ทำความรู้จัก Tiktok Brain อาการของเด็กที่ถูกผู้ปกครองปล่อยให้ดูคลิปสั้นมากเกินไป จนพาสมาธิสั้น-ความจำสั้น
ปฎิเสธไม่ได้ว่าคลิปสั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนใช้โลกโซเชียลมากขึ้น ตั้งแต่ Facebook , Snapchat จนมาถึง Tiktok ซึ่งเอกลักษณ์ของคลิปสั้น คือ สนุกเข้าใจง่าย มันเลยกลายเป็น "ของหวาน" สำหรับสมอง ที่ยิ่งกิน ยิ่งชอบ ยิ่งเสพ
Tiktok Brain คือ พฤติกรรมสมองของเด็กที่ดูคลิปสั้นมากเกินไป จนทำให้สมาธิสั้น-ความจำสั้น มันปรากฎขึ้นในบทความของ Wall Street Journal (WSJ)
โดยชื่อนี้มาจากการที่แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นสัญชาติจีนอย่าง Tiktok เริ่มกลายเป็นที่นิยมของผู้ใช้ทั่วโลก เพราะไม่ต้องสมัครบัญชีผู้ใช้ ก็ใช้งานได้ แถมสุ่มตรงใจเราด้วย
เจมส์ วิลเลียมส์ นักจริยธรรมจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด บอกกับ Wall Street Journal (WSJ) เชิงเปรียบเทียบว่า "มันเหมือนกับการที่เราปล่อยให้เด็ก ๆ อยู่ในร้านขนม กินขนมในร้านเท่าไหร่ก็ได้ แล้วพอวันหนึ่งเราบอกให้เด็ก ๆ มากินผักสักจาน พวกเขาก็จะปฎิเสธมัน"
การเปรียบเทียบนี้เห็นได้ชัดว่า หากผู้ปกครองปล่อยให้เด็กอยู่กับวิดีโอสั้นมากจนเกินไป พวกเขาก็จะไม่ชอบทำอะไรที่กินระยะเวลานานเลย เช่น ทำการบ้าน , ตั้งใจเรียน 1 คาบ หรือ จดจ่ออยู่กับอะไรบางอย่างเป็นระยะเวลานาน เป็นต้น ซึ่งนั่นเรียกว่า "สมาธิสั้น" นั่นเอง
ประเด็น คือ ยิ่งเป็นโลกดิจิทัล ยิ่งทำให้เด็กยิ่งรู้สึกว่าโลกแห่งความจริงมันน่าเบื่อ
ดร.ไมเคิล มานอส ผู้อำนวยการคลินิก ด้านการเรียนรู้ ที่ โรงพยาบาลเด็กในคลีฟแลนด์ สหรัฐฯ กล่าวกับ WSJ ว่า ถ้าเราไม่สอนให้พวกเขาหัดยับยั้งชั่งใจก็จะส่งผลต่อพัฒนาการของพวกเขา
"ถ้าสมองของเด็กชินกับคลิปสั้นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มันจะทำให้สมองของเด็ก ปรับตัวให้เข้ากับกิจกรรมที่ไม่ได้อยู่บนโลกดิจิทัลได้ยาก เพราะสิ่งต่าง ๆ ไม่ได้เคลื่อนไหวเร็วพอ ๆ กับคลิปสั้นที่เขาสามารถเปลี่ยนความสนใจหรือคลิปได้ทันที"
โซเชียล คลิปสั้น ซึมเศร้า
งานวิจัยอีกตัวหนึ่ง ระบุว่า โซเชียลมีเดียและสมาร์ทโฟนอาจเชื่อมโยงกับอัตราการป่วยโรคซึมเศร้าและความเหงาที่เพิ่มสูงขึ้น
โดยเมื่อเดือนที่แล้ว สื่อต่างประเทศรายงานว่า พบว่าสัดส่วนของเด็กอายุ 15-16 ปี ในสหราชอาณาจักรที่รู้สึกแปลกแยกในหมู่เพื่อนฝูงเพิ่มขึ้นสามเท่า ตั้งแต่ปี 2000 คิดเป็น 33 เปอร์เซ็นต์
พวกเขากล่าวว่าการเพิ่มขึ้นนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการใช้สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลายในกลุ่มอายุนี้
นักเรียนกำลัง "พูดคุยน้อยลง" และรู้สึกถูกกีดกันเมื่อเห็นภาพออนไลน์ของเพื่อนๆ ที่กำลังสนุกสนานโดยไม่มีพวกเขา
โฆษกของ TikTok บอกกับ WSJ ว่า แอปเพิ่งทำการเปลี่ยนแปลงเพื่อควบคุมการใช้งานแอปอย่างกว้างขวาง รวมถึงการบล็อกผู้ใช้ที่อายุต่ำกว่า 15 ปีไม่ให้รับการแจ้งเตือนเกิน 21.00 น. และส่งการแจ้งเตือนให้พวกเขาหยุดพักเป็นประจำ
อย่างไรก็ตาม Tiktok ไม่ใช่แพลตฟอร์มเดียวที่มีคลิปสั้น แต่ Facebook และ Youtube ต่างก็พัฒนาฟีเจอร์ที่คล้ายกัน คือ Reels และ Shorts เพื่อแย่งชิงเวลาของคนกลับมา