svasdssvasds

อธิปไตยทางดิจิทัลของไทย อยู่ตรงไหน ? ในเวทีโลก

อธิปไตยทางดิจิทัลของไทย อยู่ตรงไหน ? ในเวทีโลก

ปฎิเสธไม่ได้ว่าอินเทอร์เน็ตแทบจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิตเราไปแล้ว นอกจาก อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ถ้าลองนึกภาพพรุ่งนี้ที่ไม่มีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย-แพลตฟอร์มต่างชาติอื่น ๆ จะเป็นอย่างไร ? แล้วเราจะมีโอกาสได้เห็นแพลตฟอร์มไทยเฉิดฉายไหม ?

จากสงครามยูเครน-รัสเซีย ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีต่างถอนตัวจากรัสเซีย แต่ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีที่ถอนออกไปไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และเว็บค้นหาอย่าง Google คนในประเทศก็ยังมี VK และ Yandex แทนที่ ขณะที่จีนเองก็มีแพลตฟอร์มเหล่านี้ของตัวเองเช่นกัน อย่าง Weibo , Baidu, WeChat และ Yorku

แล้วไทยหละ มีอะไรบ้าง ?

หากย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย เราแทบจะไม่มีแพลตฟอร์มยอดนิยมที่เป็นของไทยเลย สื่อสังคมออนไลน์เรามีไหม ? แพลตฟอร์สตรีมมิ่งวิดีโอยอดนิยมก็ไม่ใช่ของไทย สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะเม็ดเงินที่ต้องลงทุนเมื่อเทียบกับกำไรที่ตอบกลับมาแล้วอาจจะไม่ได้คุ้มค่ามากนัก เมื่อเทียบด้วยจำนวนประชากร 77 ล้านคนของไทย กับประเทศที่มีประชากรมากอย่าง อินโดนีเซีย ที่มี 273.5 ล้านคน

คำถามต่อมาคือแล้วไทยมีอำนาจกดดันแบบต่างประเทศไหม ?

ในช่วงสงครามยูเครน-รัสเซีย ปะทุแรก ๆ ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ได้ลงนามในอีกกฎหมายหนึ่ง ที่กำหนดให้สมาร์ทโฟนทุกเครื่องที่วางขายในรัสเซีย จะต้องโหลดแอพที่ถูกกำหนดโดยรัฐบาลรัสเซีย ธุรกิจที่ไม่ทำตามกฎหมายฉบับนี้ จะต้องถูกปรับ $3,100 ต่อกรณี ซึ่งเป็นค่าปรับที่สูงกว่ารายได้จากการขายสมาร์ทโฟนอีก

จากกรณีที่ AIS Play ล่ม ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ ระบุว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาล กลับมุ่งเน้นแค่เพียงเนื้อหาบนแพลตฟอร์มนั้น ๆ บางส่วนเท่านั้น แทนที่จะสนับสนุนให้แพลตฟอร์มไทยได้แข่งขันกับแพลตฟอร์มต่างชาติ

“ผมพูดมาเป็น 10 ปีแล้ว คือ ประเทศไทยไม่มีอธิปไตยทางดิจิทัลในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มต่าง ๆ หรือไทยเองก็ไปมุ่งในในบางบริบทที่ไม่มีการกำกับดูแล ไม่ใช่แค่ใช้ไม้แข็ง ห้ามนั่นนี่ แต่ก็ต้องใช้ไม้อ่อนด้วยในการสนับสนุนอำนาจหน้าที่ให้ส่งเสริมอุตสาหกรรมด้วย เช่น กสทช. เอง ในตัวกฎหมายก็มีข้อที่ระบุให้ส่งเสริมภาคโทรคมนาคมด้วย”

ดร.สิขเรศ มองว่า ถ้าใครจะมองว่าการที่แพลตฟอร์ม OTT หนึ่งล่มไป อาจเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย แต่ศึกแดงเดือดที่เกิดขึ้น มันเป็นเรื่องใหญ่ระดับภูมิภาคเลยถึงขนาดที่ BBC ตีข่าวว่า สามารถเอาชนะได้ 4 ประตูต่อ 0 แต่แพลตฟอร์ม OTT ไทยเราดันคาบ้าน

แพลตฟอร์มไทยเป็นรองแพลตฟอร์ต่างชาติ เพราะเขาไม่ต้องทำตามกฎหมายไทย

พอย้อนมองดูแต้มต่อของแพลตฟอร์ม OTT ต่างชาติคือไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายไทย นั่นแปลว่า แพลตฟอร์มไทยเองกลับมีข้อจำกัดมหาศาลเพื่อให้บริการตามข้อกฎหมายไทย ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีต กสทช. มองว่า ถ้าแพลตฟอร์ม OTT ต่างชาติเหล่านั้นอย่าง Netflix มีบริษัทที่มีตัวแทนในประเทศไทย ก็ย่อมสามารถฟ้องเรียกค่าชดเชยได้หากเกิดการล่มแบบ OTT ไทย แต่ถ้าไม่มีและเป็นการทำสัญญาบองรับสมาชิกเองของผู้ใช้ ข้ามชาติกับแพลตฟอร์มเอง(แม้มันจะมีหน้าภาษาไทย) ก็อาจจะลำบาก

“ตรงนี้เลยกลายเป็นข้อจำกัดของกฎหมายไทย ซึ่งในต่างประเทศเองก็เริ่มมีการกำกับดูแลคอนเทยต์ในอินเทอร์เน็ต ด้วยมาตรฐานที่ใกล้เคียงกับคอนเทนต์ในทีวี-วิทยุโทรทัศน์ เพราะถ้ามาตรฐานต่างกัน ก็จะกลายเป็นความเลื่อมล้ำของการแข่งขัน” ประวิทย์ กล่าว

อดีต กสทช. มองว่า “สำหรับประเทศไทยเองอาจจะต้องศึกษาว่าในต่างประเทศเข้าทำกันอย่างไร ? ทำไมยุโรปกำกับ Netflix ได้ ? ทำไมสิงคโปร์ กำกับ IPTV ได้ ? กฎหมายเราล้าหลังกว่าประเทศอื่นหรือไม่ ?”

ถ้าให้พูดตรงไปตรงมา หากมองว่าไทยเป็นประเทศเล็ก ๆ ไม่มีอำนาจต่อรองกับ Google , Facebook ก็อยากให้มองว่า ผู้ให้บริการเขาก็ไม่ได้มองว่าประเทศใดประเทศหนึ่งเล็กแล้วต้องไม่ให้ความสำคัญ เพราะพวกเขามองที่รายได้เป็นสำคัญ ซึ่งไทยเองใช้งานบริการของแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ไม่ได้น้อยไปกว่าชาติใดในโลกเลย

“มาเลเซียเองก็ยังเคยขีดเส้นห้ามเผยแพร่เนื้อหาบางอย่างบน Facebook ไม่เช่นนั้นจะสั่งบล็อกทั่วประเทศ ซึ่ง Facebook เอง ก็ต้องจำกัดเนื้อหานั้น ๆ ตามที่รัฐบาลขอ ซึ่งหากไทยเองหากมีจุดยืนที่ชัดเจน ส่วนตัวก็เชื่อว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้” ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กล่าว