น.ต.ศิธา ทิวารี จากอดีตนักบิน F-16 สู่อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในครั้งนี้กลับมาชิงเก้าอี้ "ผู้ว่าฯ กทม."
นาวาอากาศตรี (น.ต.) ศิธา ทิวารี หรือที่หลายคนเรียก ผู้พันปุ่น เกิดเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2507 ปัจจุบันอายุ 57 ปี (ในปีนี้จะครบ 58 ปี) เป็นลูกชายของ มานพ ทิวารี กับ หม่อมราชวงศ์ (มรว.) จารุวรรณ ทิวารี (ราชสกุลเดิม: วรวรรณ) เป็นพระนัดดา (หลาน) ของหม่อมเจ้าดุลภากร วรวรรณ พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมอินทร์ โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) กับเจ้าจอมมารดาเขียน
น.ต.ศิธา เข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์ดอมินิก ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น จากนั้นไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 24 (ตท.24) โดยเป็นประธานรุ่น และเข้ารับการศึกษาระดับปริญญาตรีต่อที่ วิทยาศาสตรบัณฑิต จากโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช รุ่น 31
ต่อจากนั้น น.ต.ศิธา เข้ารับราชการทหารในสังกัดกองทัพอากาศ และเคยเป็นนักบินขับไล่นอร์ธรอป เอฟ-5 (Northrop F-5) และใช้เวลานานเกือบ 8 ปี จนได้เป็นนักบินขับไล่ เอฟ-16 ไฟทิงฟอลคอน (General Dynamics F-16 Fighting Falcon) และท้ายที่สุด ก่อนที่จะลาออกจากราชการเพื่อมาทำงานการเมือง คือตำแหน่ง รองหัวหน้าแผนกแผนร่วม กองนโยบายและแผน กรมยุทธการ กองทัพอากาศ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
โดย น.ต.ศิธา ทิวารี ได้เข้าพรรคไทยรักไทย และลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 9 (คลองเตย) ในปี 2544 รวมถึงปี 2548 ระหว่างนั้น น.ต.ศิธา ได้นั่งตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ก่อนที่จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองนาน 5 ปี จากคดีพรรคไทยรักไทยถูกยุบในปี 2549 เหตุนั่งเป็นกรรมการบริหารพรรค
ในครั้งนี้ น.ต.ศิธา ทิวารี กลับมาในเส้นทางทางการเมืองอีกครั้ง ด้วยการลงแข่งสนาม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามของพรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ชูนโยบาย "3P" ที่ประกอบไปด้วย
1. People
ทำกรุงเทพมหานครให้กลายเป็นเมืองแห่งโอกาสของผู้คน ซึ่งการจะสร้างเมืองแห่งโอกาสได้ ก็ต้องมาจาก "ประชาชน" เพราะประชาชนเป็นคนสร้าง ลงมือทำ รู้ปัญหาภายในดี และรู้ว่ากรุงเทพฯ ต้องการจะไปทิศทางใด ทำอย่างไรถึงจะซัพพอร์ตพวกเขาเหล่านี้ได้ นั่นก็ต้องมาจากการลงทุนให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่ ให้พวกเขามีการศึกษาที่ดี เพราะเขาจะได้นำองค์ความรู้ไปพัฒนาให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดียิ่งขึ้นได้
2. Profit
นอกจากทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งโอกาสแล้ว ยังต้องเป็นเมืองที่มีความมั่งคั่งร่ำรวยด้วย เพราะการจะพัฒนาเมืองต่อได้ ก่อนอื่นเลย ปากท้องต้องอิ่มก่อน เมื่ออิ่มแล้วจะได้มีเวลานำไปคิดหาพัฒนาโอกาสต่อไป ไม่ใช่ต้องพะวักพะวนอยู่กับความอยู่รอดของตัวเอง
3. Planet
เมื่อเป็นเมืองแห่งโอกาสที่มั่งคั่งแล้ว สุดท้ายทำอย่างไรให้ยั่งยืน ซึ่งนั่นหมายถึงจะต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพให้ได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ การพัฒนา ดูแล ให้กรุงเทพเป็นเมืองที่ปลอดภัย และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อสุขภาพที่ดีของคนกรุงเทพ ดั่งคำกล่าวที่ว่า กรุงโรมไม่ได้สร้างได้ภายในวันเดียว กรุงเทพฯ ก็ฉันนั้น เพราะมหานครของโลกไม่สามารถสร้างได้ด้วยคนคนเดียว และนั่นก็จะวนกลับไปที่ P1 People นั่นเอง