กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยฤดูร้อนปีนี้ กำลังจะเริ่มต้นช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยจะมี ฝนน้อยลง อากาศร้อนอบอ้าวมากขึ้นอาจแตะ 45 องศาฯ ได้บางวันช่วงเดือนเม.ย. อุณหภูมิทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 40-43 องศาฯ ในอดีตเดือนกุมภาพันธ์เคยร้อนจัดทะลุ 40 องศาฯ มาแล้วถึง 4 ครั้ง
อีกไม่ถึงเดือน ไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งในปีนี้ไทยเข้าสู่ฤดูร้อนช้ากว่าปกติ จากปกติกลางเดือนกุมภาพันธ์ เป็นปลายเดือนกุมภาพันธ์ แทน
โดย สถิติอากาศร้อนจัดในเดือนกุมภาพันธ์ ในอดีตที่ผ่านมา พบว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2494 – 2565 มีอากาศร้อนจัดในเดือนนี้ทะลุ 40 องศาเซลเซียล มาแล้ว 4 ครั้ง
- ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ก.พ.2548 ร้อนจัดถึง 41.2 องศาเซลเซียส ที่ จ.ตาก
- ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2504 ร้อนจัด 41 องศาเซลเซียส ที่ จ.ขอนแก่น
- ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2522 ร้อนจัด 41 องศาเซลเซียส ที่ จ.บุรีรัมย์
- ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2541 ร้อนจัด 40.8 องศาเซลเซียส ที่ จ.กาญจนบุรี
ว่าที่ร้อยตรีธนสิทธิ์ เอี่ยมอนันต์ชัย รองอธิบดี กรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายวิชาการ ในฐานะโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ฤดูร้อนปีนี้ ฤดูร้อน 2566 อาจจะร้อนจัดถึง 45 องศาเซลเซียส ได้ในบางวันของเดือนเมษายนแต่อุณหภูมิเฉลี่ยฤดูร้อนปีนี้อยู่ที่ 40-43 องศา ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สาเหตุที่ฤดูร้อนปีนี้ ฤดูร้อน 2566 ร้อนมากขึ้น เนื่องจากปริมาณฝนในช่วงฤดูร้อนมีค่าปกติ ฝนไม่มาก ทำให้อากาศร้อนอบอ้าวมากขึ้น
ทั้งนี้ คาดว่า ประเทศไทย จะเข้าสู่ฤดูร้อนในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกวันที่จะประกาศเข้าฤดูร้อนได้อย่างเป็นทางการ โดยต้องรอสภาพอากาศหากมีอากาศร้อนเกิน 35 องศาฯ ในหลายพื้นที่ติดต่อกัน ถึงจะถือว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว
สำหรับฤดูร้อนปีนี้ จากการคาดการณ์นั้น จะไปสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2566 โดยขอให้ประชาชนในประเทศระมัดระวังพายุฤดูร้อน
โดยช่วงปลายกุมภาพันธ์ – กลางมีนาคม อากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวัน ภาคเหนือและอีสานยังคงมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า
กลางมีนาคม – กลางเมษายน อากาศร้อนอบอ้าวเป็นระยะๆ อากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ในบางช่วง เกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่
กลางเมษายน – กลางพฤษภาคม อากาศแปรปรวน มีอากาศร้อนจัดบางแห่งในบางช่วง มีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่
ขณะที่ภาคใต้ จะมีฝนเพิ่มขึ้น ตกต่อเนื่อง และตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ทะเลอันดามันคลื่นสูง 2-3 เมตร และอาจมีการก่อตัวของพายุไซโคลน โดยจะเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นไป