เช็กลิสต์สถานการณ์น้ำท่วมปี 2565 เสี่ยงแค่ไหน ? สามารถเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 ได้หรือไม่ ต้องเฝ้าระวังปัจจัยข้อใดบ้าง และยังอุ่นใจได้แค่ไหน เช็กเลย
ช่วงเวลาเมื่อ 11 ปีที่แล้ว กับเหตุการณ์ น้ำท่วมปี 2554 ถือเป็นฝันร้ายในการใช้ชีวิตของผู้คนในประเทศ เพราะวันนั้นในอดีต น้ำท่วมปี 2554 ทำให้ 65 จังหวัดในไทยต้องจมอยู่ใต้บาดาล เศรษฐกิจเสียหาย ถึง 1.44 ล้านล้านบาท และตอนนี้ ปี 2565 มีความกังวลหลายๆส่วน เกรงว่า อาจจะมีการ "ซ้ำรอย" เดิมจาก น้ำท่วมปี 2554 หรือไม่ ... เราลองมาหาคำตอบกันได้เลย...
ปัจจุบัน ในปี 2565 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA (จิสด้า) เพิ่งมีการ เปิดเผยข้อมูลภาพจากแผนที่แสดงสถานการณ์น้ำท่วมช่วงเดือนสิงหาคม 2554 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมขัง 5.59 ล้านไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมในเดือนสิงหาคมปีนี้ (2565) ผลปรากฏว่า ไทยประสบปัญหาน้ำท่วมขังแล้ว 1.85 ล้านไร่ หรือต่างกันราว ๆ 3 เท่าตัว กล่าวคือตัวเลข ณ ปัจจุบัน ยังไม่ได้ใกล้เคียงกับ ปี 2554 เลย แต่คงปฏิเสธความตจริงไม่ได้ว่า ในทุกๆ พื้นที่ที่น้ำท่วมประชาชนต้องเจอกับความเดือดร้อน จะมาก จะน้อย มันก็คือน้ำตาแห่งความทุกข์ทั้งหมด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวมข่าวสิ่งแวดล้อมประจำเดือนสิงหาคม ครึ่งปีแล้ว เกิดอะไรขึ้นบ้าง?
GISTDA เปรียบเทียบพื้นที่น้ำท่วมไทย สิงหาคม 54 - สิงหาคม 65 ต่างกัน 3 เท่าตัว
มีข้อสังเกต ที่น่าสนใจคือ ณ ปี 2565 ณ ปัจจุบัน "ไทยยังไม่เจอกับพายุแบบทางตรง" ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นแค่ทางอ้อมเท่านั้นที่ทำให้ได้รับผลกระทบทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศ ขณะที่ หลายหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ทั้ง สทนช., กรมชลประทาน, กรมอุตุนิยมวิทยา, สสน. ปภ. รวมถึงจิสด้า
ส่วนในปี 2554 ย้อนเข็มนาฬิกากลับไปในวันนั้น เรียกได้ว่าไทยเจออุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติการณ์ เพราะไทยเจอเหตุการณ์น้ำท่วม 2554 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี และที่หนักที่สุดคือช่วงปลายเดือนกรกฎาคม จนถึงเดือน พฤศจิกายน ที่มีพื้นที่ประสบอุทกภัย และถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งสิ้น 65 จังหวัด และหนึ่งในนั้น คือพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งถูกน้ำท่วมหนักในรอบ 70 ปีเลยก็ว่าได้
ปี 2554 ไทยยังได้รับอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อม จากพายุที่เคลื่อนตัวมาจากทะเลจีนใต้ทั้งหมด 5 ลูก ได้แก่ 1. พายุโซนร้อน “ไหหม่า” 2. พายุโซนร้อน “นกเตน” (NOCK-TEN) 3. พายุโซนร้อน “ไห่ถาง” (HAITANG) 4. พายุใต้ฝุ่น “เนสาด” และ 1.5 พายุโซนร้อน “นาลแก”
• สิ่งที่เกิดขึ้น ปี 2554
- ฝนที่มาเร็วกว่าปกติ ทำให้ปริมาณฝนตกสะสมทั้งประเทศสูงกว่าค่าเฉลี่ยมากถึง 35%
