ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กว่า "คนไทยจะยอมทุนผูกขาดไปอีกนานแค่ไหน" จากกรณี AIS-3BB และ TRUE-DTAC ที่กำลังควบรวมกัน
ดร.สมเกียรติ โพสต์สเตตัส ความว่า :
"ตลาดโทรคมนาคมไทยกำลังเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการเพิ่มโครงสร้างที่ผูกขาดมากขึ้นจนถึงขั้นอันตราย เพราะหลังจากที่ทรูและดีแทคที่กำลังเดินหน้าควบรวมกันแล้ว
ตอนนี้ก็มีกระแสข่าวว่า เอไอเอสจะซื้อ 3BB อีก ผมคิดว่า 2 ดีลนี้มีความเกี่ยวข้องกัน โดยดีลหลังน่าจะเป็นปฏิกริยาต่อดีลแรก แต่ดีกว่าตรงที่ยังยอมรับว่า การควบรวมต้องผ่านการอนุญาตจาก กสทช. ก่อน ในขณะที่ผู้เกี่ยวข้องกับดีลแรกยังยืนกระต่ายขาเดียวว่า แค่ขออนุญาตผู้ถือหุ้นก็พอ ไม่ต้องขออนุญาตควบรวม ท่ามกลางการสร้างกระแสว่าประชาชนและนักวิชาการจำนวนมากสนับสนุนการควบรวม
หากการควบรวมทั้งสองดีลเกิดขึ้นสำเร็จ ผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อยของไทยก็จะเหลือทางเลือกน้อยลง และเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบโดยทุนใหญ่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในธุรกิจโรงหนัง ค้าปลีกขนาดใหญ่ โรงพยาบาลและอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนจนเท่านั้นที่เดือดร้อน แต่ยังกระทบมาถึงคนชั้นกลางจำนวนมากด้วย
การจัดการอำนาจผูกขาดของธุรกิจเอกชนโดยหน่วยงานรัฐไทย ทั้ง กสทช. หรือคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ตลอดจนผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทั้งคณะรัฐมนตรี สภาและฝ่ายตุลาการ ไม่ว่าจะไปในทิศทางไหน จะกำหนดอนาคตของทุนนิยมไทย อนาคตการพัฒนาประเทศ และแนวโน้มของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งจะมีผลต่อการเมืองของประเทศอย่างแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เศรษฐกิจไทยตอนนี้ดูเหมือนเศรษฐกิจอเมริกาในช่วงประมาณ 120-150 ปีที่แล้ว ที่มีการควบรวมบริษัทน้ำมัน บริษัทรถไฟและธุรกิจใหญ่ๆ จำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดการเอาเปรียบประชาชนในวงกว้าง
จนภายหลังประชาชนทนไม่ไหวอีกต่อไป ผลักดันให้เกิด “ยุคก้าวหน้า” (Progressive Era) ที่เกิดการต่อต้านทุนผูกขาดในวงกว้าง เรียกนายทุนผูกขาดว่า Robber Baron เสมือนเป็น “โจรปล้นประชาชน” (ตรงกันข้ามกับการอวยว่าเจ้าสัวไทยรวยเพราะมีวิสัยทัศน์ล้ำเลิศ) หรือกระแสพยายามควบคุมทุนใหญ่อีกครั้งในสมัยประธานาธิบดีไบเดนในปัจจุบัน
คำถามก็คือ พวกเราคนไทยจะยอมทนกับบรรดาทุนผูกขาด และรัฐที่เข้าข้างทุนใหญ่ไปอีกนานแค่ไหนกันครับ?
#ไม่ทนทุนผูกขาด
ที่มา : bangkokbiz
ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งแนวคิดทฤษฎีที่ประธานสมเกียรติว่าไว้เกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดการ ‘ผูกขาดทางธุรกิจ’ ซึ่งก่อนหน้านี้จากที่ได้สัมภาษณ์ สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ ก็ได้พูดถึงอีกหนึ่งแนวคิด ดังนี้
หากเกิดการควบรวมของธุรกิจคมนาคมเกิดขึ้น ในแง่ดี อาจทำให้สะดวกต่อการให้บริการและเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ครอบคลุมทั่วประเทศ
กรณีศึกษาตัวอย่างจากต่างประเทศ ที่มีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมเกิดขึ้น ระหว่าง Axiata และ Telenor ผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำของประเทศมาเลเซีย ซึ่ง Axiata และ Telenor คืออันดับ 2 และ 3 ของประเทศ ซึ่งจุดมุ่งหมายคือควบรวมและมีความต้องการเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศนั่นเอง
เมื่อมีการประกาศการควบรวมกิจการเมื่อปีที่แล้ว คาดว่า Celcom Digi Berhad ใหม่จะสร้างบริษัทที่มีรายได้ต่อปีประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์และผลกำไรหลัก 1.4 พันล้านดอลลาร์จากฐานลูกค้าประมาณ 19 ล้านราย Digi.Com มีมูลค่าตลาดประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งหุ้นธุรกิจก็พุ่งสูงขึ้นทันทีหลังจากมีการควบรวมธุรกิจเกิดขึ้น
มีแนวคิดจากคำกล่าวประกาศที่น่าสนใจของ Haakon Bruaset Kjoel ประธานคณะกรรมการบริหารของ Digi.Com กล่าวว่า "วันนี้ทำให้เราก้าวเข้าใกล้การสร้างบริษัทที่แข็งแกร่งในมาเลเซียด้วยการรวมขนาด ประสบการณ์ เครือข่าย และความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางดิจิทัลของมาเลเซียในปีต่อๆ ไป" บริษัทต่างๆ จะอยู่ในตำแหน่งที่ดีในการขับเคลื่อนโซลูชั่น 5G
เมื่อได้เห็นการควบรวมของธุรกิจโทรคมนาคมของต่างประเทศ ก็ทำให้เราเห็นได้ว่าอนาคตจะเป็นไปได้สองแง่ คือแง่แรกอย่างที่ ดร.สมเกียรติ ว่าไว้ และอีกแง่ก็อาจเป็นข้อดีในการพัฒนาโทรคมนาคมของไทยให้ไปในรูปแบบเดียวกันและเติบโตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น