svasdssvasds

“กรมอุตุฯ” ตอบชัดแล้ว ปีนี้น้ำจะท่วมใหญ่เหมือนปี 54 หรือไม่?

“กรมอุตุฯ” ตอบชัดแล้ว ปีนี้น้ำจะท่วมใหญ่เหมือนปี 54 หรือไม่?

กรมอุตุฯ ตอบชัดจะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 จริงหรือไม่ หลังปีนี้ปริมาณฝนเกินมาตรฐาน พร้อมเปรียบเทียบ ปริมาณฝนปี 2565 น้อยกว่าปี 2554 ขณะที่ปี 2554 มีพายุเข้าไทย 5 ลูก แต่ปี 65 ยังไม่มีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย พร้อมเตือน 5-8 ก.ย. ทั่วไทยจะมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรง

จากกรณีที่ประเทศไทยในชวงนี้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ซึ่งเกิดเป็นปริมาณน้ำฝนสะสมทั่วประเทศ ทำให้ในสังคมเกิดความกังวลและสงสัยว่า จะมีน้ำท่วมใหญ่เหมือน "น้ำท่วมปี54" หรือไม่ เกี่ยวกับ สถานการณ์น้ำ หรือ จะเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ หรือไม่? 

ล่าสุด ทางด้าน กรมอุตุนิยมวิทยา เผยคำตอบถึง ปี 2565 นี้ว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 จริงหรือไม่? พร้อมเปรียบเทียบกันปริมาณฝนปี 2565 น้อยกว่าปี 2554 ขณะที่ปี 2554 มีพายุเข้าไทย 5 ลูก แต่ปี 2565 นี้ ยังไม่มีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย

ด้าน น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่าจากการติดตามสภาพอากาศ การประมวลผลจากแบบจำลอง และสถิติการเกิดพายุ คาดการณ์ว่าฤดูฝนปี 2565 จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 2 ลูก ในเดือนกันยายนถึงตุลาคม โดยในเดือนกันยายน ประเทศไทยยังมีฝนตกชุก แต่เดือนตุลาคม จะมีมวลอากาศเย็นจากจีนแผ่ลงมาทำให้ปริมาณฝนลดลง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ในปี 2565 ปรากฏการณ์เอนโซ่ อยู่ในสภาวะลานีญา ซึ่งทำให้ฝนมากกว่าค่าปกติ โดยจะยังคงต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี คาดการณ์ว่าปริมาณฝนเฉลี่ยตลอดปี 65 จะมากกว่าค่าปกติ ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 30 ปี ประมาณ 5-10% ใกล้เคียงกับปี 2564 ที่ฝนมากกว่าค่าปกติ 8% แต่ปี 2554 ซึ่งเกิดอุทกภัยใหญ่ ปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ 27% 

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกันปริมาณฝนปี 2565 น้อยกว่าปี 2554 โดยตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 1 กันยายน 65 ฝนมากกว่าค่าปกติ 23% เมื่อพิจารณาถึงพายุที่มีอิทธิพลให้เกิดฝนตกชุกในประเทศไทยปี 2554 มี 5 ลูก โดยที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยมี 1 ลูกคือ "พายุนกเตน"

ส่วนปี 2565 จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย มีที่เคลื่อนเข้ามาใกล้ 2 ลูกคือ "มู่หลาน" และ "หมาอ๊อน"

“สภาพอากาศในปีนี้มีความแตกต่างกัน ในปี 2554 ปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 27 เกิดพายุหมุนเขตร้อนที่ส่งผลทางอ้อมต่อลมฟ้าอากาศในประเทศไทย ประกอบกับครึ่งหลังของเดือนตุลาคมเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง จึงทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงและต่อเนื่อง แต่สำหรับปีนี้ปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 21 เท่านั้น" อธิบดีกรมอุตุฯ อธิบาย

สำหรับ ปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ไม่ได้มาจากสภาพอากาศอย่างเดียว แต่รวมถึงการบริหารจัดการน้ำด้วย ปัจจุบันหน่วยงานด้านอากาศและน้ำบูรณาการทำงานในกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) โดยนำผลคาดการณ์สภาพอากาศไปวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบ โดยมีการระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบนออกสู่ทะเลอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้น้ำเหนือไหลลงมาสู่พื้นที่ตอนล่างเป็นปริมาณมากในคราวเดียว 

ขณะที่ พายุ “หินหนามหน่อ” และคาดการณ์ปริมาณฝนในช่วงปลายฤดู 2565 ว่าพายุนี้ไม่มีทิศทางเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะดึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้นได้ ทำให้ในช่วงสัปดาห์หน้า (5-8 ก.ย. ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนล่าง จะมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่

จึงขอให้ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวล และอย่าเชื่อข่าวปลอมที่ออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ให้ติดตามข่าวสารของหน่วยงานราชการ โดยสามารถติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศและประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา หรือ โทร. 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

related