-ช่วงครึ่งปีแรก เกิดปรากฏการณ์ลานีญาที่ค่อนข้างรุนแรง ทำให้มีปริมาณฝนมากกว่าปกติทุกเดือน
- เกิดน้ำทะเลหนุนบ่อยครั้ง ส่งผลให้การระบายน้ำค่อนข้างยาก และเป็นไปอย่างล่าช้า
- เขื่อนใหญ่ๆ อย่างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างอย่างต่อเนื่องในปริมาณสูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำผลให้ไม่สามารถระบายน้ำออกได้ทัน เนื่องจากบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
- มีสิ่งกีดขวางทางน้ำมากมายทั้งจากธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น
- ผลกระทบ น้ำท่วมปี 2554 เล่นงาน 3.6 ล้านคน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบอย่างน้อย 5,087,352 ไร่ เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 1 ล้านล้านบาท ครั้งนั้นประชาชนคนไทยจำนวนกว่า 5 ล้านคน กลายเป็นผู้อพยพบนบ้านเกิดตัวเอง คนงานเกือบ 650,000 คน ตกงาน ประวัติศาสตร์น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง และฉากที่เจ็บปวดฉากหนึ่งคือ สนามบินดอนเมืองต้องจมใต้น้ำ
เช็กลิสต์สถานการณ์น้ำท่วม 65 เสี่ยงแค่ไหน ?
• สิ่งที่เกิดขึ้นปี 2565
- ส.ค. 2565 ไทยเจอปัญหาน้ำท่วมขังกว่า 1.85 ล้านไร่ น้อยกว่าอยู่ 3 เท่าเมื่อเทียบปี 2554 ซึ่งปีนั้นท่วม 5.59 ล้านไร่
- เกิดปรากฏการณ์ลานีญาเหมือนปี 2554 ทำให้ฝนมาเร็วส่งผลให้หลายพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมสูงขึ้นแต่ไม่รุนแรงเท่าปี 2554
- ก.ย. และ ต.ค. อาจเกิดพายุขึ้น 2-3 ลูก ซึ่งบางลูก ไทยอาจไม่ได้รับอิทธิพลโดยตรง
- ปริมาณฝนคาดการณ์ช่วงปลายปี (ส.ค.-พ.ย.) มีสูงกว่าค่าปกติ แต่พฤติกรรมน้ำหลากจะไม่เหมือนกัน
- หากปริมาณฝนในภาคกลางมีมากกว่า 18 % ของค่าปกติ มีความเสี่ยงสูงจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ 2554 ถ้าฝนตกเหนือเขื่อน ปริมาตรรองรับน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคเหนือยังมีประมาณ 50% แต่หากตกใต้เขื่อน จะสร้างปัญหาให้กับภาคกลางแบบน้ำท่วมทุ่ง ค่อยๆหลากเข้าเมือง สำหรับภาคอื่นๆยังมีความเสี่ยงเช่นกัน
• สรุปแล้ว โอกาสเกิดน้ำท่วมปี 2565 จะท่วมหนักเท่าปี 2554 หรือไม่ ?
เมื่อดูจากปัจจัยที่เปรียบเทียบกันแล้ว ถือว่า ยังมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่จะมี จะมีบางพื้นที่ที่ถูกกระทบ ซึ่งหากเป็นไปตามคาดการณ์ โดยเฉพาะที่ราบลุ่มภาคกลาง และภาคอีสาน จะยังเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมมากขึ้นในเดือนกันยายนต่อเนื่องไปถึงเดือนตุลาคม แต่ความรุนแรงจะมากหรือน้อยขึ้นกับว่าในช่วงนับจากนี้ไป พื้นที่ประเทศไทยจะเจอกับ "มรสุม" อีกหรือไม่ แต่ ณ เวลานี้ ตามการประเมินของกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทาน ประเทศไทยจะเจอกับ "น้ำท่วมขัง" เป็นระยะ แต่ไม่ถึงระดับ "น้ำท่วมใหญ่" และต้องรอลุ้นกันต่อไปในช่วงที่เหลือของฤดูฝน ว่าจะมีพายุเข้ามาซ้ำหรือไม่ ?