บ่อยครั้ง ที่สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในบ้านเรา สูงขึ้นจนติดอันดับโลก ส่งผลกระทบในการดำเนินชีวิตของคนเมืองและต่างจังหวัด ที่สำคัญคือ PM 2.5 ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพร่างกายของเรา บางครั้งก็ยากที่จะหลีกเลี่ยง
ในปัจจุบันได้มีหน่วยงาน โครงการมากมายที่คอยรองรับ และ พยายามแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่นและPM 2.5 หนึ่งในนั้นก็คือโครงการ Sensor for All ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง กระทรวงพลังงาน กฟผ. และสำนักงานพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ
ซึ่ง Sensor for All คือ การตรวจสอบคุณภาพอากาศ ด้วยการติดตั้งเซนเซอร์ ตรวจวัดฝุ่นจิ๋ว ไว้สถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ สำหรับติดตามข้อมูลด้านคุณภาพอากาศ และปริมาณฝุ่น PM2.5 โดยจะแสดงผล ข้อมูล คุณภาพของอากาศแบบ Real Time โดยจะแสดงผลข้อมูล ผ่านทางเว็บไซต์ sensorforall.com และ แอปพลิเคชัน Sensor for All
ข่าวที่น่าสนใจ
การนำข้อมูลคุณภาพอากาศ มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ของประชาชน และ รวมถึงการใช้ประโยชน์แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคบริการ ท่องเที่ยว และภาคสาธารณสุข ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในปัจจุบัน
ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสิ่งแวดล้อม และรองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการ Sensor for All เคย เปิดเผยถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่าส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมและกิจวัตรประจำวันของคน ซึ่งในมุมมองของนักวิชาการสิ่งแวดล้อม แนวทางการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ต้องอาศัยองค์ประกอบ 4 อย่าง ได้แก่ 1.ข้อมูล (Database) ที่มากเพียงพอทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ 2.หน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกและสื่อสารข้อมูลออกไป 3. การออกนโยบายเพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมของทุกคน 4.การสร้างความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ในการช่วยกันดูแลตักเตือน
โดยปัจจุบัน กฟผ.ได้ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ 500 จุดทั่วประเทศ และมีการเชื่อมโยง ข้อมูลคุณภาพอากาศร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ในแอปพลิเคชัน Air4Thai และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในแอปพลิเคชัน Dustboy ทำให้มีข้อมูลแสดงผลใน Sensor for All รวมกว่า 1,200 จุด ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อหวังเป็นตัวช่วยเฝ้าระวังและวางแผนการใช้ชีวิตประจำวัน สนับสนุนการจัดการปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศเชิงรุก เพื่อสร้างอากาศที่ดีแก่คนไทยต่อไป