svasdssvasds

จะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อมนุษยชาติต้องต่อสู้กับ AI อนาคตประเทศไทยจะยังไง

จะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อมนุษยชาติต้องต่อสู้กับ AI อนาคตประเทศไทยจะยังไง

AI หรือปัญญาประดิษฐ์ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเราแล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีต่างๆที่มี AI เข้ามาควบคุมและช่วยให้ง่ายขึ้น แต่หากในอนาคตมนุษยชาติต้องต่อสู้กับ AI จะเกิดอะไรขึ้น

นักพัฒนา AI แบ่ง AI เป็น 3 ระดับ

ระดับแรกเรียกว่า Artificial Narrow Intelligence (ANI) เป็น AI ที่มีความสามารถเฉพาะด้าน อย่างเช่นเล่นหมากรุกเก่งสุดๆ แยกแยะใบหน้าคนได้แม่นยำ

ระดับที่สอง นักพัฒนาก็พยายามทำให้ AI ฉลาดในหลากหลายด้านมากขึ้น เรียกว่า Artificial General Intelligence (AGI) อย่างเช่น ChatGPT นี่ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างจุดเริ่มต้นของ AGI ที่สามารถตอบปัญหาได้รอบด้าน รอบรู้ไปซะเกือบหมดในโลกนี้

นักพัฒนามโนภาพไปถึงระดับที่สาม ที่ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ Artificial Super Intelligence (ASI) เป็นกลุ่ม AI ที่สามารถคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้ใหม่ๆ ได้เอง เรียนรู้และตัดสินใจเองได้ อาจพูดถึงการมีสามัญสำนึกเลยด้วยซ้ำ บางตำราเรียกว่า Singularity ภาษาไทยเรียกว่าความเป็นเอกฐาน เหมือนกับว่า AI กลายเป็นสิ่งมีชีวิตอีกชีวิตหนึ่งขึ้นมากันเลย


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

เหตุที่นักพัฒนามโนภาพไปไกล ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าทุกวันนี้ AI ในระดับ ANI หรือ AGI ได้เริ่มสร้างปัญหาในทางจริยธรรม มีตัวอย่างให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งทำให้กลัวว่าถ้าขยับไปถึง ASI จะขนาดไหน ผมอยากยกตัวอย่างปัญหา AI ที่เกิดขึ้นจริงแยกเป็นประเด็นให้เห็น

AI ลำเอียง - เมื่อปี 2018 มีประเด็นเรื่อง AI คัดเลือกใบสมัครของบริษัท Amazon ที่มีแนวโน้มไม่เลือกผู้หญิง เช่นเดียวกับบริษัท Apple ในปี 2019 ที่กำหนดวงเงินบัตรเครดิตให้สามีสูงกว่าภรรยา ทั้งที่ทั้งคู่มีทรัพย์สินร่วมกัน ทั้งหมดนี้ก็เพราะ AI เรียนรู้ข้อมูลจากอดีต ซึ่งผู้ชายอาจจะได้รับคัดเลือกเข้าทำงานมากกว่าผู้หญิง หรือมีแนวโน้มจะใช้บัตรเครดิตมากกว่าผู้หญิงอีกด้วย

AI ชวนเชื่อ - เป็นกรณีที่พบเห็นบ่อยในสังคมออนไลน์อย่าง Facebook Twitter หรือ Instagram ในปัจจุบันที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือแบ่งแยกกลุ่มคนที่มีความคิดแตกต่างกัน อัลกอริธึมของ AI ที่นิยมเสนอข่าวสารตามความชอบของผู้เสพ ส่งผลต่อเนื่องให้ผู้คนรับข่าวด้านเดียว รวมไปถึงกรณีอย่าง Deepfake ที่ AI ถูกใช้ปั้นตัวละครพูดข่าวปลอมที่ดูเสมือนจริงมาก

AI ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล – Google Photos เป็นตัวอย่างที่เคยใช้ข้อมูลภาพที่สมาชิก upload เก็บไว้ ไปฝึกฝน AI ให้สามารถแบ่งแยกประเภทของรูปภาพได้ โดยไม่ได้แจ้งหรือได้รับความยินยอมจากสมาชิก หรือ Facebook ที่ใช้ AI tag ใบหน้าคนในภาพที่ post นำไปสู่คดีในรัฐอิลลินอยส์ ที่ Facebook ต้องเสียค่าปรับถึง 550 ล้านเหรียญสหรัฐในฐานะที่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล คดีประวัติศาสตร์อีกคดีคือ Cambridge Analytica ที่รับข้อมูลส่วนบุคคลจาก Facebook 87 ล้านคน มาใช้ประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016

