“สปริงนิวส์ และ ไทยนิวส์” ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และเครือเนชั่น จัดเสวนา VIRTUAL FORUM: BCG Economy Drive for Thailand Sustainability เศรษฐกิจ BCG ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2565 เพื่อนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจผ่าน BCG Economy Model หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิริวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG ความจริงแล้ว เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
ส่วนไทยได้นำ BCG มาเสริมกันเนื่องจากความหลากหลายด้านเกษตร อาหาร เป็นจุดแข็งของไทยเราส่งออกอาหารเป็นลำดับที่ 12 ของโลก ในปี 2565 และมีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น 1 ใน 10 ของผู้ผลิตอาหารมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก
ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เลขานุการคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญ ของเศรษฐกิจ BCG คือการสร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานของความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพ และ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วยการใช้กลไก จตุภาคี เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนา เพิ่มมูลค่า GDP ให้ได้ 1 ล้านล้านบาท ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน และลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 4
สำหรับการเสวนาหัวข้อ "BCG Economy Model สร้างเศรษฐกิจไทย" ได้มีการนำเสนอทิศทางการขับเคลื่อน BCG จากประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG แต่ละสาขา
น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง ประธานคณะอนุกรรมการฯ สาขาการเกษตร กล่าวว่า การตั้งเป้าหมายภาคเกษตรไว้ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการเข้าไปแก้ไขปัญหา โดยเสนอให้ตั้งคณะกรรมการจัดการแบบ Area Base เริ่มต้นจากพื้นที่ นำร่อง 5 จังหวัด ราชบุรี ลำปาง ขอนแก่น จันทบุรีและพัทลุง
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานคณะอนุกรรมการฯ สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน กล่าวว่า BCG ลดการใช้ทรัพยากร ลดปัญหามลพิษ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างมูลค่ากลับมาให้เกิดเศรษฐกิจใหม่โดย มีเป้าหมายชัดเจนเรื่องการลดใช้ทรัพยากรลง 1ใน 4 ส่วน ลดการใช้ก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตันและเพิ่มจีดีพี 1%
ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ สาขาพัฒนาคนและบุคลากร กล่าวว่า สิ่งที่เราขาด คนที่มีความรู้ใหม่ เช่น ความรู้ที่เกี่ยวกับการนำทรัพยากรกลับมาใช้ซ้ำ หรือ หมุนเวียน โดยเป็นเรื่องที่คนไทยต้องร่วมมือกันอย่าปล่อยให่เป็นเรื่องของรัฐบาล คณะกรรมการหรือฝ่ายมหาวิทยาลัย
กลินท์ สารสิน ประธานคณะอนุกรรมการฯ สาขาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า การใช้ Happy model สร้างการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและดูแลท้องถิ่น ซึ่งในอดีตเน้นปริมาณนักท่องเที่ยวและเน้นเมืองน่าเที่ยว แต่ปัจจุบันต้องเปลี่ยนเป็นเมืองน่าอยู่ จากนั้น คนก็อยากอยู่ ผู้ประกอบการก็อยากอยู่ นักท่องเที่ยวก็อยากอยู่
นอกจากนี้มีประธานอนุกรรมการสาขาต่างๆ ร่วมเสวนาทั้ง เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานคณะอนุกรรมการฯ สาขาพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ รวมถึง อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานคณะอนุกรรมการฯ สาขานวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวก และ ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานคณะอนุกรรมการฯ สาขาอาหาร
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ สาขาเครื่องมือแพทย์ และ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานคณะอนุกรรมการฯ สาขายาและวัคซีน
ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานคณะอนุกรรมการฯ สาขาความหลากหลายทางชีวภาพ และ นพดล เภรีฤกษ์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ สาขากฎหมาย
