ชวนมานั่งเล่นในห้องเรียนศิลปะที่มีความสุขของนักเรียนเป็นตัวตั้ง โอบรับผลงานความตั้งใจทุกชิ้น ไม่ใช้เพียงแค่ความสวยงามตัดสิน
ถ้าใครยังจำกันได้ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่าน ตรงกับวันสุนทรภู่ ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับ วันต่อต้านยาเสพติด ได้มีไวรัลในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับผลงานประกวดศิลปะของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาของโรงเรียน เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ยานนาเวศ ที่โดนใจและเข้ากับสถานการณ์เสรีกัญชาและห้องเรียนปลอดยาเสพติดกลายเป็นว่าเด็กสามารถตีโจทย์แตกจนได้รับรางวัลชนะเลิศและผลงานถูกแชร์ในโลกออนไลน์ กลายเป็นข่าวบนสื่อหลักหน้าจอทีวี เช่นรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ ก็นำไปรายงานด้วยเช่นกัน
เบื้องหลังผลงานศิลปะที่เด็กๆ สามารถแสดงออกได้ตามความคิด โดยไม่มีกรอบ ก็มาจากคุณครูสอนศิลปะที่ชื่อ ครูแพรว หรือ คุณครู สุพิชยา ช่วงชัยยะ ครูสายเลือดใหม่ที่ตั้งใจมุ่งมั่นในการสอนศิลปะมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ต่อยอดความรู้เรียนต่อปริญญาโท ในสาขาทัศนศิลปศึกษา เพื่อนำมาพัฒนาให้ห้องเรียนศิลปะในชั้นเรียนโรงเรียนรัฐบาลแห่งนี้ทำให้นักเรียนมีความสุขที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โรงเรียนในเทียนจินใช้ เทคโนโลยีอัจฉริยะ ช่วยในการเรียนรู้ในชั้นเรียน
ชวนมาดูเมนู อาหารกลางวันเด็กนักเรียนต่างประเทศ หน้าตาดีมีโภชนาการ
รองผู้ว่าฯ กทม. แจงหลังโพสต์ดราม่า อาหารกลางวันนร.ยัน คุณภาพ-ประมาณเพียงพอ
แต่ดูเหมือนว่า ครูศิลปะทุกคนอาจไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะจากข่าวร้อน ประเด็นที่มี ครูทำลายงานเด็ก ที่เป็นงานปั้นดินน้ำมัน โดยคุณแม่ต้องออกมาเรียกร้องถามหาความรับผิดชอบและความเห็นจากสังคม ถึงการกระทำที่เกิดขึ้นของครูคนดังกล่าวนี้ โดยเสียงส่วนใหญ่ก็เป็นไปในทิศเห็นใจ ต่อว่า กับความจริงด้านที่คุณแม่ออกมาเปิดเผย ทั้งนั้นเนื่องจากทางฝั่งครูไม่ได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมจึงทำให้สังคมไม่ได้ฟังเหตุผลที่แท้จริงอีกฝั่ง
ยังไงก็ตามยังมีครูที่พร้อมจะรับและฟังผลงานของเด็กๆ ทุกชิ้นที่มาส่งไม่ว่าจะในรูปแบบไหน เวลากี่โมง เชื่อว่ายังมีครูตัวเล็กๆ แบบครูแพรวที่คอยแนะนำให้เด็กกล้าคิดกล้าแสดงออกและมีความสุขในห้องเรียนของเธอ ซุกซ่อนอยู่ในโรงเรียนอีกมากในเมืองไทย อยากให้พื้นที่เป็นการให้กำลังใจทั้งนักเรียนและครูให้อย่าหมดหวังในการศึกษาไทย
ทำไมถึงอยากเป็นครูและต้องเป็นครูศิลปะ
ชอบศิลปะตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว แล้วพอมาสอบได้ที่มศว เอกศิลปศึกษา และรู้ว่าต้องเรียนครูด้วยออกฝึกสอนด้วย ก็รู้สึกสนุกที่ได้สอนเด็ก วุ่นวายแต่ไม่เบื่อ เด็กๆ มีเรื่องมาฟ้องครู มีบรรยากาศต่างๆ ที่เวลาได้สอนแล้วรู้สึกสนุกที่ได้อยู่กับเด็กๆ สอนมาตั้งแต่ปี 2554 จนปัจจุบัน สิบปีกว่าปีแล้วก็ยังสนุกอยู่ แต่ด้วยระบบราชการที่ต้องงานเอกสาร ก็อาจจะน่าเบื่อ ทำให้ไม่สนุกเหมือนตอนสอนหรืออยู่กับเด็ก งานธุรการ พัสดุ ที่ต้องไปงานนอกที่ไม่ใช่การสอน ถึงแม้จะปวดหัวกับบางเรื่อง ก็กินพลังงานในการสอนไปเยอะเหมือนกัน ทำให้สอนได้ไม่เต็มที่ หลังจากที่ต้องไปอบรมต่างๆ งานนอกต่างๆ ทำให้เหนื่อย ทำให้มีเวลาเตรียมสื่อการสอนน้อยลงไป กระทบกับการสอนมากพอสมควร
เห็นข่าวแล้วรู้สึกยังไงในฐานะคุณครูศิลปะ
จากข่าวที่เห็นรู้สึกโหดร้ายและเกินกว่าเหตุ ถ้าตัวเองเป็นเด็กก็คงจะเสียใจ จากคอมเม้นต์ก็สังเกตว่าครูโดนโจมตีกลับเยอะมาก แต่ก็ยังไม่เห็นฝั่งครูออกมาชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม ถ้าในฐานะครูมองว่ามันเป็นการแสดงออกที่เกินสมควร จริงๆ แล้วมันจะมีวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้ เช่น รับงานไว้แล้วไปตัดคะแนนในส่วนการส่งงานล่าช้าแทนดีกว่ามั้ย แต่ไม่ควรมาทำลายผลงานของเด็กเพราะจะเป็นการทำลายความตั้งใจของเด็ก
ผลงานใครใครก็รัก ซึ่งถือเป็นสิทธิส่วนตัวของแต่ละบุคคลที่คนอื่นไม่ควรทำลาย เด็กตั้งใจทำมาดีที่สุดแล้ว ไม่ควรไปทำให้ให้เสียกำลังใจ ถ้าเป็นตัวเองก็จะบอกเด็กว่าไม่เป็นไรนะที่ส่งช้า มาส่งงานครูก็ดีใจแล้ว ขอบคุณมากๆ
โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์เด็กๆ จะมีปัญหาไม่เข้าเรียน ส่งงานไม่ตรงเวลามากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยและปัญหาส่วนบุคคลของตัวเอง ทั้งอุปกรณ์การเรียนไม่พร้อม ปัญหาครอบครัว อื่นๆ ที่ต้องใช้ความเข้าใจมากกว่าเดิม ต้องใจเย็นและปรับตัว ซึ่งครูจะไม่ให้เกรด 0 กับเด็กเหล่านั้น แต่จะให้ใบงานแทนเพื่อตามส่งงานให้ครบแล้วจึงค่อยประเมินผลการเรียน เพื่อไม่ให้เด็กหลุดออกจากห้องเรียนหรือต้องออกจากระบบการศึกษา
แล้วจากประสบการณ์การสอนเคยเจอเด็กส่งช้า ส่งไม่ตรงกับโจทย์ที่สั่งงานบ้างมั้ย
มีอยู่แล้ว แต่ยังไงก็ต้องรับไว้ เพราะครูต้องการคะแนน ต้องการงานจากเด็ก ต้องขอร้องให้เด็กมาส่งงาน ซึ่งเวลาคอมเมนต์งานจะให้ความคิดเห็นเชิงบวก จะไม่มองด้านลบ จะให้คะแนนความคิดสร้างสรรค์ จะไม่ตัดสินว่าผลงานของเด็กว่า ไม่สวย แย่ ไม่ดี ดูความตั้งใจของเด็ก ไม่ตีกรอบให้เด็ก
โดยจะแนะนำเพิ่มเติมให้ปรับปรุงส่วนนั้นนี้ซึ่งเด็กก็อาจจะตอบกลับมาแล้วสิ่งที่ทำดีแล้ว พอใจแล้ว ครูก็จะมีหน้าที่รับฟังเวลาที่เด็กพูดอธิบายแนวคิดการทำงานมากกว่า
ยิ่งในช่วงเรียนออนไลน์ก็จะมีเด็กทักมาส่งงานได้ตอนตีหนึ่ง ถ่ายรูปส่งมาให้ตรวจงานได้ โทรนัดให้ครูมารับงานก็ได้ ครูจะไม่เข้มงวดกับวิธีการส่งงาน ไม่มีระเบียบเคร่งครัด จะไม่คิดว่าเด็กไม่เคารพ
ซึ่งในตอนเรียนได้สอนวิชาเฉพาะพื้นฐานสำหรับการเป็นครูด้วยอยู่แล้วใช่มั้ย
จะมีการสอนจรรยาบรรณครู จิตวิทยาครู ซึ่งจะมีการยกตัวอย่างเหตุการณ์ เพื่อให้ทดลองแก้ปัญหา ตามเหตุและผล ต้องอยู่เหนืออารมณ์
เคยมีประสบการณ์ที่ทำให้โมโหสุดๆ เลยมั้ย
ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องนอกห้องเรียน ไม่ได้เกิดในระหว่างการเรียนการสอน อาจจะมีเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว เรื่องมารยาทหรือกาละเทศะ ซึ่งปัจจุบันไม่มีการตีแล้วในโรงเรียน โดยจะมีหลักเกณฑ์กำหนดลำดับการทำโทษมาให้ครูอยู่แล้วคือ ตักเตือน ทําทัณฑ์บน ภาคทัณฑ์ สาธารณะประโยชน์ จะไม่มีการตี พราะเด็กปัจจุบันจะมีอิสระมากขึ้น เน้นให้คิดเอง ทบทวนตัวเอง
เคยมีผลงานนักเรียนที่ครูแพรวตั้งโจทย์แล้วเป็นไวรัลทางสังคมออนไลน์ จนสื่อทีวีก็นำไปเสนอด้วยใช่มั้ย
ตอนนั้นเป็นการประกวดวาดรูปงานวันสุนทรภู่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันต่อต้านยาเสพติด ด้วยพอดีก็เลยตั้งโจทย์เป็น "วรรณคดีไทยต้านภัยยาเสพติด" เด็กๆ ก็สร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่ เอาการ์ตูนมาปรับวาด ผลงานที่ได้รับการพูดถึงกันมากคือ พระอภัยมณีใจเกเร เด็กตีโจทย์แตกเหนือความคาดหมาย แสดงภาพเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างถ้าเสพ กับ ไม่เสพ จะเป็นอย่างไร ใครเห็นก็ชอบและแชร์ต่อๆ กัน
ส่วนตัวเองก็จะตั้งโจทย์และให้แนะนำเด็ก แต่เปิดกว้างแสดงได้เต็มที่ ผลงานชิ้นนี้เป็นของนักเรียนชั้นมอห้า ซึ่งเด็กคนนี้ชื่นชอบและสนใจศิลปะอยู่แล้วด้วย ทำให้สามารถนำเสนอออกมาได้อย่างดี
บรรยากาศห้องเรียนครูแพรวเป็นอย่างไร
ต้องทำให้เด็กมีความสุขก่อน ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ มีความกระตือรือล้นอยากทำกิจกรรมในห้องเรียน สอนทฤษฎี แล้วก็ให้ลงมือปฏิบัติได้เต็มที่ สามารถเลือก นั่ง นอน เปิดเพลงฟัง ได้ตามสบาย ครูจะไม่ได้ตั้งกฎเกณฑ์ เคร่งครัด เด็กก็จะสนุกที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้เล่นได้ละเลงสีสัน
ฟังดูเป็นห้องเรียนศิลปะที่น่าจะมีความสุข
อยากให้ห้องเรียนได้เป็นเซฟโซนให้เด็กๆ ได้พักสมองจากวิชายาก ๆ เหนื่อยมาทั้งวันได้มาใช้ความคิดสร้างสรรค์ผลงาน
สิบปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงหรือความประทับใจอะไรบ้าง
ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็ก ที่มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น ด้วยส่วนหนึ่งเพราะยุคสมัย ซึ่งครูก็ต้องทำความเข้าใจ ยอมรับ ไม่ขัดขวาง ทั้เด็กๆ จะมีความคิดของตัวเอง เป็นตัวของตัวเองสูงกว่าแต่ก่อน
ส่วนในความประทับใจ ความภาคภูมิใจของคนเป็นครูก็เมื่อตอนได้เห็นเด็กเข้าใจในเรื่องที่สอนสามารถนำไปใช้กับชีวิตได้ ยินดีในความสำเร็จก้าวเล็กๆ ของเด็ก
ทั้งนี้จากบทความที่ชื่อ จะสอนศิลปะเด็กอย่างไรดี? ที่เผยแพร่เมื่อปี 2546 ซึ่งก็ยังสามารถปรับใช้ได้ในยุคปัจจุบัน โดยสรุปแนวทางกรอบการสอนไว้เบื้องต้น ดังนี้การสอนศิลปะเด็กนักเรียนแต่ละช่วงวัยจะมีความแตกต่างกัน เพราะธรรมชาติของการรับรู้และการแสดงออกมีความเฉพาะตัว โดยรูปแบบการสอนจะแบ่งออกเป็น 3 วิธี คือ