เมื่อผู้คนกำลังสนใจถึงรายได้เสริมที่มาจากเกม NFT หรือรูปแบบการเล่นเกมแบบใหม่ที่เรียกว่า Play To Earn คือเล่นแล้วได้เงิน แต่ คุณหนูเนย สิทธิพล พรรณวิไล Software Engineer จาก Silicon Valley ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงเกมประเภทนี้ และในบทความของเขาก็น่าสนใจเช่นกัน
ทำความเข้าใจการเล่น NFT ประเภท Play-To-Earn คืออะไร?
NFT Play-To-Earn เป็นเกมบนบล็อกเชนที่ให้รางวัลแก่ผู้เล่นด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น NFT, สกินตัวละคร หรือคริปโทเคอร์เรนซี อาจได้รับจากการพิชิตด่าน เข้าร่วมการแข่งขัน หรือเพียงแค่เข้าเล่นเกม สิ่งของต่างๆภายในเกมยังสามารถใช้เพื่อปลดล็อกรางวัลเพิ่มเติมหรือขายในตลาดดิจิทัลได้
และตามชื่อที่บอกไว้ Play-To Earn ‘ยิ่งคุณเล่นมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งได้รับมากขึ้นเท่านั้น’ ซึ่งจะแตกต่างจากวิดีโอเกมทั่วไป เพราะส่วนใหญ่เกมประเภทนี้มีการกระจายอำนาจ ซึ่งหมายความว่าเกมถูกควบคุมโดยทั้งนักพัฒนาและผู้เล่น เมื่อผู้เล่นมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจในเกม พวกเขาจะสร้างมูลค่าให้เกมไปด้วยในตัว
ทำไมเกม Play-To-Earn ถึงถูกมองว่าเป็น “แชร์ลูกโซ่”
สืบเนื่องจากบทความ เปิดตำรา Ponzinomic ของหนูเนย ได้นิยามเกม Play-To-Earn ไว้ว่า โมเดลพื้นฐานเบื้องหลังของ Play-to-Earn นั้นถูกขับเคลื่อนด้วยเศรษฐศาสตร์แบบแชร์ลูกโซ่ (Ponzinomic Model) เงื่อนไขคือธุรกิจที่ไม่มีแหล่งรายได้ใด ๆ หรือถ้ามีก็น้อยมาก
แต่กลไกหลักให้คนหันมาลงทุนคือ "การเอาเงินลงทุนของคนมาหลังไปจ่ายเป็นปันผลของคนมาลงทุนก่อน"
เมื่อเราได้ทำความเข้าใจหลักการแล้วว่าเงินปันผลที่เราจะได้จากเกมพวกนี้ก็มาจากคนที่มาสมัครเล่นเกมหรือกำลังเริ่มเล่นและเข้ามาลงทุน และเมื่อกระแสตกและไม่มีการลงทุนเกิดขึ้น ก็ถึงจุดจบของลูกโซ่ในที่สุด
เมื่อไม่นานมานี้ คุณ Sittiphol Phanvilai (หนูเนย) อดีต Software Engineer ที่ Meta และประสบการณ์มากมายในวงการคริปโทเคอร์เรนซี ยังได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวล่าสุด ว่า
ตลาดคริปโตตกรอบนี้ สิ่งที่หายไปจากสารบบเลยคือ เกม Play-to-Earn ...
ครั้งล่าสุดที่ได้ยินคำนี้คือนานมากแล้วเหมือนกัน เพราะตั้งแต่ตลาดขาลงเริ่มขึ้น คำนี้อยู่ดี ๆ ก็หายวับไปเลย
ซึ่งมันเป็นอีกข้อชี้วัดนึงที่ว่าเกม Play-to-Earn เกือบทั้งหมดไม่ได้เป็นอะไรที่มากไปกว่า "แชร์ลูกโซ่" เลย
ไม่ใช่แค่ Play-to-Earn นะ แต่ทุกอย่างที่ to-Earn ก็เป็นโมเดลเดียวกันหมดและไม่เหลือค่าใด ๆ ณ ขณะนี้ Run-to-Earn เอย Sex-to-Earn เอย ไปหมดครับ
ทั้งนี้เพราะโมเดลแชร์ลูกโซ่มันจำเป็นต้องอาศัยเงินที่อัดฉีดเข้ามาเพิ่มเพื่อจ่ายให้คนอยู่ก่อน เงื่อนไขนี้เป็นไปได้ในตลาดขาขึ้นที่คนพร้อมจะ Cash In (ลงเงินเพิ่ม) ตลอดเวลา แต่ในตลาดขาลงที่ทุกคนมุ่งแต่จะ Cash Out (นำเงินออก) แชร์ลูกโซ่จึงไม่สามารถไปได้ ที่มีอยู่แล้วก็แตกไป ที่เปิดใหม่ก็ไม่สามารถหา Downline ได้แล้วจบลง
ตอนนี้ตลาดกลับไปสู่พื้นฐานคนที่ทำธุรกิจจริง ๆ ถึงจะอยู่ได้ในตอนนี้ UNI เอย SNX เอย ตลาดตกแค่ไหนก็ไม่หวั่น ยังทำรายได้ได้อยู่เรื่อย ๆ เพราะมันคือธุรกิจจริง ๆ ไม่ใช่แชร์ลูกโซ่ที่สร้างมาหลอกผู้คน
แชร์ลูกโซ่จะยังคงมีอยู่ต่อไปแค่เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ และจะบูมมากในช่วงที่เงินไหลเข้าระบบ (ตลาดกระทิง) เราจะไม่ค่อยได้เห็นอะไรแบบนี้ไปอีกสองปี แต่ในรอบหน้าเราก็จะได้เจอแชร์ลูกโซ่ในรูปแบบใหม่ ๆ อีก
ถึงตอนนั้นให้ตระหนักไว้เสมอว่า ไม่ว่าเปลือกนอกจะเป็นยังไง ถ้าหวังเงินกำไรสุดท้ายธุรกิจก็ยังเป็นแกนกลางของสิ่งนี้อยู่ดี ธุรกิจจริง ๆ ไม่ใช่การเอาเงินคนใหม่ไปจ่ายคนเก่าจนกว่าจะไม่มีคนมาเพิ่มแล้วจบไป จากนั้นก็ออกวงใหม่และหลอกผู้คนไปเรื่อย ๆ
มองให้ออก แล้วจะได้เปรียบครับ
ที่มา : เฟซบุ๊กส่วนตัวหนูเนย และ nuunoei.com