ทีมนักวิทยาศาสตร์ ออสเตรเลีย ออกค้นหา ‘น้ำแข็งโบราณล้านปี’ ในแอนตาร์กติกา เพื่อวิเคราะห์เรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือ Climate Change
คณะนักวิจัยทวีปแอนตาร์กติกของออสเตรเลีย เดินทางปฏิบัติภารกิจค้นหาน้ำแข็งอายุนับล้านปี เพื่อพยายามทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ให้ดียิ่งขึ้น
สำนักข่าวต่างประเทศ ระบุว่า ทีม วิจัยทวีปแอนตาร์กติกของออสเตรเลีย นำขบวนรถแทรกเตอร์ 5 คัน วิ่งออกจากสถานีวิจัยเคซีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามสถานีถาวรของแผนกแอนตาร์กติกออสเตรเลีย เมื่อช่วงปลาบปีที่ผ่านมา เพื่อการเดินทางไกล 1,200 กิโลเมตร มุ่งหน้าสู่ลิตเติล โดม ซี (Little Dome C) ที่หนาวเย็นของทวีปแอนตาร์กติกา
โดยคณะนักสำรวจ 10 คน มีเป้าหมายเดินทางตามแผนให้ได้มากที่สุดในช่วงฤดูร้อนของทวีปแอนตาร์กติกาในปัจจุบัน หากขบวนรถค้นหาน้ำแข็งอายุนับล้านปีขบวนนี้ ซึ่งแล่นด้วยความเร็วสูงสุด 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถไปถึงลิตเติล โดม ซี ณ ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 3,230 เมตร ก็จะจัดตั้งค่ายพักแรมสำหรับการขุดเจาะภายในเวลา 1 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คณะนักวิทยาศาสตร์ คณะนักวิจัยทวีปแอนตาร์กติกของออสเตรเลีย จะขุดเจาะน้ำแข็งลึก 2.8 กิโลเมตร เพื่อนำเอาน้ำแข็งที่มีอายุมากถึง 1 ล้านปี โดยนำฟองอากาศและสารเคมีโบราณที่กักเก็บไว้มาใช้ปรับปรุงความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสร้างแบบจำลองสถานการณ์ในอนาคต
โดย ทันยา พลิเบอร์เสก (Tanya Plibersek) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำ ของออสเตรเลีย กล่าวว่าภารกิจนี้ เป็นโครงการสำรวจขั้วโลกที่ต้องใช้ความพยายามมากที่สุดในรอบ 20 ปีของออสเตรเลีย โดยความพยายามของคณะนักวิจัยและการเดินทางของพวกเขาจะช่วยให้ออสเตรเลียขุดเจาะและนำแกนน้ำแข็งกลับมาดำเนินการวิจัย ซึ่งหากสำเร็จก็จะถือเป็นแกนน้ำแข็งที่เก่าแก่มากที่สุดเท่าที่เคยเก็บมาได้
คณะนักวิจัยฯ ประกอบด้วยหัวหน้าภาคสนาม นักธารน้ำแข็ง แพทย์ ช่างกล และวิศวกร โดยพวกเขาเดินทางได้ไกล 37 กิโลเมตร เมื่อนับถึงวันที่ 25 ธ.ค. ก่อนจะพักผ่อนและรับประทานอาหารเย็นวันคริสต์มาส ซึ่งประกอบด้วยไก่งวงอบและพุดดิงที่ปรุงในครัวการสำรวจเคลื่อนที่
รายงานความคืบหน้าระบุว่าขบวนรถแทรกเตอร์ฯ เดินทางไกลมากกว่า 400 กิโลเมตร เมื่อนับถึงวันพฤหัสบดี (29 ธ.ค.) และเหลือระยะทางอีกกว่า 700 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ในอดีต เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เคยมี ทีมนักวิทยาศาสตร์ของเยอรมนี ผู้ทำการขุดเจาะพื้นทะเลที่นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของทวีปแอนตาร์กติกา และได้ ค้นพบหลักฐานเป็นดินตะกอนที่มีอายุเก่าแก่และซากฟอสซิลพืชจำนวนมาก ซึ่งชี้ว่าบริเวณใกล้ผืนน้ำแข็งเย็นเยียบดังกล่าว เคยเป็นป่าฝนที่มีต้นไม้ขึ้นหนาทึบในสภาพอากาศอบอุ่น ระหว่างยุคครีเทเชียสที่ไดโนเสาร์ยังคงมีชีวิตอยู่เมื่อราว 90 ล้านปีก่อน
โดย พื้นที่ ทวีปแอนตาร์กติกา น่าจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยของทั้งปีที่ราว 12-13 องศาเซลเซียส แต่ในฤดูร้อนอาจมีอุณหภูมิสูงกว่า 20 องศาเซลเซียสขึ้นไป
ทวีปแอนตาร์กติกา คือทวีปที่อยู่ทางทิศใต้สุดของโลก ในเขตขั้วโลกใต้ ล้อมรอบด้วยมหาสมุทร มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 รองจากทวีปเอเชีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ และอเมริกา ซึ่งร้อยละ 98% ของแอนตาร์กติกาถูกปกคลุมด้วยแผ่นน้ำแข็ง เรียกว่า พืดน้ำแข็ง มากไปกว่านั้น น้ำแข็งในทวีปนี้ยังคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90% ของน้ำแข็งทั้งหมดบนโลก ทวีปแอนตาร์กติกาเป็นทวีปเดียวที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่แบบถาวร แต่มีสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่สามารถทนกับความหนาวเหน็บนี้ได้ เช่น นกเพนกวิน แมวน้ำ ปลาวาฬ และสาหร่าย เป็นต้น