svasdssvasds

เปิดใจ ไฮโซลูกนัท ผู้ที่เรียกตัวเองว่า “สลิ่มกลับใจ”

เปิดใจ ไฮโซลูกนัท ผู้ที่เรียกตัวเองว่า “สลิ่มกลับใจ”

SpringNews สัมภาษณ์เปิดใจแบบเจาะลึก “ไฮโซลูกนัท” หรือ “ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย” อดีต กปปส. ที่วันนี้ประกาศเปลี่ยนจุดยืนทางการเมือง พร้อมเรียกตัวเองอย่างเต็มภาคภูมิว่า “สลิ่มกลับใจ”

เรียกได้ว่า เป็นปรากฎการณ์ระดับเซอร์ไพรส์ สำหรับการออกมาประกาศและเรียกตัวเองว่า สลิ่มกลับใจ ของ “ไฮโซลูกนัท” หรือ “ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย” ซึ่งด้วยแนวทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมอย่างสุดขั้ว ที่พร้อมจะชนกับทุกคนที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ช่วงที่เขาเคลื่อนไหวกับกลุ่ม กปปส. ทำให้การเปลี่ยนแปลงของลูกนัท สร้างความสนใจให้สังคมเป็นอย่างมาก

โดยลูกนัทได้เปิดบ้านพักย่านพัฒนาการให้ SpringNews สัมภาษณ์เปิดใจแบบเจาะลึก ตั้งแต่ช่วงที่เขายังเป็น กปปส. กระทั่งต่อมากลายเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และในวันนี้ที่เข้าร่วมม็อบต่อต้านรัฐบาล ประกาศจุดยืน นายกฯ ต้องลาออก

การเปลี่ยนผ่านในลักษณะเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะมันหมายถึงการยอมรับว่า สิ่งที่ตัวเองเคยเชื่อ เคยศรัทธา มันคือความเข้าใจผิด รวมถึงการกระทำต่างๆ ก่อนหน้านี้ มันคือความผิดพลาด โดยลูกนัทได้เล่าเรื่องราวความเป็นมาของเขา ทั้งเส้นทางสายเดิม จุดเปลี่ยน และเส้นทางสายใหม่ที่กำลังก้าวเดิน ดังต่อไปนี้ 

ไฮโซลูกนัท

จุดเริ่มต้นของความสนใจด้านการเมือง

เมื่อ SpringNews ถามว่า ความสนใจการเมืองของลูกนัท มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด เขาก็ร้องโอ้โหขึ้นมาในทันที เพราะถ้าให้ไล่เรียง มันก็ยาวนานพอสมควร

“น่าจะตั้งแต่สมัยประถม ตอนที่คุณทักษิณลงเลือกตั้งครั้งแรก ตอนนั้นเป็นกระแสที่ฮือฮา ระหว่างคุณชวน หลีกภัย (นายกฯ ในเวลานั้น) กับคุณทักษิณที่เป็นนักธุรกิจมาท้าชิง เริ่มได้ยินคำว่าปาร์ตี้ลิสต์ สื่อมวลชนก็ให้ความสนใจ เวลาดูทีวีก็จะพูดถึงเรื่องการเลือกตั้ง เหมือนเป็นประเด็นที่จุดประกายให้อยากรู้จักและเข้าใจการเมือง

“พอไปเรียนต่อที่อังกฤษ วันหนึ่งอาจารย์ฝ่ายปกครองเรียกให้ไปพบ ผมก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น ฉันทำอะไรผิด โดนอีกแล้ว เพราะเป็นเด็กเกเรในระดับหนึ่ง คิดว่ากูโดนอีกแล้ว ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง

“แล้วอาจารย์ก็บอกว่า ที่เมืองไทยมีการรัฐประหารนะ ยูรู้หรือเปล่า เพราะว่าในสังคมโลกตะวันตก การรัฐประหารมันเป็นเรื่องใหญ่มาก คือวันนั้นอาจารย์เรียกนักเรียนไทยทุกคนออกมาคุย อารมณ์ประมาณว่า ประเทศชาติกำลังพิบัติ กำลังจะพินาศ

