นักวิทยาศาสตร์จีน พบว่ามลพิษจากโอโซนสร้างความเสียหายต่อพืชพรรณในวงกว้าง และเรื่องนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องกังวล เพราะนั่นหมายความว่า ไทยอาจจะโดนผลกระทบในประเด็นนี้เช่นกัน เพราะ โอโซนนั้นเป็นก๊าซที่กระจายในชั้นบรรยากาศอยู่ทั่วโลก
วารสารแนวโน้มทางนิเวศวิทยาและวิวัฒนาการ (Trends in Ecology & Evolution) เผยแพร่ผลการศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งพบว่ามลพิษจากโอโซนสร้างความเสียหายต่อพืชพรรณในวงกว้าง
โอโซนก่อตัวตามธรรมชาติและช่วยปกป้องโลกจากแสงอันตรายในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ ทว่ามันอาจแปรเปลี่ยนเป็นมลพิษในพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ โดยก่อตัวจากปฏิกิริยาของสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายและไนโตรเจนออกไซด์ภายใต้แสงแดด
“โอโซนสามารถเร่งและยืดเวลาการออกดอก ซึ่งส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างพืชและสัตว์ผสมเกสร” เอฟจีนิออส อกาโทคลีอัส ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสารสนเทศศาสตร์และเทคโนโลยีหนานจิงกล่าว พร้อมเสริมว่ามลพิษจากโอโซนยังเปลี่ยนสีดอกไม้ และรบกวนสัญญาณภาพของสัตว์ผสมเกสรด้วย
นอกจากนั้นการศึกษาระบุว่ามลพิษจากโอโซนสร้างความเสียหายแก่ใบพืชเกือบจะทันที ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสังเคราะห์แสงและสร้างพลังงานสำหรับการเจริญเติบโตของพืช
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ก๊าซโอโซน (O3) เป็นมลพิษเกิดจากอะไร ?
หากจะอธิบายว่า ก๊าซโอโซน (O3) เป็นมลพิษนั้น สามารถระบุได้ดังนี้ ก๊าซโอโซน (O3) เป็นก๊าซที่ไม่มีสีหรือมีสีฟ้าอ่อน มีกลิ่นฉุน ละลายน้ำได้เล็กน้อย เกิดขึ้นได้ทั้งในระดับบรรยากาศชั้นที่สูงจากผิวโลก และระดับชั้นบรรยากาศผิวโลกที่ใกล้พื้นดิน ก๊าซโอโซน ที่เป็นสารมลพิษทางอากาศ คือก๊าซโอโซนในชั้นบรรยากาศผิวโลก เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย โดยมีแสงแดดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยก่อให้เกิดการระคายเคืองตาและระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจและเยื่อบุต่างๆ ความสามารถในการทำงานของปอดลดลง เหนื่อยเร็ว โดยเฉพาะในเด็ก คนชรา และคนที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง
•จีนทยอยเลิกใช้ สารทำลายโอโซน แล้วกว่า 5 แสนตัน
จีน เป็นหนึ่งในประเทศหลักๆ ที่เห็นถึงอันตรายของ สารทำลายโอโซน โดย ได้ทยอยเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนแล้วรวม 504,000 ตัน ในช่วงกันยายน 2022 ที่ผ่านมา นับตั้งแต่จีนเข้าร่วมพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน
โดย ทั่วโลกได้ทยอยเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนแล้วมากกว่าร้อยละ 99 ตลอดช่วง 35 ปีที่ผ่านมา ส่วนจีนลงนามในพิธีสารดังกล่าวเมื่อปี 1991 และพิธีสารฉบับแก้ไขคิกาลี (Kigali Amendment) เริ่มมีผลบังคับใช้ในประเทศเมื่อปี 2021 โดยจีนจะเดินหน้าปรับปรุงระบบทางกฎหมายและนโยบาย มุ่งมั่นดำเนินตามพันธสัญญา และกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อมีส่วนช่วยอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตบนโลก