ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ ม.หอการค้า ชี้ นวัตกรรม AI ก้าวหน้าเร็วขึ้น การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์พลิกธุรกิจอุตสาหกรรมโลก ไทยต้องปรับตัวเร็วรับความท้าทาย เลี่ยงฟองสบู่ AI แตกยาก เอไอทำให้ผลิตภาพสูงขึ้น แต่แรงงานทักษะต่ำว่างงาน เพิ่มเหลื่อมล้ำ
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (DEIIT-UTTC) เปิดเผยว่า การเปิดตัวของ DeepSeek เอไอสัญชาติจีน (AI จีน)กำลังเขย่าวงการ AI โลก ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก และคาดว่าจะมี AI ต้นทุนต่ำจากจีนเปิดตัวเพิ่มเติม รวมถึง AI จากสหรัฐฯ และยุโรปด้วย ปรากฏการณ์นี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานทั้งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ใช้ทั่วไป เนื่องจากสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่ถูกลง พร้อมเพิ่มการแข่งขันในอุตสาหกรรม AI โลก และลดอำนาจผูกขาดของบริษัท AI สหรัฐฯ
การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลให้โครงสร้างตลาด AI เปลี่ยนจากการผูกขาดโดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ไปสู่ตลาดที่มีการแข่งขันมากขึ้น แม้จะยังเป็นตลาดที่มีผู้เล่นน้อยรายเนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูง อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจะเร่งให้นวัตกรรม AI พัฒนาเร็วขึ้น ราคาหุ้นและมูลค่าตลาดของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อาจลดลงเนื่องจาก
อัตรากำไรที่ลดลงจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่ฟองสบู่ AI อาจแตก เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับฟองสบู่ดอทคอมในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นภาวะการณ์เก็งกำไรเกินควรในหุ้นเทคโนโลยีจากความเชื่อมั่นล้นเกินต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีว่าจะสร้างผลกำไรให้กับบริษัทในตลาดหุ้นแนสแดก NasDaq ไปเรื่อยๆไม่สิ้นสุด โดยมองข้ามพื้นฐานการลงทุนไป
การก่อตัวของฟองสบู่จนถึงการแตกตัวของฟองสบู่ครั้งนั้นใช้เวลา 3 ปี แต่ ฟองสบู่ AI คงต้องติดตามดูว่าจะใช้เวลานานกว่าหรือไม่
แม้ว่า AI จะช่วยเพิ่มผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจโดยรวม แต่แรงงานทักษะต่ำอาจได้รับผลกระทบ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอาจเพิ่มขึ้น หากไม่มีการออกแบบระบบสวัสดิการใหม่ให้สอดรับกับยุค AI ประเทศไทยจึงต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ในฐานะผู้ซื้อและผู้ใช้เทคโนโลยี
เราจำเป็นต้องคิดอย่างจริงจังว่า เราจะพัฒนา ต่อยอดและสร้างใหม่จากเทคโนโลยีเอไอที่มีอยู่อย่างไร และควรศึกษา ความสำเร็จและบทเรียนจากจีน
รศ. ดร. อนุสรณ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างของการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction) ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม บริษัทเทคโนโลยีจะพยายามใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางธุรกิจและผูกขาดตลาด อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป การแข่งขันและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะทำให้ความสามารถในการผูกขาดลดลง และเปิดโอกาสให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง กระบวนการนี้ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจรูปแบบใหม่
DeepSeek ของจีนถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำระบบ Open Source มาใช้เพื่อลดต้นทุนในการเข้าถึง AI Open Source ช่วยให้นักพัฒนาและนักวิจัยทั่วโลกสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น และช่วยสร้างระบบนิเวศ AI ที่มีพลวัตและเติบโตอย่างรวดเร็ว DeepSeek-R1 ที่เปิดตัวในรูปแบบ Open Source พร้อมรายงานเชิงเทคนิคอย่างเต็มรูปแบบ ช่วยให้องค์กรสามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ (DEIIT-UTTC) ประเมินว่า ระบบ Open Source มีข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับระบบปิด หลายคนเข้าใจว่า Open Source Software เป็นเพียง "ของฟรี" แต่แท้จริงแล้ว Open Source มีหลักการคล้ายกับ "ศาลา" ที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไปในอนาคต แต่ทุกคนก็มีหน้าที่ที่ต้องดูแล "ซอฟท์แวร์สาธารณะ" ตามกำลังที่มีเช่นเดียวกัน
Open Source Software มีข้อดีหลายประการ เช่น เพิ่มความยืดหยุ่นให้ธุรกิจมีค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่ามากกว่า ใช้เงินลงทุนต่ำ สามารถเริ่มจากระบบเล็กๆ ก่อน และเพิ่มขยายภายหลังได้ เหมาะสำหรับองค์กรที่มีเงินลงทุนไม่มาก Open Source Software มีความปลอดภัยของข้อมูลมากกว่า Open Source Software สามารถดึงดูดพนักงาน IT ที่มีความสามารถสูงได้ ข้อดีของ ระบบ Open Source Ai ก็มิได้แตกต่างไปจาก Open Source Software และ คาดการณ์ว่า ต่อไป เอไอสหรัฐฯก็จะมีการพัฒนาบนระบบเปิด Open Source มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเร่งให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และเพิ่มการแข่งขันในอุตสาหกรรม AI โลกต่อไป