ดำรง พุฒตาล นำเรื่องราวในอีกหลายๆ ด้านของสหรัฐฯ ทั้งปัญหาการเหยียดผิว และอื่นๆ อีกมากมาย มาเล่าสู่กันให้พิจารณา พร้อมตั้งคำถามว่า อันที่จริงแล้ว อเมริกามีความเป็นอารยะตามที่กล่าวอ้าง หรือไม่ ?
ก่อนอื่นต้องกราบเรียนผู้อ่านก่อนนะครับ ความคิดเห็นของผมต่อไปนี้เกี่ยวกับการประท้วงในสหรัฐอเมริกา จากปัญหาการเหยียดผิว มันอาจเกิดจาก 1. อายุผมก็มากแล้ว 2. ไปกักตัวปลีกวิเวกเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 บางทีก็ทำให้คิดอะไรเพ้อเจ้อ แต่ว่ามันก็เป็นความคิดจากพื้นฐานที่สั่งสมความรู้มาเป็นเวลานาน
ปัญหาเหยียดผิวในสหรัฐอเมริกา มีความเป็นมาอย่างยาวนาน แต่เริ่มมาซาลงในสมัยประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ของพรรคเดโมแครต ที่พยายามไม่ให้มีการแบ่งแยก
แต่นั่นเป็นแนวคิดในกฎหมาย ซึ่งในวิถีชีวิตจริงๆ ก็ยังมีความเกลียดชังกันอยู่ มาเบาบางลงก็คือหลังจาก มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) เป็นผู้นำในการเดินขบวนเรียกร้องความเท่าเทียม แต่แล้วเขาก็ถูกลอบฆ่า
คราวนี้พอมาสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ที่ต้องการให้อเมริกายิ่งใหญ่ แต่ต้องเป็นชาวอเมริกันผิวขาว ซึ่งเขามีการแสดงออกอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากการที่ทรัมป์เหยียดหยามดูถูกอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา (Barack Obama) มาโดยตลอด
อย่างเรื่องการระบาดของโควิด-19 ที่อเมริกามีผู้ติดเชื้อและตายมากที่สุดในโลก ทรัมป์กลับไปฟาดหัวฟาดหางว่า เป็นความผิดของโอบามา ที่ไม่รู้จักป้องกันมาก่อน ซึ่งมันตลกน่ะ เพราะเมื่อ 4 ปี หรือ 8 ปีที่แล้ว (ช่วงที่โอบามา เป็นประธานาธิบดี) ยังไม่มีโรคนี้เลย
หรือในกรณีที่จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ถูกตำรวจผิวขาวทำร้ายจนเสียชีวิต ที่เป็นจุดเริ่มต้นการประท้วงในอเมริกา ผมยังไม่เคยได้ยินทรัมป์แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต แต่กลับพูดว่า เมื่อผู้ประท้วงเริ่มขโมยของ เราก็จะเริ่มยิงทันที
และถ้าดูข่าวอย่างสังเกตจะเห็นได้ว่า ในการเดินขบวนไม่ได้มีแต่คนผิวสี แต่ยังมีคนอเมริกันผิวขาวที่ต่อต้านทรัมป์ จึงไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร
เหตุการณ์นี้ ทำให้ผมคิดเพ้อเจ้อถึงสมัยที่เป็นนักศึกษา ในโรงเรียนฝึกหัดครูพระนครศรีอยุธยา (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา)
ผมได้ยินคำว่า Underdeveloped Country ซึ่งหมายถึงประเทศกำลังพัฒนา อย่างไทยเราเนี่ยแหละ แล้วก็เรียกอเมริกาว่า Developed Country คือ ประเทศที่พัฒนาแล้ว
แต่พอมามีโรคโควิด-19 และการประท้วง เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเรา ที่เคยมีเดินขบวนช่วงเสื้อเหลืองเสื้อแดง แต่ก็ไม่มีผู้นำไทยคนไหนออกมาพูดว่า ไม่ได้นะ ถ้าทำอย่างนี้จะยิง จะฆ่า มีแต่ออกมาพูดว่า ให้อะลุ่มอะล่วย ให้ปรองดองกัน ให้อยู่ในความสงบ
ทำให้ผมคิดว่า เมืองไทยเราเจริญกว่าหรือเปล่า หรือมีอารยะมากกว่าหรือไม่ ซึ่งผมก็มีสิทธิ์ที่จะคิดเพ้อเจ้อไปอย่างนี้นะครับ
ส่วนท่าทีของทรัมป์ จะทำให้สถานการณ์บานปลายหรือไม่นั้น อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า ในแต่ละรัฐเนี่ย คนที่มีอำนาจจริงๆ คือ ผู้ว่าการรัฐ ซึ่งทรัมป์จะไปก้าวก่ายไม่ได้
แต่ตอนนี้ทรัมป์กลับฟาดหัวฟาดหางว่า ถ้ารัฐไหนอ่อนแอ ไม่สามารถปรามคนที่เดินขบวนได้ ก็จะส่งกองกำลังทหารไปจัดการ และอาจเปลี่ยนตัวผู้ว่าการรัฐ ก็ว่าของแกไปเรื่อย แต่มันก็ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมา
ส่วนในสมัยหน้า ทรัมป์มีโอกาสได้เป็นประธานาธิบดีอีกหรือไม่นั้น ผมเคยถามเพื่อนสนิท ที่อยู่อเมริกามาประมาณ 50 ปี เขาก็ตอบผมว่า... ซึ่งผมย้ำว่าเขาตอบผม ไม่ใช่ผมพูดเองนะครับ “คนอเมริกันเนี่ย บางคนดูแต่ข่าวของ Fox แล้วเขาก็จะเชื่อ ซึ่ง Fox สนับสนุนทรัมป์ ฉะนั้นทรัมป์อาจจะได้รับการเลือกตั้งอีก เพราะข้อดีของทรัมป์คือ ทำให้เศรษฐกิจดี”
ถ้าเป็นสื่อนี่ Fox จะสนับสนุนทรัมป์ ส่วน CNN จะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับทรัมป์ แต่สื่อที่ผมติดตามและขอแนะนำก็คือ Aljazeera ที่นำเสนอข่าวทั่วโลกได้อย่างครอบคลุม
อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ผมไปชะอำ เจอคนอเมริกัน ก็ทักทายและคุยกัน เขาก็บอกว่า อยู่เพนซิลเวเนีย ผมก็ถามว่าเลือกตั้งครั้งหน้า ทรัมป์จะได้หรือไม่ เขาบอก “ยูเชื่อไอเลย ทรัมป์ได้อีก เพราะเก่งเศรษฐกิจ”
หรือก่อนหน้านี้ เอกอัครราชทูตไทยท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์ ผมขออนุญาตไม่เอ่ยนาม แต่ท่านอยู่ในประเทศที่ใหญ่โตประเทศหนึ่ง ท่านพูดว่า “เชื่อเถอะ ทรัมป์จะได้รับการเลือกตั้งอีก” แต่ตอนที่ท่านพูดยังไม่เกิดการประท้วงนะครับ
จากที่เล่ามาทั้งหมดเนี่ย ทำให้ผมรู้ว่าตัวเองเคยเข้าใจผิด คิดว่าอเมริกาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ทางด้านจิตใจ อารยะ การเมือง กฎหมาย ศาล ตุลาการ แต่ภาพที่แท้จริง ไม่ต่างอะไรกับประเทศในโลกที่สาม Underdeveloped Country ที่ยิงกันฆ่ากัน ทำลายข้าวของระหว่างการประท้วง ประเทศไทยก็เคยมี แต่ไม่ได้รุนแรงขนาดนี้
ส่วนเหตุการณ์นี้จะจบหรือลงเอยอย่างไรนั้น ผมก็แอบคิดในใจว่า เกิดผู้บัญชาการทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เขาเห็นว่า ถ้าปล่อยนายทรัมป์ไปอย่างนี้ สหรัฐอเมริกาอาจล้มสลาย
สมมติเขาคิดกันอย่างนี้ ผมก็เลยคิดว่า เราก็อายุมากแล้ว ชาตินี้เผลอๆ อาจจะ ย้ำนะครับว่า อาจจะได้เห็นในอเมริกามีการรัฐประหาร อันนี้ยอมรับครับ ผมเพ้อเจ้อไป
ผมกราบเรียนผู้อ่านว่า อย่าถือสาคนแก่ ผมก็คิดเพ้อเจ้อของผมไปน่ะครับ และขอหยิบยกเรื่องที่สะท้อนถึงปัญหากระบวนการยุติธรรมในสหรัฐ มาเล่าแทรกในโอกาสนี้
เป็นเรื่องของ เจฟฟรีย์ เอปสไตน์ (Jeffry Epstein) มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ที่ชอบล่วงละเมิดทางเพศเด็ก อีกทั้งยังค้าประเวณี (sex trafficking) แต่เขารู้จักคนใหญ่คนโตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน และสนิทกับทนายความที่ทำคดีใหญ่ๆ ในอเมริกา
ต่อมาตำรวจที่เมืองพาล์มบีช ฟลอริดา พยายามที่จะทำคดีนี้ ด้วยการสอบสวนเด็กหลายสิบคน แล้วก็ทำสำนวนส่งขึ้นไป แต่อัยการกลับไม่ฟ้อง
ซึ่งอัยการคนนี้ชื่อ อเล็กซานเดอร์ อะคอสต้า (Alexander Acosta) เป็นเพื่อนกับทรัมป์ และต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ของอเมริกา
มันจึงทำให้ผมรู้สึกเอ๊ะ ในอเมริกา คุณมีเงิน คุณเป็นเศรษฐี รู้จักคนใหญ่คนโต มีอิทธิพล คุณก็สามารถละเมิดกฎหมาย ไม่ผิดกฎหมายได้ ซึ่งมันไม่ได้มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น
แม้ต่อมา เจฟฟรีย์ เอปสไตน์ จะถูกส่งฟ้อง แต่โทษที่ได้รับก็เบามาก ถูกตัดสินจำคุกเพียง 18 เดือน ทั้งๆ ที่ควรจะเป็น 45 ปี แต่สามารถแอบออกมาข้างนอกได้ 6 วันใน 1 สัปดาห์ (วันละ 12 ชั่วโมง)
แต่ตอนหลังศาลแขวงกลางของสหรัฐ ได้รื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาใหม่ เอปสไตน์ต้องถูกควบคุมตัว เนื่องจากศาลไม่ให้ประกัน แต่เขาได้ฆ่าตัวตายในเรือนจำ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ปีที่ผ่านมา
สาเหตุที่นำมาเล่า เพราะผมได้มีโอกาสดูสารคดีเรื่องนี้ จึงทำให้ได้รู้จักอเมริกาและคนอเมริกันได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งผมเข้าใจผิดมาตลอด เพราะจริงๆ แล้ว ไม่ได้มีมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน ตามที่กล่าวอ้างเลย
สุดท้ายนี้ ผมมีความคิดว่า เราต้องดูอเมริกาไว้เป็นตัวอย่าง ซึ่งน่าจะเป็นข้อคิดสำหรับผู้บริหารประเทศ อย่าคิดว่า มีกำลัง มีอำนาจ มีอาวุธ เพราะว่าในสหรัฐอเมริกา เป็นตัวอย่างให้เห็นชัดแล้วในวันนี้ เมื่อประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ลุกฮือขึ้นมาเนี่ย ต่อให้มีอำนาจ มีปืน มีรถถัง มันก็เอาไม่อยู่
ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay