การทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองอัจฉริยะ ตามแผนพัฒนา Bangkok Smart City เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางสมาร์ทซิตี้ (Smart City) ตามหลักสากล
ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา ผู้สมัครฯ หลายคนได้พูดการทำกรุงเทพฯ ให้เป็น Smart City (สมาร์ทซิตี้) หรือเมืองอัจฉริยะ ซึ่งอันที่จริง การทำให้กรุงเทพฯ เป็น Smart City (สมาร์ทซิตี้) หรือที่เรียกว่า Bangkok Smart City ได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556 - 2575) รวมถึงแผนประกอบอื่นๆ ตามกรอบวิสัยทัศน์ “มหานครแห่งเอเชีย” เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0
Bangkok Smart City ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน
“เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน” คือแนวคิดหลักของ Bangkok Smart City โดยการทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่มีมีการพัฒนาและแก้ปัญหาด้วยวิธีการอันชาญฉลาด เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การบริหารจัดการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน และใช้ประโยชนจากข้อมูล วิธีการ เทคโนโลยีดิจิทัล หรือนวัตกรรมที่ทันสมัยเหมาะสมกับบริบทของเมือง อย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
โดยแบ่งลักษณะเมืองออกเป็น 2 กลุ่ม คือ การฟื้นฟูกลุ่มเมืองเดิม และพัฒนากลุ่มเมืองใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะตามหลักสากล
บทความที่เกี่ยวข้อง
5 อันดับ Smart City 2022 เอเชียเข้าวิน 3 เมือง นำขบวนด้วยเซี่ยงไฮ้ ตามด้วยโซล
District 2020 สมาร์ทซิตี้แห่งใหม่ของ UAE ที่เริ่มจากอีเวนต์ EXPO 2020 Dubai
การพัฒนาเมืองอัจฉริยะตามหลักสากล
การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) ตามหลักสากล ทั้ง 7 ด้าน ได้แก่
1. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)
เมืองที่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการน้ำ การดูแลสภาพอากาศ การบริหารจัดการของเสีย และการเฝ้าระวังภัยพิบัติ ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
2. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)
เมืองที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ และบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เมืองเกษตรอัจฉริยะ เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ เป็นต้น
3. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)
เมืองที่สามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความสมดุล ระหว่างการผลิตและการใช้พลังงานในพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการพึ่งพาพลังงานจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก
4. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)
เมืองที่พัฒนาระบบบริการภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ โดยมุ่งเน้นความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมบริการ
5. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living)
เมืองที่มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกโดยคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย และมีความสุขในการดำรงชีวิต
6. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)
เมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนประเทศ โดยเพิ่มประสิทธิภาพและความเชื่อมโยงของระบบขนส่งและการสัญจรที่หลากหลาย เพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
7. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)
เมืองที่มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนเปิดกว้างสำหรับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน
กรุงเทพฯ เป็นเมืองอัจฉริยะ อันดับที่เท่าไหร่ จากการจัดอันดับ Smart City Index 2021
จากการจัดอันดับ เมืองอัจฉริยะ 2021 (Smart City Index 2021) ของสถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาการบริหารแห่งสวิตเซอร์แลนด์ (IMD) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและการออกแบบของสิงคโปร์ (SUTD) ที่เผยแพร่เมื่อปลายปีที่แล้ว ผลปรากฏว่า กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับที่ 76 ลดลงจากปี 2020 ที่ได้อันดับ 71 ซึ่งก็ต้องลุ้นกันต่อไปว่า ในการจัดอันดับ Smart City Index 2022 ที่คาดว่าผลจะออกช่วงปลายปี 2565 ไทยจะอยู่อันดับที่เท่าไหร่ ส่วน Top 10 Smart City (สมาร์ทซิตี้) ได้แก่เมืองต่อไปนี้
อันดับ 1 สิงคโปร์
อันดับ 2 ซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
อันดับ 3 ออสโล ประเทศนอร์เวย์
อันดับ 4 ไทเป ประเทศไต้หวัน
อันดับ 5 โลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
อันดับ 6 เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์
อันดับ 7 โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
อันดับ 8 เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
อันดับ 9 โอ๊กแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์
อันดับ 10 บิลบาโอ ประเทศสเปน
อ้างอิง
กรุงเทพมหานครเมืองอัจฉริยะ (Bangkok Smart City)
แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี
Smart City คืออะไร? ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง