svasdssvasds

ชวนรู้จัก National AI Service Platform แพลตฟอร์มให้บริการ AI ปัญญาประดิษฐ์ไทย

ชวนรู้จัก National AI Service Platform แพลตฟอร์มให้บริการ AI ปัญญาประดิษฐ์ไทย

Nation AI Service Platform แพลตฟอร์มกลางบริการปัญญาประดิษฐ์ไทย ที่จะช่วยยกระดับและพัฒนาวงการ AI ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาต่างๆด้วยเทคโนโลยี รวมถึงต่อยอดการใช้เทคโนโลยีในอนาคต

Nation AI Service Platform หนึ่งในแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาและผลักดันวงการเทคโนโลยีในประเทศไทย ซึ่งกระแสของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ก่อให้เกิดการตื่นตัวในทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ธุรกิจต่าง ๆ ล้วนต้องการปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี และมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันมากที่สุด 

แต่การพัฒนาเทคโนโลยีด้านเอไอ หากต้องทำเองทั้งหมดโดยเริ่มต้นจากศูนย์จำเป็นต้องใช้ทั้งเวลาและทรัพยากรจำนวนมาก ทำให้เจ้าของสินค้าและบริการต่าง ๆ มองหาทางออกโดยเลือกใช้เทคโนโลยีจากผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งปัจจุบันมีเพิ่มมากขึ้นทั้งในระดับโลกและในประเทศไทยเอง

จากข้อมูลจากสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของการลงทุนด้านเอไอในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับจำนวนของบริษัทเทคสตาร์ทอัพ (Tech Startup) ด้านเอไอก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันมีมากกว่า 100 บริษัท

 

 

ชวนรู้จัก National AI Service Platform แพลตฟอร์มให้บริการ AI ปัญญาประดิษฐ์ไทย จำนวนผู้ให้บริการด้านเอไอที่เพิ่มขึ้นนี้จะเพิ่มโอการในการแข่งขันให้กับประเทศในอนาคต ชี้ให้เห็นว่าการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านเอไอ โดยคนไทยก็สามารถแข่งขันได้ในตลาดที่มีผู้เล่นจากระดับโลกได้ ในส่วนของรูปแบบการให้บริการเทคโนโลยีด้านเอไอจะมีทั้ง

1) การให้บริการโซลูชั่น ซึ่งผู้ให้บริการมีระบบซอฟต์แวร์ครบวงจรในด้านต่าง ๆ ที่พร้อมสำหรับการใช้งาน ผู้ให้บริการดูแลการให้บริการครบวงจร

2) การให้บริการในระดับของ API (Application Programming Interface) ที่เปิดให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์นำเอาบริการ API ต่าง ๆ (เช่น บริการแปลงภาพเป็นตัวอักษร บริการแปลงเสียงพูดเป็นข้อความ บริการแปลภาษา เป็นต้น) ไปประยุกต์เพื่อสร้างแอพพลิเคชั่นหรือบริการที่ต่อยอดความสามารถอีกที

โดยบริการในรูปแบบ API นี้คือสิ่งที่เป็นเป้าหมายของ National AI Service Platform ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเป็นกลไกส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นการใช้งาน ต่อยอดเทคโนโลยี และ สร้างบุคลากร ด้านเอไอของประเทศอย่างเป็นระบบ

แหล่งบริการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

ปัจจุบันการให้บริการในลักษณะของ API ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มีอยู่อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในระดับโลกจะมีผู้เล่นหลักทั้ง Azure Google AWS เป็นต้น บริการพื้นฐานต่าง ๆ แม้ว่าจะเป็นนักพัฒนาเทคโนโลยีต่างชาติที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก แต่เจ้าตลาดที่เป็นผู้เล่นหลักเหล่านี้สามารถพัฒนาความสามารถของเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับภาษาไทยที่คุณภาพสูง และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทั้งความแม่นยำและความหลากหลายของบริการ