ขณะที่ช่วงสุดท้ายได้เชิญเหล่าผู้ดำเนินธุรกิจที่กำลังทำธุรกิจในรูปแบบของ BCG ในหัวข้อ "BCG พลิกโอกาสธุรกิจยั่งยืน" ซึ่งจะเป็นทางรอดให้กับภาคธุรกิจไทยที่เผชิญความท้าทายใหม่
ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบและก่อตั้ง บริษัท นิว อาไรวา จำกัด กล่าวว่า เป็นเจ้าของสินค้าผลิตภัณฑ์ของใช้ที่ผลิตจากพลาสติกนำมารีไซเคิล ภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า Qualy ที่มีการออกแบบรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้น่ารักและน่าใช้มากยิ่งขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การดำเนินธุรกิจของ Qualy ได้นำกระบวนการของการเพิ่มมูลค่าของสิ่งของมาใช้สอดคล้องกับ Circular Economy ที่นำสิ่งของหรือขยะที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว โดยเฉพาะจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Used)
ภาวิณี แว่วเสียงสังข์ กรรมการบริหาร บริษัท ไบโอฟอร์ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ทำธุรกิจเกี่ยวกับการออกแบบภาชนะที่ทำจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้เร็วกว่าพลาสติกทั่วไป ซึ่งผลิตภัณฑ์ได้รับการรองรับจากนานาชาติแล้ว ในด้านของการตอบรับการใช้งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยด้วย
สำหรับพลาสติกดังกล่าวสามารถย่อยสลายได้ เพราะเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติ นอกจากสินค้าจะเป็นมิตรต่อโลกแล้วยังได้ส่งต่อการเรียนรู้เรื่องนวัตกรรมไปยังเยาวชน และวัสดุภาชนะของคุณภาวินีจะตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาเรื่องการใช้งานพลาสติกในระยะเวลาสั้นได้
จิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด กล่าวว่า ทำโรงงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว ทำต่อจากคุณพ่อ ตามโมเดล BCG ไม้ที่ทางโรงงานนำมาใช้จะเป็นไม้สัก จึงเกิดความเสียดาย เพราะเวลาทำเฟอร์นิเจอร์ ตัดไม้ มันจะเหลือเศษไม้อยู่ จึงนำเศษไม้เหล่านั้นมาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่และเพิ่มการดีไซด์ที่น่าสนใจเข้าไป ดังนั้นเพื่อให้เกิดคุณค่า คุณต้องรู้ก่อนว่า ของที่เหลืออยู่คุณจะเอาไปทำอะไรให้บ้าง เพื่อเกิดประโยชน์การใช้งานสูงสุด
กรรจิต นาถไตรภพ Founder & CEO บริษัท วาสุ45 จำกัด กล่าวว่า ได้ต่อยอดมาจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การนำของเหลือจากคนอื่น มาเพิ่มมูลค่าก็สามารถทำได้ หรือถ้าซื้อไปแล้ว และมีการรื้อก็สามารถส่งเศษเดิมกลับมาได้ หรือจะเอาไปฝังดินก็ได้ มันก็จะกลายเป็นดินภายใน 6-12 เดือน
และที่สำคัญคือสินค้าต้องทนทานใช้งานได้นาน เราก็ต้องคำนึงถึงการใช้งานของลูกค้าด้วย และนอกจากแผ่นตกแต่งนี้จะไว้ใช้ตกแต่งแล้ว ยังสามารถเป็นผนังกั้นความร้อนของผนังอาคารแม้จะก่อสร้างเสร็จแล้ว ก็สามารถติดตั้งทีหลังได้ และสามารถกันเสียงสะท้อนหรือเก็บเสียงได้ประมาณหนึ่งเลย ไม่คิดเลยว่าวัสดุจากธรรมชาติจะสร้างประโยชน์ได้มากขนาดนี้ แถมยังสร้าง Zero Waste หรือไม่มีขยะเหลือจากงานนี้ด้วย
พรทิพย์ อัษฎาธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพลาเพลิน บูติค รีสอร์ท จำกัด กล่าวว่า ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในจังหวัดบุรีรัมภ์ มีโรงแรม กิจกรรมมากมาย ศูนย์ซื้อขายสินค้าชุมชนและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเยาวชนด้วย แนวคิดริเริ่มมาจากการจับมือของเพลาเพลินกับสหรัฐฯอยู่ก่อนแล้วในด้านของการศึกษา แต่พอมามองไทย เด็กๆ ต้องนั่งเรียนอยู่ในห้องแคบๆ เลยอยากเปิดพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้ออกมาเรียนรู้นอกห้องบ้าง
ดังนั้น เพลาเพลินก็มาจากคำว่า Play & Ploen ซึ่งสถานที่นี้จะดึงดูดให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งอาชีพให้กับผู้คนในชุมชนมาทำงานร่วมกัน เพราะคนเดียวคงบริหารไม่ไหว ที่นี่มีร้านค้าชุมชน ช่วงเทศกาลจะมีคนมาเที่ยวเยอะมาก เพราะได้รวบรวมของของในแต่ละท้องที่ ที่ไกลๆ มารวมไว้ที่นี่แล้ว ที่นี่จึงเป็นศูนย์ซื้อของฝากและศูนย์อาชีพด้วย
ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bcg.in.th และ Facebook: BCG in Thailand