ครบรอบ 3 เดือน การเสียชีวิตของหมอกระต่าย น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พรรคไทยสร้างไทย ชูธงแก้ปัญหาการจราจรอย่างจริงจังด้วยเทคโนโลยี เพื่อความปลอดภัยบาท้องถนน
น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พรรคไทยสร้างไทย โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ครบรอบ 3 เดือน สูญเสียหมอกระต่าย ชูธงแก้ปัญหาการจราจรอย่างจริงจังด้วยเทคโนโลยี ดังนี้
ครบรอบ 3 เดือน สูญเสียหมอกระต่าย เราต้องไม่ปล่อยผ่านเหตุสลด ชูธงแก้ปัญหาจริงจัง ดึงเทคโนโลยีระบบตำรวจจราจร AI เพิ่มแสงสว่าง ติดกล้องใช้ได้จริง เข้ากับระบบ BANGKOK EYE พร้อมสร้างความเข้าใจผู้ใช้รถต่อเนื่อง
ตนขอแสดงความไว้อาลัยต่อความสูญเสียในโอกาสครบรอบ 3 เดือน กรณีที่รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ พุ่งชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลาย จนเป็นเหตุให้หมอกระต่ายเสียชีวิตว่า ความสูญเสียทุกชีวิต จากอุบัติเหตุ ทางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือยวดยานพาหนะใดๆ ก็ตาม เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น และเชื่อว่าเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว ไม่ใช่ครั้งแรกและคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
บทความและข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ชำแหละเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ใครมีโอกาสมากที่สุด ?
แก้ปัญหาแบบเดิม ผลลัพธ์ก็เหมือนเดิม ! กรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยนด้วยวิธีคิดใหม่ๆ
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร : กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ไม่ได้ ถ้าเป็นเมืองที่คนไม่เท่ากัน
น.ต.ศิธา ทิวารี กล่าวต่อไปว่า ซึ่งนอกเหนือจากการปลูกฝังจิตสำนึกของผู้ใช้รถใช้ถนนว่า คนเดินเท้ามีสิทธิ์ในการเดินในเส้นทางเดินเหนือรถยนต์ทุกชนิดแล้ว นโยบายด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ของกรุงเทพมหานครก็ต้องปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน เพราะ ตามข้อมูลขอ WHO รายงานประจำปี 2016 และ 2018 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนจำนวน 32.7 คนจาก 100,000 คนต่อปี ซึ่งประเทศไทยติดอันดับท็อป 10 ของโลก
จากข้อมูลศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ศึกษาจากแหล่งข้อมูลอุบัติเหตุต่างๆ ประมาณการณ์ว่า มีผู้ถูกรถชนเสียชีวิตขณะข้ามถนนบนทางม้าลาย เฉลี่ย 6% ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน หรือประมาณ 500 คนต่อปี โดยพบเกิดเหตุในพื้นที่ กทม. มากที่สุด
ดังนั้น กทม. จำเป็นต้องเพิ่มการติดตั้งไฟสัญญาณคนข้ามทางม้าลาย ตลอดจนที่ดักชะลอความเร็ว ในจุดที่มีความสำคัญ เป็นเขตชุมชน และมีความเสี่ยงให้มากขึ้น
โดยเฉพาะจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และสัญญาณกำหนดความเร็วในเขตเมือง โดยเฉพาะ ตลาด ชุมชน โรงเรียน ที่ต้องขับขี่รถไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยกทม.ต้องสนับสนุนทุกกลไกเพื่อการตรวจจับปรับจริง กรณีมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจราจร และให้เร่งรณรงค์สร้างความเข้าใจกับผู้ใช้รถใช้ถนนให้เคารพกฎจราจร โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องมิใช่แค่ช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์
น.ต.ศิธา ทิวารี กล่าวต่อไปว่า ที่สำคัญกรุงเทพฯ ต้องเป็นพ่อบ้านที่สำคัญในการดูแลความปลอดภัยของชาวกรุงเทพฯ ต้องทำงานกับกองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อให้มีการตรวจมากขึ้น ทางกรุงเทพ ต้องมีการรับและส่งข้อมูลของกล้องกทม. ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อที่จะตรวจสอบรถยนต์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ทางกทม จะเสริมกำลังเทศกิจของ กทม.ซึ่งอยู่ภายในการดูแลของ กทม. โดยตรง ซึ่งมีกว่า 2,900 นาย
นอกจากนี้ ชาวกรุงเทพฯ ควรช่วยเป็นหูและตา ส่งรายงานผ่านแอพ โดยส่งแล้วจะมีโอกาสได้รับ Bangkok Token เป็นการให้รางวัลต่อการทำดีต่อสังคม และเป็นส่วนลดต่อไปในบริการและร้านในโครงการ กรมป้องกันและบรรเท่าสาธารณภัยเคยมีการตั้ง LINE แต่สุดท้ายมีคนส่งน้อย เนื่องจากไม่มีแรงจูงใจในการสนับสนุนให้คนรายงาน
กรุงเทพฯ ต้องสร้างความปลอดภัยด้วยระบบตำรวจจราจร AI โดยการเพิ่มแสงสว่าง ติดกล้องที่ใช้ได้จริง เข้าระบบ BANGKOK EYE ซึ่งจะช่วยในการประมวลข้อมูลส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเป็นการป้องกันล่วงหน้า ต้องมีการทำป้ายและเข้มงวดต่อความเร็วที่กำหนดในเขตเมือง โดยเฉพาะในเมืองที่มีจุดคนเดินข้ามถนนหรือกิจกรรมสองข้างทาง เช่น ตลาด ชุมชน ฯลฯ