svasdssvasds

การจัดการภาคประชาชน อุทาหรณ์ ระบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ที่อาจไม่ส่งผลดีเสมอไป

การจัดการภาคประชาชน อุทาหรณ์ ระบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ที่อาจไม่ส่งผลดีเสมอไป

จากกรณีการบุกกุฏิพระเกจิชื่อดัง ที่สร้างความสะเทือนใจและเป็นอุทาหรณ์ให้กับการจัดการภาคประชาชน ในการใช้ระบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ที่จำเป็นต้องมีตรวจสอบให้แน่นชัด โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จึงต้องมีการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ

หลายปีที่ผ่านมา เราๆ ท่านๆ ต่างจับความเคลื่อนไหว โลกและสังคม ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียเป็นส่วนใหญ่

ซึ่งก็เห็นอานุภาพของพลังโซเชียลในทางที่ดีมาหลายครั้ง แต่ก็มีบางพวกเสพติดโซเชียล และหวังพึ่งพาโซเชียลมีเดีย ในการสร้างพื้นที่ให้ตนเองได้เป็นที่รู้จัก

หากแต่การได้มาซึ่งแสงไฟที่จับจ้องเหล่านั้น บางครั้งไฟที่ฉายมาแรงก็กลายเป็นบันไดยกตัวจนสูงส่งเกินกว่าความเป็นจริง

บันไดยกตัวที่ว่า คือภาพที่คิดเอาเองว่า พลังโซเชียล หรือพลังชาวเน็ต จะปกป้องจากภยันตรายรอบด้านได้หมด เป็นผู้ทรงอานุภาพ ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ฟาดได้ฟาด ชาวเน็ตชอบ ถึงลูกถึงคน

แล้ววันนั้นก็มาถึง เมื่อมือปราบโซเชียล หรือการจัดการภาคประชาชนเดินพลาด ขาดการยั้งคิด มุ่งหน้าใช้รูปแบบ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน จนลืมคิดหน้าคิดหลัง และหาทางออกที่ดีให้กับเรื่องราว

ไม่ผิดที่หลายครั้ง พลังการจัดการภาคประชาชนเหล่านี้ สามารถแก้ไขจัดการ สิ่งที่ประชาชนหมดหวัง กับการพึ่งพาภาครัฐ

สามารถช่วยแก้ไขปัญหา คลี่คลาย กำจัดสิ่งไม่ดีออกจากระบบสังคม ช่วยเหลือผู้คนจำนวนมากให้ได้รับโอกาสในการใช้ชีวิตต่อ

แต่ไม่ใช่เสมอไปที่กระบวนการลักษณะนี้ ควรผ่านการคิดไตร่ตรองใคร่ครวญให้หนัก โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อและความศรัทธา หรือเรื่องศาสนา ไม่ว่าศาสนาใดก็ตาม

จริงอยู่ ถ้ามองที่เจตนาอาจเป็นเจตนาที่ดี หวังขจัดเหลือบริ้นไร ที่ไต่ตอมพระพุทธศาสนา

แต่ยิ่งทำ ผู้คนก็ยิ่งมองภาพศาสนา ตกต่ำและ ถดถอยลงไปทุกที โดยเฉพาะในเวลาที่ผู้คนเชื่อโซเชียลมากกว่าบุคคลเช่นนี้

"หลวงปู่แสง" ญาณวโร พระเกจิชื่อดัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ที่ว่ามานี่ ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรทำ เมื่อชีวิตจริง เรายังหวังพึ่งพาภาครัฐไม่ได้ทุกเรื่อง แต่ก็ควรละเอียดรอบคอบกับความหวังดีที่จะอาสาเข้าไปตรวจสอบให้มากๆ

กรณีล่าสุด หากมีการคิดหน้าคิดหลัง หลังได้รับหลักฐาน ตรวจสอบทำความเข้าใจในหลากหลายมุม ไม่มุ่งแต่จะฟาดฟันกันให้ตายไปข้าง อาจจะพบทางออกที่ดี และการจัดการที่ดี

