SHORT CUT
ประเทศต่างๆ กำลังพยายามหาทางแก้ปัญหาขยะอวกาศที่เพิ่มมากขึ้น ดาวเทียมดวงใหม่ ของญี่ปุ่นสามารถถ่ายภาพขยะอวกาศระยะใกล้ได้ครั้งแรก แสดงให้เห็นว่าเราจะสามารถหาขยะอวกาศได้อย่างไร
บริษัท Astroscale Japan Inc. ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้านอวกาศของญี่ปุ่น ได้สร้างความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการแก้ปัญหาขยะอวกาศ ผ่านภารกิจของดาวเทียม ADRAS-J โดยดาวเทียมดวงนี้สามารถเข้าใกล้ซากจรวด H2A ของญี่ปุ่นในระยะเพียงไม่กี่ร้อยเมตร และถ่ายภาพขยะอวกาศระยะใกล้ได้เป็นครั้งแรก
ADRAS-J ย่อมาจาก Active Debris Removal โดย Astroscale-Japan และเป็นดาวเทียมดวงแรกที่พยายามเข้าใกล้ซากขยะอวกาศ เพื่อจำแนกลักษณะ และสำรวจสถานะของชิ้นส่วนขนาดใหญ่ที่มีอยู่อย่างปลอดภัย ภารกิจนี้จะแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปฏิบัติการ Rendezvous and Proximity Operations (RPO) โดยปฏิบัติการใกล้กับเศษซากอวกาศ และรวบรวมภาพเพื่อประเมินการเคลื่อนไหวของตัวจรวดและสภาพของโครงสร้าง ถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อจัดการกับปัญหาขยะอวกาศที่มีจำนวนมากในปัจจุบัน
ภาพประกอบ Generated by AI
ดาวเทียม ADRAS-J ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศจากนิวซีแลนด์เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนจัดการขยะอวกาศระยะที่ 1 ของสำนักงานสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หลังจากปล่อยได้ไม่นาน ADRAS-J ก็เริ่มทำการทดสอบเพื่อค้นหาชิ้นส่วนอวกาศที่เลือกไว้ ซึ่งเป็นซากจรวด H2A ของญี่ปุ่น
วันที่ 9 เมษายน วิศวกรภารกิจได้เคลื่อนย้ายดาวเทียมไปยังตำแหน่งที่อยู่ห่างจากซากจรวดหลายร้อยกิโลเมตร และภายในวันที่ 16 เมษายน ADRAS-J ก็สามารถโคจรตรงกับวงโคจรของซากจรวดได้ ก่อนจะเข้าใกล้ในระยะเพียงไม่กี่ร้อยเมตรในวันรุ่งขึ้น
ทั้งนี้ ซากจรวดชิ้นนี้ถูกเลือกมาเนื่องจากไม่มีข้อมูล GPS ทำให้ทีมปฏิบัติการต้องอาศัยข้อมูลจากการสังเกตภาคพื้นดินเพื่อประมาณตำแหน่งในการเข้าใกล้ จึงถือเป็นเป้าหมายที่เหมาะสมสำหรับการทดสอบการวิเคราะห์เศษซากขยะอวกาศ
Astroscale Japan ระบุว่าภาพที่ได้จากภารกิจนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการทำความเข้าใจและจัดการกับความท้าทายจากขยะอวกาศ รวมถึงการขับเคลื่อนไปสู่สภาพแวดล้อมอวกาศที่ปลอดภัยและยั่งยืนยิ่งขึ้นในอนาคต
ในอนาคต ADRAS-J จะพยายามถ่ายภาพซากจรวดในระยะใกล้เพิ่มเติม เพื่อเก็บข้อมูลสำคัญสำหรับการพัฒนาวิธีกำจัดขยะอวกาศต่อไป นอกจากนี้ ยังมีแผนสำหรับภารกิจ ADRAS-J2 ซึ่งจะเข้าใกล้ตัวจรวดและพยายามถอดชิ้นส่วนออก รวมถึงเปลี่ยนวงโคจรของตัวจรวดโดยใช้เทคโนโลยีแขนหุ่นยนต์ที่พัฒนาโดย Astroscale Japan เอง
ขยะอวกาศ หมายถึง วัตถุต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นและถูกทิ้งไว้ในอวกาศหลังจากเลิกใช้งานแล้ว ซึ่งมีทั้งวัตถุขนาดใหญ่ เช่น ยานอวกาศเก่า ชิ้นส่วนที่ถูกทิ้งระหว่างขึ้นสู่วงโคจร รวมถึงเศษชิ้นส่วนของดาวเทียมและเครื่องจักรที่เสียหรือหมดอายุ ปัจจุบันคาดว่ามีขยะอวกาศขนาดต่างๆ กว่า 100 ล้านชิ้นอยู่ในวงโคจรรอบโลก
แม้ว่าขยะอวกาศส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายโดยตรงต่อมนุษย์บนโลก และบางส่วนจะเผาไหม้หมดเมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ขยะที่ยังคงตกค้างอยู่ในวงโคจรนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะชนกับดาวเทียมหรือยานอวกาศ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรง เนื่องจากขยะอวกาศเหล่านั้นเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมาก
ด้วยเหตุนี้ ภารกิจอย่าง ADRAS-J จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาและพัฒนาวิธีจัดการกับปัญหาขยะอวกาศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงและรักษาสภาพแวดล้อมอวกาศให้ปลอดภัยสำหรับกิจกรรมอวกาศในอนาคต
ที่มา