svasdssvasds

ระบบเลือกตั้งเดิม กับ ระบบเลือกตั้งใหม่ แตกต่างกันอย่างไร ?

ระบบเลือกตั้งเดิม กับ ระบบเลือกตั้งใหม่ แตกต่างกันอย่างไร ?

ความแตกต่างของระบบเลือกตั้งเดิม กับ ระบบเลือกตั้งใหม่ ที่ผ่านการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่ 3 ซึ่งจะใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

การโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่ 3 ในวันนี้ ถูกจับตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะแสดงให้เห็นทิศทางการเมืองนับจากนี้ ให้ชัดเจนขึ้นอีกระดับหนึ่ง

ซึ่งจากการที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ถูกปลดจากตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ ซึ่งเป็นผู้ที่บทบาทสำคัญในขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้  ก็มีการคาดการณ์กันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้ง อาจจะแท้งกลางสภา

แต่แล้วในที่สุด การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว ในวาระที่ 3 ก็ผ่านการโหวตในสภา ทำให้แน่นอนแล้วว่า ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไทยจะกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งรูปแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เคยทำให้พรรคไทยรักไทย และเพื่อไทย ได้ ส.ส.แบบแลนด์สไลด์ เข้าสภา

แล้วทั้ง 2 รูปแบบแตกต่างกันอย่างไร ? SpringNews เคยนำเสนอไปบทความก่อนหน้านี้แล้ว จึงขอนำมาทบทวนอีกครั้ง ดังนี้

สภา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หากให้กล่าวตรงๆ แบบไม่อ้อมค้อม ระบบการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือแบบเดิมนี้ เป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม Mixed Member Apportionment หรือ MMA มีวัตถุประสงค์สกัดพรรคเพื่อไทย ไม่ให้กลับมาผงาดในสภาได้อีก และยังมีการกันเหนียว ด้วยการให้อำนาจ 250 ส.ว. (บทเฉพาะกาล) ที่แต่งตั้งโดย คสช. ให้สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้

ส.ส.ของระบบเลือกตั้งฉบับนี้ จะมี 2 ประเภท คือ ส.ส.เขต จำนวน 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.พึงมี 150 คน แต่มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว

ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในเขต จะเป็น ส.ส. โดยอัตโนมัติ แต่ทุกคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองจะถูกนำมาคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมี ด้วย

หลังจากนั้น ก็นำจำนวน ส.ส.พึงมี ที่พรรคควรจะได้ (อิงจากคะแนนเสียงรวมทั้งหมดของประเทศ) ไปลบกับจำนวน ส.ส. แบบเขต ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือจำนวน ส.ส.พึงมี ของพรรคนั้นๆ

และด้วยสูตรการคิดจำนวน ส.ส. พึงมี ของระบบเลือกตั้งนี้ ทำให้พรรคเพื่อไทยที่ได้จำนวน ส.ส.เขตมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ในการเลือกตั้ง ปี 2562 กลับไม่ได้ “ส.ส.พึงมี” เลยสักคน และส่งผลให้มีพรรคการเมืองในสภาเป็นจำนวนมาก

แน่นอนว่า ระบบการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ปี 2560 แม้จะสามารถสกัดกั้นไม่ให้พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ได้ ส.ส.เกินครึ่งสภา แต่ก็สร้างความปวดหัวให้กับพรรคแกนนำไม่ใช่น้อย ที่ต้องอาศัยพรรคร่วมฯ หลายๆ พรรค เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาล

ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่

ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ โดยสรุปสาระสำคัญให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ก็คล้ายกับระบบเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นระบบแบบผสมเสียงข้างมาก Mixed Member Majoritarian หรือ MMM มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันพรรคการเมือง

โดยความเป็นมาของระบบนี้ ต้องย้อนไปก่อนปี 2540 เนื่องจาก สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เห็นว่า ระบบการเลือกตั้งก่อนหน้านั้น ทำให้มีหลายพรรคการเมืองมากเกินไป รัฐบาลจึงไม่มีเสถียรภาพ และอยู่ได้ไม่ครบเทอม 4 ปี จึงผลักดันนโยบายต่างๆ ได้อย่างไม่ต่อเนื่อง และหลายนโยบายต้องหยุดชะงัก กระทบกับการพัฒนาประเทศในระยะยาว

ระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 จะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ประกอบด้วย 1. บัตรเลือก ส.ส.เขต 2. บัตรเลือกพรรค (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) โดยกำหนดให้มี ส.ส.เขต จำนวน 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

ซึ่งถ้าให้เปรียบเทียบกันแล้ว ระบบเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซับซ้อนน้อยที่สุด เพราะในส่วนของการหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ใช้บัตรเลือกตั้งใบที่ 2 นำมาคิดหาสัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค  

ระบบการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ใช้ครั้งแรกในการเลือกตั้ง ปี 2544 ที่พรรคไทยรักไทย ของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ ส.ส.แบบแลนสไลด์ 248 คน จาก 500 ที่นั่งในสภา ส่งผลให้ไทยรักไทย แทบจะตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เลย และถึงแม้จะดึงพรรคอื่นมาร่วมในรัฐบาลด้วย แต่ก็แทบไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ทำให้เสถียรภาพรัฐบาลในยุคนั้น อยู่ในระดับแข็งโป๊ก และสามารถอยู่ได้ครบเทอม 4 ปี

และการเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี 2548 พรรคไทยรักไทย ก็ทำลายสถิติตัวเอง กวาด ส.ส. เข้าสภาได้ถึง 377 คน

สภา

การเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2550 - 2562  

แต่หลังจากการการรัฐประหารในปี 2549 ทำให้รัฐธรรมนูญปี 2540 ต้องสิ้นสุดไปโดยปริยาย และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ในเวลาต่อมา โดยระบบเลือกตั้ง ยังคงเป็นบัตร 2 ใบ แบ่งพื้นที่การเลือกตั้งออกเป็นกลุ่มจังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์สกัดพรรคพลังประชาชน หรือ ไทยรักไทย (เดิม) แต่สุดท้าย พลังประชาชนก็สามารถกวาด ส.ส.เข้าสภาได้มากที่สุด และกลายเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ต่อมาก็เกิดการพลิกเกมในสภา โดย นายสุเทพ เทือกสุวรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในเวลานั้น ได้ดึง ส.ส.กลุ่มนายเนวินเข้ามาเป็นพวก ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรค ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ช่วงปลายปี 2551  

และในการเลือกตั้งปี 2554 ที่ตอนนั้นพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำรัฐบาล ก็ได้มีการกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญปี 2540 ผลที่ตามว่าคือ พรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำทัพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของนายทักษิณ กวาดที่นั่งในสภาได้ถึง 265 ที่นั่ง

แต่หลังการรัฐประหารในปี 2557 ของ คสช. ในเวลาต่อมา ก็เป็นจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญปี 2560 และระบบเลือกตั้งแบบ MMA ที่ใช้ในการเลือกตั้งปี 2562 ที่แม้ว่าพรรคเพื่อไทย จะได้ ส.ส.เขต มากที่สุด แต่ไม่ได้ ส.ส.พึงมี หรือบัญชีรายชื่อ แม้แต่คนเดียว และส่งผลให้ในสภามีพรรคเล็กๆ เป็นจำนวนมาก

ระบบเลือกตั้งเดิม กับ ระบบเลือกตั้งใหม่ แตกต่างกันอย่างไร ?

ที่มา “ระบบเลือกตั้ง” ประเด็นที่ต้องจับตา ในศึกแก้รัฐธรรมนูญ รอบใหม่

related