ดีกว่าการไปนั่งคาดคั้นคนแก่อายุร่วม 100 ปี ให้ตอบคำถามอย่างเอาเป็นเอาตาย

สื่อเองก็เฮโลตาม เอาไฟไปฉาย เอากล้องไปจับจ้องจนเหมือนคนบางคนมีดาบอาญาสิทธิ์ สั่งเป็นสั่งตายใครก็ได้

พอผิดพลาดมา ก็ย้อนเวลาไปแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่สิ่งที่เผยแพร่ออกไปแล้ว มันได้ทำลายชีวิตคนบางคนไปเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

"หลวงปู่แสง" ญาณวโร พระเกจิชื่อดัง

เพราะเหตุนี้ บทบาทของการเป็นสื่อ ถึงต้องเป็นวิชาชีพที่เฉพาะต้ว

มีการสั่งสอน บอกกล่าว ฝึกฝนต่อเนื่องให้พิจารณา กลั่นกรอง ข้อมูลก่อนนำเสนอออกไป

เพราะสื่อมวลชนมีอิทธิพล ชี้นำความคิดคนในสังคม

แต่กาลปัจจุบัน สื่อมวลชนเกาะอินฟูเอนเซอร์ทำข่าว เขามายังไงก็ไปอย่างนั้น

ไม่ตรวจสอบก่อนนำเสนอ เขาแจกหมายให้ไปทำข่าวไลฟ์สด ก็เฮโลตามกันไป ยิงคำถามใส่เป้าหมายเป็นปืนกล

เรื่องทั้งหมดนี้คงไม่เกิด ถ้าใจเย็นลงอีกนิด คิดไตร่ตรองหน้าหลังให้มากกว่านี้

ข้อเท็จจริงก็จะปรากฏ ทางออกที่ดีสำหรับทุกกรณี ก็จะเกิด เพราะคงไม่มีใคร หวังบดขยี้ใครให้จมดิน ทั้งที่ไม่รู้จักกัน

สรุป สองฝ่ายที่ควรกลับไปคิดใคร่ครวญ คือ พลังการจัดการภาคประชาชน และ ตัวสื่อมวลชนเอง

ขอยกตัวอย่างคดีเก่า จากในอดีตเรื่องเล่าจากนักข่าวอาวุโส ที่สะท้อนมุมมองกรณีนี้ได้ดี

เมื่อราวปี พ.ศ. 2551 มีผู้ปล่อยภาพหลุด สีกาขึ้นคร่อมพระสงฆ์ระดับเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่ง

ยุคนั้นสมัยนั้น สื่อโซเชียลมีเดียยังไม่ตามมาหลอกหลอนผู้คนเช่นสมัยนี้

สื่อยังไม่ช่วงชิงเรทติ้งกันด้วยการขายข่าวตามกระแสโซเชียล (เพราะมันยังไม่มี)

หลังมีภาพปรากฏ สื่อในยุคนั้น ร่วมกันตรวจสอบหาที่มาที่ไป สืบค้นจนพบว่า

พระรูปนั้นถูกนายทหารยศนาวาอากาศโทคนหนึ่งตั้งกล้องจัดฉาก หวังแบล็คเมล์เรียกเงินหลักล้าน

เรื่องราวจึงคลี่คลาย พระรูปนั้นต่อมาก็ยังมีผู้ให้ความเคารพศรัทธา กระทั่งมรณภาพหลังจากนั้นในอีก 5 ปีต่อมา

ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องราวในอดีตที่สื่อมวลชนร่วมกันตรวจสอบกับชาวบ้าน โดยไม่รอภาครัฐเช่นกัน

ภาพจาก คมชัดลึก : เปิดเส้นทางธรรม "หลวงปู่แสง" 98 ปี 74 พรรษา กับฉายาที่แท้จริง ที่ไม่ใช่ญาณวโร

related