SHORT CUT
ในยุคที่ฝุ่นกำลังจะครองเมือง ไม่ใช่สิครองโลกต่างหาก ทำให้หลากหลายประเทศนั้น มีการจัดการที่แตกต่างกันออกไป อย่างไทยเราก็เจ้า Dust Boy นวัตกรรมกำจัดฝุ่นอัจฉริยะ! วัดปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก ที่ออกแบบและดีไซน์โดยคนไทย
เมื่อพูดถึงเรื่องค่าฝุ่น PM2.5 ที่ตอนนี้เหมือนจะเบาบางลงไปแล้วในเขตปริมณฑล แต่ในเขตต่างจังหวัดที่ค่าฝุ่นหนักๆนั้นก็มี ยกตัวอย่างเช่น เชียงใหม่ เป็นต้น ฝุ่นพวกนี้มักจะเกิดจากการเผาไหม้ หรือ บางอย่างที่จะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และอย่างต่างจังหวัดการเผาไหม้นั้นก็เป็นวิธีการหนึ่งในการทำมาหากิน ด้านเกษตรของชาวบ้าน ทำเรื่องการแก้ปัญหาของฝุ่น PM2.5 เป็นการแก้ไขที่ต้องใช้ปัจจัยหลายส่วน วันนี้ Spring จึงจะพาทุกคนมารู้จักนวัตกรรมตรวจวัดค่าฝุ่น โดยใช้ระบบเซนเซอร์ตรวจจับ นั่นก็คือ Dust Boy
“DustBoy” ระบบติดตามค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ด้วยเครื่องตรวจวัดมาตรฐานแบบ Low cost sensor ที่มีประสิทธิภาพสูง ตรวจสอบค่าฝุ่นได้แบบเรียลไทม์ นวัตกรรมคนไทย เพื่อคนไทย ที่มีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือถึง 95%
รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ หนึ่งในทีมพัฒนานวัตกรรม DustBoy ได้อธิบายถึงที่มาที่ไป และการทำงานของเครื่องนี้ โดยระบุว่า ปัจจุบันเรามีเครื่องมือวัดค่าฝุ่นของกรมควบคุมมลพิษอยู่ เพียงแต่ว่ายังมีอยู่ในปริมาณที่ไม่สูงมากนัก ขณะที่ ความต้องการในการวัดคุณภาพอากาศทุก ๆ พื้นที่ ยิ่งหากเป็นทุกอำเภอ ทุกตำบล หรือทุกชุมชนได้น่าจะดี
สำหรับเครื่อง DustBoy นี้ ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อที่จะได้ทราบข้อมูลค่าฝุ่นเป็นแบบเรียลไทม์ และส่งข้อมูลขึ้นไปบน Cloud server เพื่อให้ข้อมูลนั้นส่งไปยังแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน ประชาชนก็สามารถได้ข้อมูล เพื่อใช้ในการป้องกันตัวเอง
DustBoy ใช้ระบบเซนเซอร์ที่เรียกว่า "การกระเจิงแสง" โดยมีแสงเลเซอร์ยิงไปที่อนุภาคของฝุ่น จากนั้นก็จะดูการหักเหของแสงว่ามีฝุ่นขนาด PM 2.5 PM 10 มากแค่ไหน และจะมาปรากฏบนหน้าจอว่า มีค่าฝุ่นเท่าไร
สำหรับการติดตั้งในแต่ละพื้นที่ ต้องคำนึงว่าในพื้นที่นั้นมีแหล่งกำเนิดอะไรบ้าง เช่น ทุกชุมชนที่เป็นแหล่งที่มีความเสี่ยง และมีคนอยู่หนาแน่น เพื่อรายงานค่าฝุ่นกับประชาชน ปัจจุบันนี้ มีความร่วมมือกับกรมอนามัย มีการติดตั้งที่โรงพยาบาล ที่ศูนย์เด็กเล็ก และในปีนี้จะมีการขยายความร่วมมือไปที่ กทม. จะติดตั้งที่ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนในสังกัดของ กทม. ในครบทุกเขต จะได้เอาข้อมูลไปสื่อสารความเสี่ยงกับประชาชนได้
DustBoy ถูกพัฒนามาแล้ว 7-8 รุ่น และรุ่นล่าสุดใน ได้ขยายผลต่อยอดความร่วมมือ และมีรุ่นล่าสุดที่เป็นจอสัมผัสด้วย มีรุ่นที่เป็นทั้ง Offline WIFI Narrowband IoT LoRa และที่เชื่อมต่อกับสัญญาณดาวเทียม
นอกจากนี้ ด้านผู้ผลิตเองยังรับฟังความเห็นผู้ใช้ และพัฒนาเคสให้มีความแข็งแรงมากขึ้น เพราะบางครั้งมีการย้ายจุดติดตั้ง หรือถอดออกเพื่อซ่อมแซม และมีการดีไซน์ตามรูปลักษณ์ที่คนใช้งานอยากจะได้ เช่น จอใหญ่ที่ติดตั้งไว้ที่เทศบาลเพื่อให้ผู้คนทั่วไปมองเห็นได้ง่ายกว่าเครื่องเล็กๆ
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น DustBoy ถูกพัฒนามาแล้วหลายรุ่น และล่าสุดมีการวางแผนทำงานร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อทำระบบที่สามารถตรวจสอบได้ว่า การไหลของมวลฝุ่นในพื้นที่บริเวณต่างๆเป็นอย่างไร ฝุ่นจะถูกพัดไปที่ใด เพื่อแจ้งให้กับประชาชนเตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วขึ้น และยังมีแผนสร้าง DustGirl ซึ่งเป็นเครื่องวัดฝุ่น PM 2.5 เช่นกันแต่เป็นเครื่องที่ใช้วัดในอาคารต่อไป
ที่มา:ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง