svasdssvasds

เปิดทางรอด! คนทำสื่อ ยุค Facebook ก๊อป Tiktok ทำยังไงให้จะมีคนดู-อ่านข่าวเรา

เปิดทางรอด! คนทำสื่อ ยุค Facebook ก๊อป Tiktok ทำยังไงให้จะมีคนดู-อ่านข่าวเรา

นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ แนะทางรอด คนทำสื่อ ยุค Facebook ก๊อป Tiktok ทำยังไงให้จะมีคนดู-อ่านข่าวเรา มองสื่อโซเชียลของ Meta(Facebook , Instagram) ไม่ใช่อันดับ 1 ที่ต้องเอาใจอีกต่อไป

ปัจจุบัน จำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทย เมื่อปี 2564 ตัวเลขอยู่ที่อันดับ 8 ของโลก ในกลุ่มที่ใช้เยอะ ก็มีทั้งสื่ออาชีพ สื่ออิสระ สมัครเล่น ซึ่งยุทธศาสตร์ปัจจุบันของ Facebook คือ การหันไปทำวิดีโอสั้นแบบ Tiktok เพื่อช่วงชิงเวลาของคนใช้กลับมา แล้วสำหรับคนสื่อต้องทำอย่างไร ให้สอดคล้องกับยักษ์ใหญ่โซเชียลที่เปลี่ยนไปแบบไม่ถามเราสักคำ ?

1. สื่อต้องลดความสำคัญ เฟซบุ๊ก และให้ไปอยู่ในลำดับ 2-3-4

ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ตั้งคำถามไว้ในรายการ รู้ทันสื่อ โดยสภาการสื่อมวลขนแห่งชาติ  ทาง FM 100.5 ว่า การปรับ ‘อัลกอริทึม’ จะส่งผลกระทบกับสื่ออย่างไร ? 

นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ให้คำตอบว่า "ต้องบอกว่า เปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ คนทำสื่อปัจจุบันเราทำงานหลายปีโดยพึ่งพาเฟซบุ๊กเป็นอันดับ 1 ในการส่งสาร พอการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น การที่เราจะไว้วางใจให้เฟซบุ๊ก ให้เป็นอันดับ 1 หรือมีเพจเฟซบุ๊กอย่างเดียว หรือบางสื่อมีเว็บไซต์แล้วเอาข่าวมาลงในเฟซบุ๊กเป็นหลัก และยังไม่มีช่องทางอื่น ก็คงต้องเลิกคิดอย่างนั้นได้แล้ว เพราะตอนนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงใหม่ ที่คนสื่อต้องจัดอันดับความสำคัญของเฟซบุ๊กไปอยู่ในอันดับ 2-3-4 แล้ว และต้องหาอย่างอื่นมาแทน เพราะการมีเพจอย่างเดียว ยอดการมองเห็น ยอดการเข้าถึงน้อยลง 50-60%

การปรับ ‘อัลกอริทึม’ ของเฟซบุ๊กล่าสุดนั้น ปี 2564 เฟซบุ๊ก ถูก TikTok แซงหน้า กระทั่งปัจจุบันมีผู้ใช้งาน TikTok ทั่วโลกในจำนวนที่มากกว่าเฟซบุ๊กแล้ว โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นบ้านเกิดของเฟซบุ๊กเอง

ส่วนในประเทศไทยนั้น ต้นปี 2565 มีผู้ใช้งาน TikTok แซงเฟซบุ๊กไปแล้ว ขณะเดียวกันผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเดิมที่ยังคงอยู่ โตแบบไม่ได้โดดเด่นมาก แต่เป็นการใช้งานโดยทั่วไปก็คือ YouTube อันนี้ยังโตขึ้นเรื่อย เป็นฐานปกติแต่พฤติกรรมเรายังใช้เฟซบุ๊กอยู่

 