“ผมโทรไปถามที่บ้าน เขาก็บอกว่า มีรถถังออกมา แต่ไม่มีอะไร เรื่องปกติ ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วงหรอกลูกกลับไปเรียนเถอะ เราก็งง อะไรวะ อาจารย์ทำท่าเหมือนประเทศนี้วิบัติล่มสลาย แต่ที่บ้านบอกชิลล์ ชิลล์ ไม่มีอะไร 

“พอผมกลับบ้านตอนปิดเทอม เป็นช่วงที่พันธมิตรปิดสนามบิน ก็เริ่มพยายามทำความเข้าใจการเมือง รู้เรื่องการเมืองมากขึ้น แต่ก็ไม่ถึงขั้นที่ว่าชัดเจนนัก เพราะเหมือนกับว่าสิ่งที่รับฟังมาแทบจะผิดหมดเลย หรือว่าฟังความข้างเดียวมาโดยตลอด

“ค่อยๆ ซึมซับข้อมูลการเมืองมาเรื่อยๆ แต่ต้องเรียกว่า ซึมซับแต่วัฒนธรรมที่แย่ๆ ของการเมืองไทย ที่มีแต่การต่อสู้ การฆ่าฟันกัน การอาฆาตแค้น การเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน ถูกปลูกฝังภาพอย่างนี้มาตั้งแต่เด็ก ภาพลักษณ์ของการเมืองไทย คือการเป็นศัตรูกัน แล้วเล่นกันแบบเอาเป็นเอาตาย มีการชุมนุมกันมาโดยตลอด ก็ติดอยู่ในวังวนนี้ จนแทบจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ”

ไฮโซลูกนัท

ร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส.

ด้วยเวลานั้น ลูกนัทมีแนวทางที่เลือกข้างทางการเมืองอย่างชัดเจน เมื่อ กปปส. ออกมาเคลื่อนไหว ช่วงปลายปี 2556 ถึงกลางปี 2557 เขาก็เข้าร่วม และด้วยสไตล์ฮาร์คอร์สุดขั้ว ถึงลูกถึงคน ทำให้เขามีบทบาทอยู่ในระดับที่ถือว่าค่อนข้างโดดเด่น 

“ช่วงนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า กปปส. ใช้วิธีแบบซูเปอร์พีอาร์ ใครที่เข้ามาร่วมชุมนุมถ้ามีจุดขายหน่อย มีชื่อเสียง ก็จะถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์

 “ตอนนั้นมันเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย มีกลยุทธ์ใหม่ๆ โดยใช้การพีอาร์ตัวบุคคลเป็นหลัก ในการที่จะสร้างความชอบธรรมว่า คนนั้นก็มา คนนี้ก็มา”

“(หลังรัฐประหาร) ผมก็เข้าพรรคประชาธิปัตย์ จริงๆ ช่วงแรกยังไม่สามารถสมัครได้อย่างเป็นทางการ เพราะว่ามีการปิดล็อกทางการเมือง ตอนนั้นอยู่ในวัยที่โตพอที่จะเริ่มตัดสินใจได้แล้วว่า อนาคตอยากทำอะไร ซึ่งเราก็สนใจการเมือง มี Passion ทางการเมืองมาตั้งแต่เด็ก อยากจะมีจุดยืน อยากจะได้ทำอะไรในทางการเมือง แล้วก็เลือกพรรคที่เราชอบที่สุดในเวลานั้น นั่นก็คือพรรคประชาธิปัตย์”

ไฮโซลูกนัท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จุดเปลี่ยนทางการเมือง จุดเปลี่ยนของชีวิต

ลูกนัทบอกเล่าว่า เขาเกิดความรู้สึกไม่ค่อยเห็นด้วย ตั้งแต่มีการยึดอำนาจ เป็นคำถามที่ค้างคาใจว่ามันใช่วิธีการที่ถูกต้องหรือ ? กระทั่งมาถึงข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ให้อำนาจ ส.ว. 250 คนในบทเฉพาะกาล 5 ปี สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ ก็ยิ่งตอกย้ำทำให้เขาต้องคิดใคร่ครวญ แต่ยังมีความหวังลึกๆ ว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ตนสังกัดชนะการเลือกตั้ง สิ่งต่างๆ ก็จะเข้าที่เข้าทางยิ่งขึ้น 

“ถ้าย้อนกลับไปดูตอนที่ชุมนุม ไม่มีการเรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร แต่ตอนใกล้จะจบ บางคนก็บอกว่า ทหารออกมาได้แล้ว

“แต่ทหารออกมาได้แล้วในที่นี้ อาจหมายถึงว่า ให้มายุติสถานการณ์ ให้มายุติความรุนแรง เต็มที่คือมายุติ ยึดอำนาจชั่วคราว แล้วก็คืนอำนาจให้ประชาชน แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่เกิดขึ้น

“บางคนก็ถามว่า เมื่อไหร่เขาจะคืน จะทำตามสัญญา คำที่ว่าขอเวลาอีกไม่นานเนี่ย ไม่นานของแต่ละคน มันไม่เท่ากัน บางคนเป็นเดือน บางคนเป็นปี ก็รู้สึกว่า มันเริ่มไม่ใช่แล้ว

“และพอมาถึงจุดที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ (รัฐธรรมนูญ ปี 2560) มี ส.ว. 250 คน แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร (บทเฉพาะกาล สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้) อันนั้นคือชัดเจนแล้ว ไม่คืนอำนาจให้ประชาชนแน่ๆ ล้านเปอร์เซ็นต์

“บวกกับการที่นายกฯ ที่ไม่ได้มีความสามารถในการบริหารประเทศแม้แต่นิดเดียว ไม่ได้มีความเป็นผู้นำ เราก็คิดว่าท่าไม่ดีแล้ว แต่วันนั้นเราสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เราก็เชื่อมั่นในหัวหน้าพรรค (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) พอมาถึงการเลือกตั้ง (ปี2562) ผมก็ยังเชื่อว่าคุณอภิสิทธิ์ จะเป็นายกฯ ที่ดีมากๆ ได้คนหนึ่ง

“เราก็ยืนหยัดอยู่ในอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ตามสโลแกนที่ว่า ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต กระทั่งแพ้เลือกตั้ง แล้วแกนนำพรรคชุดต่อจากคุณอภิสิทธิ์ ก็นำพรรคไปร่วมรัฐบาล ทั้งๆ ที่หาเสียงไว้ชัดเจนว่า เราไม่ร่วมรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ เราต่อต้านการสืบทอดอำนาจ

“พรรคประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์ในการต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ แต่แกนนำใหม่ของพรรคไม่สนใจเสียงเรียกร้องประชาชน ไม่สนใจอุดมการณ์ และไม่สนใจสิ่งที่ได้หาเสียงไว้

“มันชัดเจนว่า ประชาธิปัตย์ไม่สนใจคำว่า ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต อีกต่อไป ผมจึงต้องถอยออกจากพรรค แต่ก็ยังมีความหวังอยู่เล็กน้อยว่า ประชาธิปัตย์ที่ไม่ใช่แค่กลุ่มคณะผู้บริหาร แต่ยังมีสมาชิกพรรคอีกจำนวนมาก และยังมีเสียง 3.9 ล้านเสียง ที่ลงคะแนนให้ ยังรอคอยเวลาที่จะเรียกร้องให้พรรคถอนตัวออกพรรคร่วมรัฐบาล

“และจากหลักฐานที่ว่า รัฐบาลชุดนี้ไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ สิ้นเดือนนี้ก็จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยอมถอนตัวออกมจากพรรคร่วมรัฐบาล หรือ ส.ส. จำนวนหนึ่ง โหวตสวนมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็จะสามารถทำให้รัฐบาลชุดนี้สิ้นสุดลง

“เป็นความหวัง แต่ว่ามีไม่มาก แต่ในฐานะสมาชิกกพรรคก็จะเรียกร้องเรื่องนี้เป็นครั้งสุดท้าย สำเร็จหรือไม่สำเร็จ ผมก็จะได้ลาออกจากพรรคอย่างเป็นทางการ

“เพราะคุณเป็นคนสอนผมเอง ให้ฟังเสียงของประชาชน ผมก็เชื่อว่า ส.ส.ปัจจุบัน หรือสมาชิกของพรรคหลายคน ก็ฟังเสียงของประชาชน มีความสามารถที่จะคิดวิเคราะห์แยกแยะ ว่าประชาชนต้องการอะไร

“เช่นเดียวกัน พรรคภูมิใจไทย แต่ละคนเป็น ส.ส.มาหลายสมัย เป็นนักการเมืองที่เชี่ยวชาญอยู่แล้ว มันใช้จำนวนเสียงไม่มากเลยระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ แค่โหวตสวนมติแค่ 20 กว่าคน ก็ชนะแล้ว"

ไฮโซลูกนัท

เรียกว่าตัวเองว่า “สลิ่มกลับใจ”

และในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองกำลังร้อนระอุ ผู้ที่เคยสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ กลับเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ แต่ในกรณีของลูกนัท น่าจะเรียกได้ว่า ออกตัวแรงแซงโค้ง นอกจากประกาศเปลี่ยนจุดยืนทางการเมือง ยังเรียกตัวเองว่า สลิ่มกลับใจ

“เพราะว่าเป็นเรื่องจริง (หัวเราะ) คือจริงๆ ผมเพิ่งมาทำความเข้าใจในเรื่องคำศัพท์ต่างๆ แต่เอาเป็นว่าในกลุ่มคนรุ่นใหม่จะเรียกคนที่อยู่ในแนวร่วม หรือแนวหน้าของ กปปส. ไปจนถึงแกนนำว่า สลิ่ม

“จริงๆ คำว่า สลิ่มกลับใจ มันมีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็คือคนที่เคยอยู่กับ กปปส. แล้ววันนี้มาชู 3 นิ้ว เขาจึงเรียกว่า สลิ่มกลับใจ ก็เพราะเป็นเรื่องจริง ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนครับ”

ส่วนประเด็นที่เขาขอโทษคนเสื้อแดง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ , กิตติรัตน์ ณ ระนอง รวมถึงทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เขาก็ยืนยันว่า ไม่ได้มีอะไรแอบแฝง แต่เพราะรู้สึกผิดกับการกระทำที่แล้วมา

“เฟซบุ๊กมันจะเตือนเราทุกปี อะไรที่ขึ้นมาแล้วเราไม่กล้ากดแชร์อีกครั้ง นั่นแหละคือผิด ฉะนั้นเมื่อคุณทำผิด สิ่งเดียวที่คุณทำได้ก็คือการขอโทษ

“ขอโทษกันแล้วอีกฝ่ายให้อภัย มันเป็นการแสดงออกทั้งในเชิงการเมือง ในเชิงสังคม ว่าคนไทยสามารถก้าวผ่านความขัดแย้งแล้วสามัคคีกันได้

“ความสามัคคีเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ที่เราจะสามารถมีการเมืองที่ดีได้ ช็อตวันที่คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รับคำขอโทษของผม และไม่ใช่แค่รับธรรมดา แต่คุณณัฐวุฒิรับและให้เหตุผลที่มีหลักการ และพูดได้ซาบซึ้งใจมาก

“5 ปีที่แล้ว 3 ปีที่แล้ว หรือปีที่แล้ว ไม่มีใครเชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ แต่มันเกิดขึ้นแล้ว แปลว่าคำขอโทษจากคนๆ เดียวมันเปลี่ยนอะไรได้เยอะมาก ดังนั้นถ้าพูดครั้งเดียวเปลี่ยนได้ขนาดนี้ พูดอีก 100 ครั้ง 1,000 ครั้ง ถ้าเปลี่ยนไปได้เยอะกว่านี้อีก ก็เป็นเรื่องที่ดี ที่ตั้งใจว่าจะทำต่อไป”

ไฮโซลูกนัท

ในอนาคตมีโอกาสร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ?

จากการประกาศเปลี่ยนจุดยืน การขอโทษคู่กรณีทางเมือง ร่วมถึงการร่วมม็อบกับฝั่งต่อต้านรัฐบาล ทำให้หลายคนสงสัยว่า ในอนาคตจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่ลูกนัทจะสวมเสื้อพรรคเพื่อไทยลงสมัครรับเลือกตั้ง

 “เราควรกินข้าวทีละคำ ภารกิจหลักตอนนี้มีหลายเรื่อง การคิดว่าจะไปสมัครพรรคการเมืองใดในอนาคต ยังไม่ใช่สิ่งที่ผมคิด อย่างใครที่อยู่ในแวดวงการเมืองมานาน สื่อมวลชนก็รู้ดีว่า พรรคการเมืองเขาไม่รีบเลือกกัน เราเลือกกันใกล้ๆ เลือกตั้ง

“แต่ไม่ได้หมายความว่า ใกล้เลือกตั้งอีกไม่กี่เดือน แล้วผมจะไปเข้าพรรคการเมืองนั้นๆ นะครับ แต่คิดว่าทำตรงนี้ให้ดีก่อน ส่วนในอนาคตถ้าพรรคการเมืองใดให้โอกาส ประชาชนให้โอกาสอยากจะให้ผมมาเป็นผู้แทนฯ ผมก็ยินดีที่จะรับโอกาสนั้น เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของประชาชน”

และเมื่อ Spring News ถามว่า ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล ต้องการร่วมงานในฐานะสมาชิกของพรรคใดมากกว่ากัน ? ลูกนัทตอบว่า...  

“ตอนนี้ผมขอตอบในฐานะผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ถ้ามีการเลือกตั้งครั้งต่อไป ผมจะลงคะแนนให้ใคร ก็คิดว่าถ้ามองจากสถานการณ์ในวันนี้ ผมจะลงคะแนนให้พรรคก้าวไกล”

ไฮโซลูกนัท

ปัญหาของประเทศ เกิดจากระบบโครงสร้างทางอำนาจ

ถ้านับวันเวลาแห่งความขัดแย้งในสังคมไทย ก็ล่วงเลยมาเกือบ 15 ปีแล้ว แต่การรัฐประหารครั้งล่าสุดก็พิสูจน์แล้วว่า ไม่อาจแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศได้ โดยลูกนัทได้แสดงความคิดว่า สิ่งที่เราต้องประสบอยู่ในเวลานี้ สืบเนื่องมาจากระบบโครงสร้างทางอำนาจที่ไม่ชอบธรรม

“ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล มันอยู่ที่ระบบ มันอยู่ที่โครงสร้างของอำนาจ ด้วยระบบที่ไม่ชอบธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย และอำนาจที่มันหอมหวาน ทำให้ผู้มีอำนาจไม่จำเป็นต้องสนใจประชาชน ไม่ต้องสนใจเสียงเรียกร้องของประชาชน

“เพราะว่ามันไม่ใช่อำนาจที่มาจากประชาชน มันเป็นอำนาจของคนกลุ่มก้อนเดียว เป็นอำนาจปลายกระบอกปืน ที่เขาตั้งกันเอง แล้วเลือกกันเอง เพราะฉะนั้นมันง่ายมากที่กลุ่มก้อนคนเหล่านี้ จะสั่งซื้อเรือดำน้ำ จะสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไร้ประโยชน์ต่อการบริหารประเทศ

“รวมถึงการสั่งวัคซีน ที่แน่นอนแหละ คนได้ผลประโยชน์อยู่ในรัฐบาล วัคซีนที่ไร้คุณภาพ แล้วมีคนได้เงินทอน มีคนได้ผลประโยชน์ เรื่องพวกนี้มันเกิดขึ้นได้เพราะอำนาจไม่ได้มาจากประชาชน ผู้มีอำนาจจึงไม่ต้องรับใช้ประชาชน ฉะนั้นมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล มันขึ้นอยู่กับที่มาของโครงสร้างอำนาจ

“ถ้าอำนาจนั้นมาจากประชาชน เป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คนที่เข้ามาในสภา ตามสัญชาตญาณของนักการเมือง เขาก็ต้องทำให้ดี เพื่อที่รอบหน้าจะได้กลับเข้าสภาอีก แต่ตอนนี้เราขาดและไม่มีสิ่งนี้ (ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง) จึงต้องมีสิ่งนี้ให้ได้ในเร็ววันที่สุด พอๆ กับการเปลี่ยนผู้บริหารประเทศ”

แล้วทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราว ทั้งจุดเริ่มต้น จุดเปลี่ยน และจุดหมายที่กำลังก้าวเดินไปของ "ลูกนัท ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย" บนเส้นทางการเมืองที่กำลังร้อนระอุและดุเดือดยิ่ง   

related