svasdssvasds

รังสิมันต์ โรม ชี้ แก้รัฐธรรมนูญไม่ชอบธรรม เตือนรัฐสภา คิดให้ดีก่อนลงมติ

รังสิมันต์ โรม ชี้ แก้รัฐธรรมนูญไม่ชอบธรรม เตือนรัฐสภา คิดให้ดีก่อนลงมติ

รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล เตือนรัฐสภา คิดให้ดีก่อนลงมติโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ชี้ ไม่ชอบธรรมทั้งเนื้อหา กระบวนการ และการมีส่วนร่วมของประชาชน

ในวันที่ 10 ก.ย. นี้ -รัฐสภาทั้งในส่วนของ ส.ส. และ ส.ว. จะมีพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91ว่าด้วยระบบเลือกตั้งวาระที่ 3 โดยหลักใหญ่ๆ ก็คือ เปลี่ยนจากบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ มาเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

ก่อนหน้านี้การโหวต ครั้ง 1 มีญัตติที่เสนอทั้งสิ้น 12 ญัตติ โดยในประเด็นเปลี่ยนเป็นใบเลือกตั้ง 2 ใบ มีทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอเข้ามา

จาก 12 ญัตติ ก็มีเพียงญัตติเดียวที่เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง ซึ่งเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ผ่านความเห็นชอบ และได้มีการพิจารณาในวาระที่ 2 ไปแล้ว ส่วนในวาระที่ 3 ที่กำลังจะโหวตนี้ ก็ต้องจับตาว่า จะผ่าน หรือถูกคว่ำการสภา ?

โดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความถึงการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ดังนี้

การแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรมทั้งเนื้อหา กระบวนการ และการมีส่วนร่วมของประชาชน คิดให้ดีก่อนจะลงมติ

ในวันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 นี้ จะถึงวาระที่รัฐสภาจะต้องมาพิจารณาเพื่อลงมติกันเป็นครั้งสุดท้าย ว่าจะเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องระบบเลือกตั้งหรือไม่

รังสิมันต์ โรม

การเปลี่ยนมาใช้บัตรเลือก 2 บัตร เหมือนจะดี แต่เป็นการเอื้อพรรคตัวเอง

ความพยายามแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ริเริ่มขึ้นโดยพรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำรัฐบาลอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าสิ่งที่พรรคพลังประชารัฐเสนอมาจะมีหน้าตาแบบเดียวกันกับระบบเลือกตั้งในอดีต ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีที่ได้แก้ปัญหาของระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว

แต่แท้จริงแล้วที่ทำไปก็เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคตัวเองเท่านั้น เนื่องจากระบบเลือกตั้งที่ใช้อยู่นี้เริ่มกลายมาเป็นอุปสรรคในการเพิ่มจำนวน ส.ส. ของพรรคตัวเองให้มากกว่าเดิมไปเสียแล้ว

พอเข้าสู่กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญในรัฐสภา 3 วาระ ก็เริ่มเห็นพิรุธมากขึ้นเรื่อยๆ คือเมื่อเข้าสู่วาระที่ 2 ตั้งกรรมาธิการพิจารณารายมาตราซึ่งมี ส.ส. พรรคพลังประชารัฐเป็นประธาน ก็มีความพยายามที่จะแก้ให้เกินกว่าหลักการของร่างที่รับมา แรกสุดถึงกับพยายามเอาร่างที่ตกไปแล้วสอดไส้เข้ามาใหม่

พอถูกค้านหนักก็ทำท่าเหมือนจะถอย แต่ก็ยังแอบแทรกเนื้อหาที่เกินหลักการเข้ามาอยู่ดี ทำราวกับว่าหลักการของรัฐสภาที่เคยยึดถือกันมานั้นไม่มีความหมาย อยากจะทำอย่างไรก็ทำไปโดยไม่สนใจว่าจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานผิดๆ ให้กับการเมืองไทยหรือไม่ ขนาดในที่ประชุมมีการพยายามทักท้วงให้หาข้อสรุปให้ได้ก่อนว่าแก้ได้มากน้อยแค่ไหน ก็ไม่รับฟัง ดึงดันจะเดินหน้าต่อไป

