่า ทั้งจากการแจ้งทางสายด่วน 1362 และ การแจ้งโดยตรงหรือนำมาส่งที่ศูนย์

อย่างไรก็ตาม โอกาสรอดและเกิดความสูญเสียน้อยที่สุด คือการช่วยเหลือที่เร็วที่สุด ไม่ว่าใครก็ตาม ดังนั้น ทุกคนเป็นผู้ช่วยเหลือได้ ช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลนี้นะครับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• สถานการณ์ล่าสุดไฟป่าลุกลาม"เขาแหลม" ฝั่งโรงเรียนนายร้อย จปร. นครนายก

• ดอยช้างลุกเป็นไฟ! เชียงรายสั่ง ปิดน้ำตกขุนกรณ์ ผลพวงหมอกควันและไฟป่า

• 89 อุทยานฯ-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ประกาศปิด คุมพื้นที่ไฟป่า สัตว์หนีตาย

 เมื่อไฟป่าเกิดขึ้น สัตว์ป่าที่ถือว่าเป็นเจ้าบ้านนั้น จะตกใจ และใช้สัญชาตญาณการเอาตัวรอดด้วยการหนีที่ขาดสติ สิ่งที่ตามมานั้นอาจไม่ได้เกิดจากไฟโดยตรง อุบัติเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่หนีเอาตัวรอดนั้น ไม่ว่าจะเป็น แผลไฟไหม้ ร่างกายขาดน้ำ สิ่งแปลกปลอมเข้าตา ท้องอืดในสัตว์กีบ เลือดออกจากบาดแผล และกระดูกหัก คือสาเหตุที่ทำให้สัตว์ป่าบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ และเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ป่าออกนอกพื้นที่เข้ามาในพื้นที่ชุมชน ซึ่งง่ายต่อการล่า

 เพราะฉะนั้น สถานการณ์ทุกวันนี้มีไฟป่าเกิดขึ้นหลายที่จะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐ เอกชน ประชาชน และอาสาสมัครได้มุ่งมั่นทุ่มเทและเสี่ยงชีวิตในการรักษาบ้านของสัตว์ป่าและทรัพย์สินของเค้า แต่ความเสียหายบางอย่างของสัตว์ป่า ในฐานะเจ้าของป่า ซึ่งมีศักยภาพในการช่วยเหลือตัวเองและเอาตัวรอดน้อยมากๆ เรามาเพิ่มศักยภาพให้กับ”คนสู้ไฟ”ในการปฐมพยาบาลสัตว์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บตามอาการต่างๆก่อนถึงมือสัตวแพทย์ ขอย้ำนะครับ ก่อนถึงมือสัตวแพทย์ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ผมใช้อบรมเจ้าหน้าที่ ทหารและตำรวจตระเวนชายแดน เอาแบบเข้าใจง่ายๆ และทุกคนทำได้

แผลไฟไหม้

• แผลไฟไหม้ จะทำให้ผิวหนังลอกหลุด สิ่งที่ตามมาคือสัตว์จะเป็นแผลบริเวณกว้าง เสียน้ำได้ง่าย และติดเชื้อเข้าที่แผลได้ง่าย

• ให้ล้างแผลด้วยเบตาดีนเจือจาง ใช้ผ้าสะอาดเช็ดเศษเนื้อเยื่อและเศษหนองออก แล้วพันผ้าพันแผลที่ชุ่มน้ำเกลือพันให้มิดชิด พร้อมยาปฏิชีวนะชนิดครีม บางคนอาจใช้ใบตองสะอาดพันแผลด้านในสุด ก็จะช่วยไม่ให้แผลติดผ้า

ขาดน้ำ

• สัตว์ที่โทรมมาก ไม่สามารถหาน้ำกินได้หลายวันอาจขาดน้ำ มีลักษณะตาลึกโบ๋ จมลงไปในเบ้าตา ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น เมื่อดึงขึ้นมาแล้ว ไม่ดีดตัวกลับ ตัวเย็น หัวใจเต้นรัวแต่เบา

• ให้คะเนน้ำหนัก ปริมาณน้ำเกลือที่ให้จะเท่ากับ หนึ่งในสิบของน้ำหนักตัว ต่อวัน เช่นสัตว์หนัก 50 กิโลกรัม ควรให้น้ำเกลือไม่ต่ำกว่าวันละ 5 ลิตร แล้วค่อยๆกรอกน้ำเกลือลงในกระเพาะอาจใช้สายยางสอดเข้าไปในกระเพาะ ใช้ไม้ค้ำปากไม่ให้งับสายยาง ให้มองดูว่าสายยางเข้าไปในหลอดอาหาร ไม่ได้เข้าไปในหลอดลม หลอดลมจะมีช่องที่เปิด ปิดเมื่อหายใจ ให้น้ำเกลือทีละน้อย แต่บ่อยๆ

• น้ำเกลือ ใช้ เกลือแกงหนึ่งช้อนโต๊ะ ชงกับน้ำ 1 ลิตร หรือใช้น้ำเกลือสำหรับนักกีฬาก็ได้ อย่าลืมตั้งน้ำสะอาดให้สัตว์กินได้ตามต้องการ

