svasdssvasds

ย้อนปมร้าว 33 ปี ไทยกับซาอุดีอาระเบีย ก่อนความสัมพันธ์ได้รับการฟื้นฟู

ย้อนปมร้าว 33 ปี ไทยกับซาอุดีอาระเบีย ก่อนความสัมพันธ์ได้รับการฟื้นฟู

ย้อนปมร้าว 33 ปี ไทยกับซาอุดีอาระเบีย ที่มีแนวโน้มจะคลี่คลายและได้รับการฟื้นฟู จากการที่นายกฯ ไทย ได้เดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบีย อย่างเป็นทางการ

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม มีกำหนดการเดินทางเยือนและพบผู้นำระดับสูงของประเทศซาอุดีอาระเบีย อย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 25 – 26 มกราคม 2565 ถือว่าเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ เพราะตลอดระยะ 33 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2532 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง ผ่านมากี่รัฐบาล ไทยก็ไม่สามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้กลับมาแนบแน่นได้อีก

ช่วงที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศยังชื่นมื่นอยู่นั้น ซาอุดีอาระเบีย คือตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของไทย เพราะในแต่ละปีมีชาวไทยเดินทางไปทำงานที่ประเทศดังกล่าวนับแสนราย แต่แล้วความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองก็เริ่มสั่นคลอน จากหลายๆ เหตุการณ์ที่เข้ามาซ้ำเติมดังต่อไปนี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เดินทางเยือนและพบผู้นำระดับสูงของซาอุดีอาระเบีย

ข่าวที่น่าสนใจ

ปฐมบทแห่งสัมพันธ์ร้าว : ต้นปี 2532

เมื่อเดือนมกราคม 2532 เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบียถูกลอบสังหารกลางกรุงเทพฯ แม้จะมีการนำผู้ต้องสงสัยมาสืบสวน แต่ทางการไทยก็ไม่สามารถจับคนร้ายตัวจริงมาดำเนินคดีได้ เมื่อเวลาเนิ่นนานไป ก็ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับซาอุดีอาระเบีย

คดีเพชรซาอุฯ : สิงหาคม 2532  

หลังจากเหตุการณ์ลอบสังหารเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบีย ที่เริ่มสั่นคลอนความสัมพันธ์ เพราะการสืบสวนของทางการไทยไม่มีความคืบหน้า ต่อมาในเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน ก็เกิดคดีเพชรซาอุฯ ซ้ำเติมสถานการณ์ที่กำลังย่ำแย่ ให้หนักหนาสาหัสเข้าไปอีก

โดยคดีมหากาพย์นี้ มีจุดเริ่มต้นจากแรงงานไทย เกรียงไกร เตชะโม่ง ที่เข้าไปทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดภายในพระราชวังของกษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย ได้ก่อเหตุโจรกรรมเครื่องเพชรน้ำหนักกว่า 90 กิโลกรัม แล้วเดินทางหลบหนีกลับประเทศไทย ทางการซาอุดิอาระเบียจึงได้ประสานให้ทางการไทยจับกุมผู้กระทำผิด และให้ส่งมอบเครื่องเพชรทั้งหมดคืน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เดินทางเยือนและพบผู้นำระดับสูงของซาอุดีอาระเบีย

ซาอุฯ โวย ไทยส่งเพชรปลอมให้มากกว่าครึ่ง และการหายสาบสูญของบลูไดมอนด์ : ปี 2533

คดีนี้ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าชุดสอบสวน และสามารถจับกุมเกรียงไกรได้ในปี 2533 โดยผู้ต้องหาได้ยอมสารภาพและบอกว่านำเพชรไปซ่อนและขายให้กับใครบ้าง จึงมีการติดตามเครื่องเพชรและได้คืนมาเป็นจำนวนมาก ก่อนส่งมอบให้กับทางการซาอุดีอาระเบียต่อไป

แต่แทนที่สถานการณ์จะดีขึ้น กลับสร้างความโกรธเคืองให้กับซาอุดีอาระเบียยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อปรากฏว่า เครื่องเพชรส่วนใหญ่ที่ส่งมอบคืน เป็นของปลอมมากกว่าครึ่ง รวมถึงเครื่องเพชรชิ้นสำคัญ บลูไดมอนด์ ที่ซาอุดิอาระเบียต้องการได้คืนมากที่สุด ก็ยังสาบสูญจนถึงทุกวันนี้

เจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบีย 3 รายถูกลอบสังหาร : กุมภาพันธ์ 2533  

เรื่องเพชรซาอุฯ ยังเคลียร์กันไม่จบ ก็เกิดเหตุที่ทำให้สถานการณ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียตึงเครียดขึ้นอีก

ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2533 เจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบียถูกลอบสังหารในกรุงเทพฯ อีก 3 ราย ซึ่งทางการไทยไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เดินทางเยือนและพบผู้นำระดับสูงของซาอุดีอาระเบีย

นักธุรกิจและสมาชิกราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย หายตัวไปอย่างลึกลับ : กุมภาพันธ์ 2533

และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับ 3 เจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบียถูกลอบสังหาร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2533 นายมูฮัมมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจและสมาชิกราชวงศ์ของซาอุดีอาระเบีย ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ ซึ่งการสืบสวนของไทยก็แทบไม่มีความคืบหน้า รวมถึงคดีอื่นๆ ก่อนหน้านั้น

ในเวลาต่อมาซาอุดีอาระเบียจึงตอบโต้ด้วยการประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย ลดระดับความร่วมมือระดับสูงในทุกๆ ด้านลงมาอยู่ระดับต่ำสุด และตั้งข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานไทยในการเข้าไปทำในซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งห้ามชาวซาอุฯ เดินทางมาประเทศไทยอีกด้วย

สั่งฟ้อง 5 ผู้ต้องหา คดีร่วมกันฆ่านักธุรกิจและสมาชิกราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย : ปี 2553

ผ่านไปเกือบ 20 ปี จนคดีเกือบหมดอายุความ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้สั่งฟ้อง 5 ผู้ต้องหา ซึ่งเป็นนายตำรวจระดับสูงกับพวก ในข้อหาร่วมกันฆ่านายมูฮัมมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจและสมาชิกราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย ทำให้มีแนวโน้มว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียอาจะได้รับการฟื้นฟูหลังจากแทบขาดสะบั้นมาร่วม 20 ปี

แต่ในเวลาต่อมา นายตำรวจดังกล่าวกลับได้รับเลื่อนตำแหน่ง ทำให้ทางการซาอุดีอาระเบียได้ออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจ ในเดือนมีนาคม ปี 2557 นายตำรวจและพวกรวม 5 รายก็ได้รับการยกฟ้อง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เดินทางเยือนและพบผู้นำระดับสูงของซาอุดีอาระเบีย

คดีความต่างๆ ไม่กระจ่าง แต่ทำไมท่าทีซาอุฯ จึงเปลี่ยนไป

แม้การยกฟ้องในคดีร่วมกันฆ่านักธุรกิจและสมาชิกราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย ในปี 2557 จะเสมือนเป็นการตอกย้ำให้ซาอุดีอาระเบียไม่พอใจไทยหนักขึ้นไปอีก แต่ในปีเดียวกันนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบียได้เดินทางมาเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ครั้งที่ 2

แต่ปัจจัยสำคัญที่คาดว่านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงท่าทีของซาอุดีอาระเบียต่อไทย น่าจะมีที่มาจากปี 2558 ที่ซาอุดีอาระเบียมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางการเมือง ทำให้คนรุ่นใหม่อย่าง เจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน อัล ซาอุด เข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศ และได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก รวมถีงการแสดงท่าทีพร้อมจะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทย โดยในปีที่แล้ว  ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว. การต่างประเทศ ก็เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย อย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของ รมว.การต่างประเทศ ซาอุดีอาระเบีย

กระทั่งในปีนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย ตามคำเชิญของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ซึ่งมีนัยยะสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูความสัมพันธ์ และแน่นอนว่าจะส่งผลดีให้กับทั้งสองประเทศเป็นอย่างมาก และเป็นโอกาสของไทยในการเปิดตลาดแรงงานในซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง ร่วมถึงการขยายตลาดการส่งออก และการท่องเที่ยวอีกด้วย 

แหล่งข้อมูล

“ดอน”เปิดเบื้องหลัง “บิ๊กตู่” เยือนซาอุฯ ในรอบ 30 ปี เพื่อฟื้นความสัมพันธ์

ย้อนไทม์ไลน์สายสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย

เพชรซาอุฯ: ยังไม่พบ “บลูไดมอนด์” คดีอื่นก็ไม่จบ เหตุใดซาอุดีอาระเบียกลับมาฟื้นสัมพันธ์กับไทย

 

related