จนกระทั่งผลักดันในชั้นกรรมาธิการออกมาได้ เตรียมรอเสนอสภา ปรากฏว่าเมื่อถูกคัดค้านอีก ก็รีบไปตัดเนื้อหาที่เพิ่มเข้ามาทิ้งกันในเช้าวันที่จะเสนอสภานั้น สรุปแล้วที่ทำๆ กันไปก็ยังไม่แน่ใจกันเองเลยว่า มีอำนาจหน้าที่ทำได้หรือไม่ เลยต้องมาถอนด่วนกันในชั่วโมงสุดท้ายแบบนี้

แม้จะใช้บัตร 2 ใบ แต่ขาดการกำหนด ส.ส.พึงมี

และแล้วผลผลิตที่ออกมาก็เป็นระบบเลือกตั้งที่แม้จะมีบัตรสองใบแล้ว แต่ขาดการกำหนดกรอบ ส.ส. พึงมี ทำให้บางพรรคการเมืองได้ ส.ส. มากเกินสัดส่วนของเสียงประชาชนที่เลือกพรรคนั้นๆ ในขณะที่พรรคอื่นๆ ถูกบีบให้ได้ ส.ส. น้อยกว่าที่ควรจะได้ เกิดปัญหาจำนวน ส.ส. ไม่สอดคล้องกับคะแนนนิยมที่แท้จริงของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานนับสิบปีแล้ว

ยัน พรรคก้าวไกล เห็นด้วยกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ต้องกำหนดกรอบ ส.ส.พึงมีไว้ด้วย

ซึ่งสำหรับพรรคก้าวไกลนั้น เราเห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นควรที่จะต้องรักษาการกำหนดกรอบ ส.ส. พึงมีไว้ด้วย เพื่อให้ประชาชนได้เลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบ ในสัดส่วนที่ถูกต้อง

การที่พรรคพลังประชารัฐ ในอดีตสมัยเป็น คสช. ยังเคยอวดอ้างสรรพคุณของเรื่อง ส.ส. พึงมีไว้หนักหนา แต่วันนี้สิ่งที่เขียนด้วยมือกลับจะมาลบทิ้งด้วยเท้า แสดงให้เห็นว่าพรรคการเมืองนี้มุ่งเพียงสืบทอดอำนาจของ คสช. เท่านั้น ไม่ได้ยึดถือหลักการอะไรจริงๆ เลย

รังสิมันต์ โรม

ประชาชน ไม่มีส่วนรวมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้

และที่มากไปกว่านั้น ที่พยายามแก้รัฐธรรมนูญกันในเรื่องที่เป็นพื้นฐานที่สุดของระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 50 ล้านคน กลับไม่มีการเปิดให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจเลยว่าเขาต้องการระบบเลือกตั้งแบบไหนกันแน่ มีแต่ความเร่งรีบเหลือเกินที่เอาให้ได้อย่างที่ตัวเองต้องการ จนถึงกับทิ้งขว้างหลักการที่ควรจะเป็น

นี่จึงเป็นการแก้รัฐธรรมนูญที่ขาดความชอบธรรมทั้งในแง่ของเนื้อหา กระบวนการ และการมีส่วนร่วมของประชาชน และในการนี้ผมอยากฝากไปถึงเพื่อนสมาชิกรัฐสภาที่กำลังจะลงมติในวันศุกร์นี้ ขอให้คิดทบทวนด้วยว่าการลงมติของพวกท่านนั้น กำลังจะไปรับรองความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้นนี้หรือไม่

พรรคก้าวไกล

ที่มา FB : Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม : การแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรมทั้งเนื้อหา กระบวนการ และการมีส่วนร่วมของประชาชน คิดให้ดีก่อนจะลงมติ

related