• สภาพที่บ่งว่าสัตว์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คือสัตว์ถ่ายปัสสาวะได้ เบ้าตาเต็ม

สิ่งแปลกปลอมเข้าตา

• ใช้น้ำสะอาด ล้าง ออก หากเป็นของแหลมทิ่มแทงให้เอาออก หากเลือดออกให้หลับตาสัตว์ลงแล้วกดแรงพอประมาณสักครู่

ท้องอืด ในสัตว์กีบ

• ท้องอืด จะมีอาการท้องแข็ง หายใจลำบาก ถ้าท้องใหญ่มากจะกดการหายใจ จนตายได้

• อาจเกิดจากการอุดตัน การกินอาหารผิดแปลกไปจนเกิดลมในช่องท้องมาก ล้มนอนนาน เกินไป หรือ ตื่นเต้นตอนถูกวิ่งไล่จับ ให้หาสายยางสวนเข้าไปทางหลอดอาหารเพื่อเป็นทางระบายลมออกมา

• เมื่อช่วยระบายลมออกมาแล้ว ท้องจะไม่แข็ง เมื่อกดแล้วจะนิ่มยุบเข้าไปได้

ภาวะเลือดออกจากบาดแผล

• สังเกตดูว่าชนิดของเลือดออก เป็นเลือดที่ออกจากเส้นเลือด หรือจากบาดแผลเฉยๆ ถ้าเลือดออกจากเส้นเลือดแดงจะมีลักษณะพุ่งเป็นจังหวะชีพจร ให้รีบรัดเหนือแผล พร้อมทั้งกดปากแผล พันผ้าให้มีแรงกดที่ปากแผล สักพักเลือดจะหยุดได้เอง การรัดขันชะเนาะอย่าให้แน่นมาก และควรคลายทุกๆ 10 นาที

• หากเป็นการที่เลือดไหลจากบาดแผลธรรมดา อาจไม่ต้องรัดเหนือแผล เพียงแค่กดปากแผลและหาผ้าพันก็พอแล้ว

• ทั้งสองกรณี อาจช่วยให้เลือดหยุดเร็วขึ้นโดยการดามไม่ให้ปากแผลเคลื่อนไหวได้

• สัตว์ที่เสียเลือดมาก จะดูได้จากเหงือกที่ซีดมาก เมื่อกดเหงือกแล้วปล่อย เหงือกจะคืนกลับมาเป็นสีชมพูได้ โดยใช้เวลานานกว่าสองวินาที อาจต้องเสริมน้ำและเกลือแร่ให้ สิ่งที่บอกว่าสัตว์เริ่มมีน้ำในร่างกายเพียงพอได้แก่สัตว์เริ่มถ่ายปัสสาวะได้

• ถ้าทำได้ ให้ใช้กรรไกรตัดขน หรือใช้มีดโกนโกนขน ไม่ให้ขนเข้าแผล จะทำให้แผลหายช้า

กระดูกหัก

• สิ่งที่บอกว่าสัตว์กระดูกหัก คือ 1) สัตว์มีความเจ็บปวดมาก บริเวณที่หัก 2) มีเสียงกระดูกที่หักงัดกันดังกุกกัก 3) ขาบิดเบี้ยวผิดรูปจากรูปร่างปกติ 4) สัตว์ไม่ลงน้ำหนักในขานั้นเวลาเดิน

• ชนิดของกระดูกหัก หักแบบมีแผลเปิด หักแบบไม่มีแผลเปิด กระดูกร้าวแบบไม้สดแตก ข้อหลุด

• ถ้าหักแบบมีแผลเปิด ให้จับอยู่ในท่าปกติมากที่สุด อาจดึงยืดออกเล็กน้อย ระวังอย่าให้ปลายกระดูกที่แหลมคมบาดเส้นเลือด เส้นประสาท กล้ามเนื้อ แล้ว ห้ามเลือด พันผ้ารองหนึ่งชั้น แล้วพันดามด้วยไม้คร่อม สองข้อที่กระดูกชิ้นนั้นหัก

• ถ้าหักแบบไม่มีแผลเปิด กระดูกร้าว หรือข้อหลุด ให้พยายามดึงออกให้ยืด แล้วพันผ้า ดามเหมือนข้างต้น

อย่าคิดนะครับว่า การล้มหายตายจากของสัตว์ป่าจำนวนหนึ่ง ในพื้นที่หนึ่ง ไม่เป็นไรหรอก ที่อื่นก็ยังมีเหลือ สิ่งสำคัญของการอยู่รอดของสัตว์ป่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหลือจำนวนเท่าไหร่ เราต้องจะมองให้ลึกไปถึงความเข้มแข็งและความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ต้องหายไปด้วย จากการตายของสัตว์ป่าหนึ่งตัว นี่แหละคือความสูญเสียที่นำกลับมาไม่ได้

นอกจากขวัญและกำลังใจของ คนสู้ไฟแล้ว อาวุธทางปัญญานี่แหละ ที่จะช่วยให้ทุกชีวิตผ่านพ้นเหตุการณ์อันเลวร้าย และอยู่รอดไปด้วยกัน

ที่มา : เฟซบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

related