AI เป็นอาวุธ - โดรนสังหารเป็นกลุ่มของอาวุธอัตโนมัติร้ายแรง (Lethal Autonomous Weapons) อย่าง Switchblade 600 ที่สหรัฐส่งให้ยูเครนใช้ในการต่อต้านรัสเซียเมื่อเร็วๆ นี้ อาศัย AI ช่วยตรวจจับใบหน้าเป้าหมายและยิงสังหารจากระยะไกลได้อย่างแม่นยำกว่าที่เคยเป็น

ที่กล่าวมานี้ยังไม่รวมถึงประเด็นจริยธรรมอีกหลายข้อ เช่น การแย่งงานมนุษย์ หรือความผิดพลาดจากการตัดสินใจของ AI ที่ส่งผลร้ายต่อมนุษย์ ก็ถือว่าไม่แปลกที่ประชาคมในหลายประเทศ รวมถึงนักพัฒนาบางส่วนลุกขึ้นมาเตรียมระวังป้องกัน มาดูวิธีที่ประเทศต่างๆ ทำกัน

เริ่มต้นจากการประกาศแผน AI ระดับชาติ ผู้ที่สนใจตามไปอ่านที่ OECD (https://www.oecd.org/science/an-overview-of-national-ai-strategies-and-policies-c05140d9-en.htm)

ปัจจุบันมีมากกว่า 30 ประเทศได้ประกาศแผน AI ระดับชาติ และเกือบทุกประเทศได้บรรจุเรื่องธรรมาภิบาล AI (AI Governance) ไว้ สำหรับประเทศไทย เรามีแผน AI ระดับชาติระยะ 6 ปี (2565-2570) ซึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 1 ของแผนระบุตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมไว้ว่าจะสร้างความตระหนักด้านการใช้ AI ให้กับประชาชนไม่ต่ำกว่า 600,000 คน รวมถึงการมีกฎระเบียบหรือข้อบังคับด้าน AI อย่างน้อย 1 ฉบับ

ถัดจากการประกาศแผนนโยบายระดับชาติ ก็คือการประกาศแนวปฏิบัติด้านจริยธรรม AI (AI Ethics) มีการประกาศใช้ในหลายประเทศหรือกลุ่มประเทศ ที่โดดเด่นมากๆ คือกลุ่ม EU ที่มีการประกาศแนวทางจริยธรรมสำหรับปัญญาประดิษฐ์ที่น่าเชื่อถือ (Ethics Guideline for Trustworthy AI) ประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า 

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ประกาศแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline) แล้วตั้งแต่ปี 2564 และยังได้จัดอบรมส่งเสริมหน่วยงานต่างๆ ให้ใช้แนวปฏิบัติดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เมื่อเร็วๆ นี้คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ยังได้ออกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรฐานการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Thailand Artificial Intelligence Guidelines 1.0) อีกด้วย

ล่าสุดในบางกลุ่มประเทศยังได้มีความพยายามขยับมาตรการควบคุม AI ขึ้นเป็นระดับกฎหมายข้อบังคับ อย่าง EU AI Act ซึ่งเสนอขึ้นในกลุ่มประเทศ EU แม้ว่าจนถึงตอนนี้จะยังไม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แต่ก็แสดงให้เห็นว่า EU เห็นความสำคัญของการระวังป้องกัน AI อย่างมาก

สำหรับประเทศไทยดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่ายุทธศาสตร์ที่ 1 ของแผน AI แห่งชาติ ระบุการจัดทำกฎหมายข้อบังคับด้าน AI อย่างน้อย 1 ฉบับ นำมาสู่ร่างกฎหมาย 2 ฉบับซึ่งเข้าสู่ขั้นรับฟังความเห็นผ่านประชาพิจารณ์แล้วด้วย อย่างไรก็ตาม AI เพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้นในประเทศไทย

แผน AI แห่งชาติจึงมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ AI เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าการจำกัดการเกิดของ AI ดังนั้นเชื่อว่ากฎหมายควบคุมการใช้ AI ในประเทศไทยคงยังต้องผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน

ในช่วงที่ประเทศไทยยังอยู่ในขั้นส่งเสริมเศรษฐกิจ AI และยังไม่มีกฏหมายควบคุมอย่างเข้มงวด จึงเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ นักพัฒนา และผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยกันกำกับดูแล AI ด้วยตัวเอง ภายใต้หลักจริยธรรม AI ที่ประกาศใช้กันแล้ว ส่วนพวกเราประชาชนผู้ใช้ AI ก็ต้องเข้าใจมันและรู้จักระวังป้องกันด้วยตัวเอง

related