7 อันดับ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีความ "Toxic" ในความคิดเห็นผู้ใช้มากที่สุด แต่จะให้เลิกเล่นก็ทำไม่ได้ เพราะมันกลืนไปกับชีวิตไปแล้ว
เรื่องการ “เสพสื่อโซเชียลมีเดียอย่างเหมาะสม” ยังคงเป็นประเด็นอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อไม่นานมานี้ ทั่วโลกให้ความสนใจกับกรณีของ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ซีอีโอของ Meta ที่ออกมาขอโทษต่อบรรดาครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการใช้โซเชียลมีเดีย
ซึ่งกรณีดั่งกล่าว ทำให้เราได้เห็นว่า ความสนุกสนานในโลกออนไลน์นั้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะในส่วนที่อยู่ลึกลงไปใต้น้ำที่เรามองไม่เห็นคือความสูญเสียและความทุกข์ของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในโลกออนไลน์
ทั้งนี้ ถ้าจะถามว่า โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มไหนที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ในทางลบมากที่สุด ทาง “CyberGhost VPN” ผู้ให้บริการ “VPN” ระดับโลก ได้เผยแพร่ผลสำรวจหัวข้อดังกล่าวเอาไว้เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 67 ซึ่งจากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันจำนวนหนึ่ง พบว่า Facebook มีความอันตรายมากเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วย TikTok, และ X ตามลำดับ
ซึ่งเหตุที่ Facebook กลายเป็นโซเชียลที่มีความ “Toxic” ที่สุดในสหรัฐๆ ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 29 % เห็นพ้องต้องกันว่า แพลตฟอร์มนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เต็มไปด้วยการหลอกลวง และการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyber Bullying) เป็นประจำ ส่วน TIKTOK ที่มีความอันตรายรองลงมานั้น ผู้ตอบแบบสอบถามเผยว่า แพลตฟอร์มนี้มีการเรียกร้องความสนใจ และมักจะส่งเสริมค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง ส่วน X (ชื่อเดิมคือ Twitter) ก็เต็มไปด้วยปฏิสัมพันธ์เชิงลบที่ไม่มีมีประโยชน์ใดๆ
ทั้งนี้ เมื่อถามว่า เจอปัญหาอะไรในโลกออนไลน์มากที่สุด กลุ่มตัวอย่าง 63% ในสหรัฐฯ เผยว่า ข่าวปลอมคือสิ่งที่เห็นได้มากที่สุด อีก 61% กล่าวว่าพวกเขาเจอข้อเสนอของการแจกรางวัลที่ไม่เป็นความจริง และที่น่าสนใจคือน้อยกว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างเคยถูกหลอกลวงจากโลกออนไลน์ อีก 32 % เผยว่าการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้โลกออนไลน์เต็มไปด้วยคน “Toxic” ซึ่งจากรายงานของ “Medical News Today” ระบุว่า การคุกคามทางไซเบอร์อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต และทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ความเครียด ความนับถือตนเองต่ำ และอื่นๆ อีกมากมายตามมา
นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 50% คิดว่าโซเชียลมีเดียเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นของคนที่ชอบเรียกร้องความสนใจ ซึ่งในประเด็นนี้มีการวิจัยที่ยืนยันว่า หากเราทำอะไรสักอย่างลงไปในโลกออนไลน์แล้วมีการตอบรับที่ดี จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายเราหลั่ง “สารโดปามีน” ออกมา ซึ่งทำให้เกิดความพึงพอใจเหมือนกับเวลาที่เรากิน “ของหวาน” แล้วมีความสุขในโลกความจริงนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้การเล่นโซเชียลมีเดียจะมีผลเสียต่อสุขภาพจิตมากเพียงใด ทว่าการออกมาจากโลกออนไลน์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นเป็นเพราะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียถูกถักทอเข้ามาในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว และสามารถให้บริการตามวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ตั้งแต่การเช็กข่าวสาร ติดตามเพื่อนฝูง ไปจนถึงหางาน ช็อปปิ้ง หรือส่งเสริมการศึกษา
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมักมีความคิดเห็นว่า คนที่ตัดขาดจากโซเชียลมีเดียอาจเสียเปรียบในฐานะคนหางาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราสมัครงานที่ต้องใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งขณะนี้มีบริษัทจำนวนมากโพสต์ตำแหน่งว่างงานลงบนโซเชียลของพวกเขาโดยตรง ซึ่งอาจทำให้คนที่อยู่ในโลกออฟไลน์นานเกินไปพลาดโอกาสได้ทุกเมื่อ
ในแง่ขอธุรกิจ แพลตฟอร์มอย่าง Instagram และ Facebook มีความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของลูกค้าอย่างมาก เนื่องจากการโปรโมตแบรนด์ของบริษัทกว่า 90% ในปัจจุบัน ต้องกระทำผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ ซึ่งการโต้ตอบกับลูกค้าบนโซเชียลมีเดียช่วยให้คุณสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ได้ และอาจช่วยให้คุณเพิ่มยอดขายต่างๆ ไม่ต้องจ่ายค่าทำการตลาดมากเกินไป
จึงสรุปได้ว่า แม้แต่คนที่คิดจะเลิกเล่นโซเชียล ก็กลับมาติดโซเชียลอีกครั้งได้ และถึงแม้จะตระหนักถึงข้อเสียของมันแค่ไหน แต่ประโยชน์ที่มีมากกว่ามหาศาลนั้น จะดึงเราให้กลับมาใช้มันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อความ TOXIC ของโลกออนไลน์นั้น คงไม่ใช่การเลิกเล่นถาวร แต่คงเป็นการเล่นอย่างมีสติ กำหนดเวลา เช็กก่อนเชื่อ และก่อนโพสต์อะไรลงไปต้องคิดให้ดีเสียก่อน
ที่มา Which Social Media Platform Is the Most Toxic? We Have the Latest Findings
ข่าวที่เกี่ยวข้อง