2.การแข่งขันในยุคนี้ ต้องเน้น วิดีโอสั้น

การเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดของเฟซบุ๊ก ที่ผู้เคยอาศัยเฟซบุ๊กต้องปรับตัวคือ ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2564) เฟซบุ๊กมีการลงทุนมากกับเมตาเวิร์ส (Metaverse) กระทั่งกระทบกับสิ่งที่จะพัฒนาหน้าฟีดของเฟซบุ๊กที่เราใช้กัน กระทั่งเราเห็นว่า สิ่งที่เฟซบุ๊กพัฒนาคือ พยายามทำอย่างไรก็ได้ เพื่อให้สามารถแข่งกับแพลตฟอร์มที่คู่แข่ง ที่แซงเขาไปแล้ว ซึ่ง 2 แพลตฟอร์ม คือ TikTok และ YouTube แซงเฟซบุ๊กไปได้ก็คือ วิดีโอ ขณะที่เฟซบุ๊กเริ่มต้นจากการให้โพสต์ข้อความเป็นคอมมูนิตี้มากกว่า

เฟซบุ๊กจึงต้องพยายามผลักดันตัวใหม่ที่เรียกว่า Reels เป็น Short Video ที่เป็นฟังก์ชันใหม่ของเฟซบุ๊ก และ IG ซึ่งผู้บริโภคทั้งโลกเปลี่ยนไปดู Short Video มากขึ้น เฟซบุ๊กจะไปแข่ง TikTok ก็ต้องดันตัวนี้ให้ได้

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันเฟซบุ๊กเพิ่งเริ่ม ตอนนี้หน้าฟีด Feed เฟซบุ๊กในมือถือเปลี่ยนไป คือจะมี 2 แบบ มีปุ่มใหม่เพิ่มขึ้น จากเดิมเราใช้ปุ่ม Home หรือหน้าหลัก ไถ ‘ฟีเจอร์’ ที่ไปติดตาม ที่ Like ที่ไปคอมเมนต์ เพื่อนเรา ตอนนี้เขาเพิ่มฟีดขึ้นมา เขาก็เลยแบ่งว่า ปุ่ม Home เห็นแต่เพื่อน คนที่ Like หรือคอมเมนต์ใคร คอมเมนต์เพจไหน หน้าฟีดจะเห็นเพจที่เราไปติดตาม หรือกลุ่มที่เราติดตาม แต่ปัญหาคือพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้งาน เราไม่กดหลายปุ่ม เราดูแต่ Home อย่างเดียว ซึ่งก็จะไม่เห็นเพจข่าวแล้ว เพราะเพจข่าวมันไปอยู่อีกฟีดแล้ว ก็จะไม่เห็นข่าว ซึ่งมันเปลี่ยนไปแล้ว

เนื้อหาดีๆ และภาพนิ่ง ถ้าสู้วิดีโอไม่ได้ ความสนใจเนื้อหาของคน จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ หรือไม่ ?

ระวี มองว่า จะน้อยลงเป็น100% น้อยลงมหาศาล ดังนั้นวงการสื่อสาร จะเริ่มไม่เห็นภาพของการทำ Quote คำพูดคน แต่เริ่มเป็นวิดีโอมากขึ้น เริ่มเห็นข่าวที่ต้องกดลิงค์ไปอ่านยังเว็บไซด์น้อยลง หรือแทบไม่เห็นหากเพื่อนไม่แชร์มา หรือคนรู้จักไม่กด Like หรือคอมเมนต์ ดังนั้่นการปรับตัวของสื่อในยุคนี้ ต้องบอกว่า ‘ต้องปรับใหม่’ และต้องเรียนรู้กันใหม่เลย

3.ต้องกระจายสื่อให้หลากแพลตฟอร์ม

เมื่อถามต่อว่า ที่ผ่านมาผู้รับสารสามารถดูเนื้อหาในเฟซบุ๊กได้โดยตรง ทำให้กระบวนการทำงานแบบเชื่อมโยงสื่อในแต่ละแพลตฟอร์มเข้าด้วยกัน หายไป วันนี้กระบวนการดังกล่าวจะกลับมาใช่หรือไม่ คือ ไปดูพาดหัวข่าวในเฟซบุ๊ก แล้วไปอ่านเนื้อหาเต็มๆ ไปดูในเว็บไซต์ ถ้ายังไม่จุใจก็ให้ไปดูต่อในทีวี

นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ มองว่า "มันจะไม่กลับไปสู่กระบวนการดังกล่าว แต่จะยากกว่านั้น คือ สถานีทีวีไม่สามารถใช้โซเชียลมีเดียโปรโมทให้คนดูทีวี หรือเข้าเว็บไซด์ได้อีกแล้ว แต่ต้องทำให้เฟซบุ๊ก TikTok YouTube และ Twitter มีการสื่อสารกับคนดูแบบตรงกลุ่มเป้าหมายมากกว่า"

"ไม่ใช่รายการทีวีทุกรายการจะไปอยู่ในเฟซบุ๊กแล้ว แต่ทุกรายการ จะต้องนำบางช่วงบางตอนเท่านั้น ไปเป็นวิดีโอบนเฟซบุ๊ก หรือ TikTok และต้องทำให้คอนเทนท์นั้นต่างกันด้วย เช่น มีรายการทีวีเล่าข่าว 1 ชม. และเอาทั้ง 1 ชม.ไปใส่ในเฟซบุ๊กคือ ใน 100% ก็ไม่มีคนดูแล้ว การันตีได้เลย แต่ถ้าเอาข่าว 1 ชม.ไปใส่ในยูทูป วันนี้ก็ต้องตัดให้เหลือเพียง 5 นาที แต่ถ้าจะใส่ข่าวนั้นในเฟซบุ๊ก ก็ต้องบอกว่า 5 นาทีเท่า ยูทูปก็จะไม่มีคนดู แต่ต้องตัดให้เหลือประเด็นสำคัญจริง และภาพที่โดนจริงๆ เหลือแค่นาทีเดียวเท่นนั้น และนาทีเดียวนี้ ก็ต้องนำไปลง TikTok ด้วย"

4.ต้องเปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่อง ให้เป็นไปตามบริบทของแต่ละแพลตฟอร์ม

ดังนั้นวิธีการเล่าเรื่องข้ามแต่แพลตฟอร์ม มันเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ไม่ใช่หลอมรวมแล้ว (Convergent) แล้ว แต่เป็นการ Decentralized เหมือนทำ Crypto Currency คือ ต้องกระจายการสื่อสารออกไปบนแพลตฟอร์มที่แตกต่างกันในแต่ละบริบท (Context) คือ เมื่อก่อนคอนเทนท์เดียวทุกแพลตฟอร์ม (One content to Multiplatform) แต่วันนี้ 5 แพลตฟอร์ม ต้องเล่าคนละแบบเลย

หมายความว่า ต่อจากนี้ไปการติดตามเนื้อหาใช้เวลานาน ๆ ไม่ได้แล้ว จะให้คนมาติดตามดูเนื้อหาต้องเลือกช็อตเด็ดจริง ๆ

นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ระบุว่า ถ้าสรุปอย่างนั้นคงไม่ถูดเสียทีเดียว เนื่องจากยูทูปยังมีคนดูได้นาน ๆ กรณีคอนเทนท์ดี แถมยังมีโฆษณาเข้าด้วย แต่ถ้าเอาคอนเทนท์ยาว ๆ มาลงเฟซบุ๊ก ไม่มีคนดูแน่นอน มันต่างกันชัดเจน เพราะประชาชนใช้พฤติกรรมบนแพลตฟอร์มไม่เหมือนกัน โดยสิ้นเชิง ดังนั้นการสื่อสารเราก็ต้องเปลี่ยนตามแพลตฟอร์ม และคนไม่มีคำว่า การสื่อสารของสื่อกับประชาชนทั่วไปอีกแล้ว ต้องบอกว่า คอนเทนท์สำหรับนี้สำหรับคน Gen นี้ และบนแพลตฟอร์มนี้เท่านั้น

5.สื่อ ต้อง ‘Upkill-Reskill’ ตลอดให้ทันการเปลี่ยนแปลง

สถานการณ์นี้ ในแวดวงสื่อคุยกันเยอะและคุยกันมานานแล้วกับทางเฟซบุ๊ก กูเกิล สมาคมฯ ก็มีการปรับตัวค่อนข้างเยอะ เพราะแพลตฟอร์มปรับตัวตาม Global Standard โดยสิ่งที่ทำก็คือ พัฒนาสกิล รีสกิล (Upskill / Reskill) ตัวเองขึ้นไป โดยล่าสุดก็เพิ่งทำเทรนนิ่งสื่อในเครือเนชั่น 9-10 สื่อ คือ รีสกิล เรื่องโซเชียลมีเดียใหม่ทั้งหมด วิธีคิด (Mindset) แบบเดิม ๆ ใช้ไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ รวมถึงคนที่จะเข้ามาทำงานสื่อในอนาคตก็ต้องเรียนรู้ เพราะเทคโนโลยีปรับเร็วมาก และต้องลองทุกแบบ ลองให้รู้ว่า ปรับแล้วมีคนดูหรือไม่ หรือคนดู ชอบดูแบบไหน

ส่วนคำถามที่ว่า การปรับตัวของเฟซบุ๊ก ถือว่า เป็นการถอยหลังหรือไม่ เชื่อว่า ไม่ได้เป็นการถอย แต่เป็นการปรับเพื่อสู้กับคู่แข่งที่แซงให้ได้ สิ่งที่พยายามผลักดันคือการทำ Short Video ซึ่งประสบการณ์ในการทำวิดีโอ บนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กที่ผ่านมาเป็นงานโฆษณา และเขามีระบบโฆษณาส่วนตัวเป็นของตัวเอง ดังนั้นถ้าเฟซบุ๊กสามารถปรับ วิดีโอ ให้สู่กับคู่แข่งได้ เขาก็น่าจะไปต่อได้

และต้องไม่ลืมว่า เป้าประสงค์ในการมีเฟซบุ๊กบนโลกใบนี้ ก็เพื่อปฏิสัมพันธ์ (Connection) ของครอบครัวและเพื่อนเท่านั้น เขาไม่ได้ทำเพื่อให้สื่อนำมาใช้งาน หรือทำให้คนทำเพจทางธุรกิจใช้งาน ดังนั้นวันนี้เฟซบุ๊กกกำลังกลับไปที่จุดเริ่มต้น ซึ่งก็คือ เครือข่ายสำหรับสังคมออนไลน์ (Social network) ไม่ใช่พื้นที่สำหรับสื่อสาร การกลับไปยืนเหมือนเดิมก็ไม่ได้ผิดวัตถุประสงค์ หรือผิดเป้าหมายเดิมของเขา เพียงแต่เขากำลังหาวิธีว่า จะอยู่ในธุรกิจอย่างไร และจะต้องต่อสู้แบบไหน

ข้อสังเกตวิดีโอในเฟซบุ๊ก ที่ชัดเจนในขณะนี้คือ มีวิดีโอแปลกๆ ปรากฎให้ทุกคนเห็นเหมือนกันหมด เป็นวิดีโอที่อาจไม่ใช่เพื่อนเรา ซึ่งเขาพยายามหาอะไรใหม่ ๆ มาเติมไม่เฉพาะแค่ฟีดจากเพื่อนเรา ก็ต้องรอดูต่อว่าเขาจะแข่งกันอย่างไรต่อไป

6. New media S-surve

New media S-surve

ระวี ระบุเพิ่มเติม เรื่อง New media S-surve ว่า ถึงเวลาแล้วที่คนสื่อต้องหา S-curve ใหม่ เพราะตอนนี้เรากำกลังอยู่ในช่วงปักหัวลงดิน ต้องฉุดกลับขึ้นมา ด้วยการทำ Product Decentralized บนความเป็น Trusred ให้ได้