ทำให้เมื่อนักพัฒนาซอฟต์แวร์ต้องการใช้ความสามารถของเอไอ จะมองไปยังแพลตฟอร์มของผู้เล่นหลักต่างชาติที่เป็นเจ้าตลาดเป็นหลัก ทำให้ลดโอกาสในการใช้งานเทคโนโลยีที่ผลิตโดยคนไทยที่ถึงแม้จะมีคุณภาพทัดเทียมหรือดีกว่าก็ไม่สามารถแข่งขันได้ แม้ว่าในขณะนี้จะเริ่มมีแพลตฟอร์มสัญชาติไทยจากในประเทศเปิดให้บริการแต่ยังต้องอาศัยกลไกการสนับสนุนของรัฐเพื่อที่จะมีแต้มต่อให้สามารถแข่งขันได้กับผู้เล่นหลักเจ้าตลาดได้

แนวคิดของ National AI Service Platform

แพลตฟอร์มกลางบริการปัญญาประดิษฐ์ไทย แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติฯ (พ.ศ. 2565-2570)  ยุทธศาสตร์ที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนระบบนิเวศของเอไอภายในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ โดยใช้แพลตฟอร์มกลางบริการปัญญาประดิษฐ์ไทย ทำหน้าที่สนับสนุนผู้ให้บริการในประเทศโดย มีภาระกิจในการประชาสัมพันธ์ นำเสนอบริการต่าง ๆ ที่พัฒนาจากผู้ให้บริการ AI ไทย

ทั้งจากหน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัย และ ผู้ประกอบการจากภาคธุรกิจ ไปยังกลุ่มผู้ใช้ที่เป็น บริษัทพัฒนาเทคโนโลยี นักพัฒนาซอฟต์แวร์ นักเรียน นักศึกษา ให้สามารถเข้าถึง ทดลองใช้งาน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (สำหรับขั้นตอนการทำ Proof of Concept: POC) ตลอดจนสามารถชื่อมโยงต่อยอดให้เกิดการนำไปใช้จริงในเชิงธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เจ้าของบริการ AI ไทย ต่าง ๆ (ในช่วงที่ใช้จริงในลักษณะของ Commercial) 

การรวมเอาบริการต่าง ๆ จากเจ้าของบริการในประเทศมาแสดงและให้บริการรวมกันนี้จะทำให้สะดวกทั้งจากกลุ่มผู้ใช้งาน หรือนักพัฒนาที่ต้องการมองหาบริการพร้อมใช้ไปต่อยอด และเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของบริการเอไอที่มีช่องทางการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มลูกค้า และในมุมของระดับนโยบายการส่งเสริมจากภาครัฐก็จะมีข้อมูลสนับสนุนที่สะท้อนความต้องการจริงของทั้งผู้ใช้และผู้พัฒนาบริการ โดยในส่วนนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ในโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud service: GDCC) ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมให้การสนับสนุนทรัพยากรการให้บริการต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มฯ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งของผู้ประกอบการที่ปกติแล้วต้องลงทุนสูงในการเปิดให้ผู้สนใจได้มีโอกาสทดลองใช้บริการ (แต่ไม่มีรายรับจากการใช้งาน) ของบริษัทเอง

เนื่องจากต้องลงทุนทั้งด้านฮาร์ดแวร์/ ระบบคลาวด์ และผู้เชี่ยวชาญที่ต้องคอยดูแลระบบ ในขณะเดียวกันจะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (หรือ สตาร์ทอัพใหม่) ที่ไม่จำเป็นจะต้องจ่ายเงินแต่แรกในการทดลองใช้บริการเอไอต่าง ๆ ในช่วงของการทดสอบ ทดลอง พัฒนาโซลูชั่นเพื่อให้ตรงความต้องการของลูกค้า

นอกจากนี้แพลตฟอร์มฯ สามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรกำลังคนทางด้านเอไอ โดยหน่วยงานการศึกษา หรือ องค์กรที่เกี่ยวข้อง สามารถนำเครื่องมือบริการต่าง ๆ ไปใช้ในการอบรมส่งเสริมให้นักศึกษา ผู้เข้าอบรม กิจกรรมหรือหลักสูตรต่าง ๆ ให้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และ ท้ายที่สุดเมื่อเกิดความเชี่ยวชาญในการใช้งานเครื่องมือดังกล่าว จะส่งผลให้นักพัฒนาสามารถหยิบเอาบริการจากผู้ประกอบการในประเทศมาใช้งานเพิ่มมากขึ้นในที่สุด

related