แพทย์ศิริราช โชว์นวัตกรรม ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Ai) ในการวิเคราะห์แผ่นฟิล์ม X-Ray พร้อมใช้เทคโนโลยีเครื่องสแกน MRI และ อัลตราซาวด์ ในการรักษาผู้ป่วยอาการสั่นไม่มีสาเหตุของคนไข้ไทย
ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โรงพยาบาลศิริราชถือเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่มีความสามารถในการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนที่ต้องใช้การรักษามากกว่าหนึ่งสาขาวิชา เพื่อให้ประชาชนสามารถได้รับการรักษาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โรงพยาบาลเองก็มีหน้าที่ในการสร้างบุคลากรทั้งการแพทย์ที่มีความรู้ในการรักษาโรคใหม่ๆและพัฒนาเทคโนโลยีในการรักษาให้แก่คนไทย พร้อบกับการร่วมมือกับเอกชน
"โรงพยาบาลศิริราชเชื่อว่า การเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ จะทำให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและควบคู่ไปกับความปลอดภัย ด้วยการนำเทคโนโลยีและศักยภาพทางการรักษามาปรับใช้ภายในโรงพยาบาล ซึ่งอาจเป็นต้นแบบสำหรับสถานพยาบาลอื่น ๆ ในประเทศอีกด้วย"
ศ.คลินก พญ.อัญชลี ชูโรจน์ หัวหน้าภาครังสีวิทยา ระบุว่า โรงพยาบาลนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาอ่านผลเอกซเรย์ ให้มีความแม่นยำและรวดเร็วมากขึ้นโดยเริ่มต้นจากฟิล์มเอกซเรย์ปอด ขณะเดียวกันอีกหนึ่งนวัตกรรมที่มีการใช้ คือ การใช้เครื่องสแกน MRI เข้ามาทำงานร่วมกับการฉายรังสีอัลตร้าซาวด์ เพื่อรักษาอาการสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุอันเกิดมาจากการทำงานผิดปกติภายในสมองโดยไม่ต้องผ่าตัด
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ปัญญาประดิษฐ์อ่านผลเอกซเรย์ พัฒนาโดยคนไทย
รศ.นพ.ตรงธรรม ทองดี จากสาขาวิชารังสีวินิจฉัย ภาควิชารังสีวิทยาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โครงการการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาอ่านฟิล์มเอกซเรย์ ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2019 และได้มีการปรับปรุงให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันประสบความสำเร็จในการพัฒนาซึ่งนับเป็นโครงการที่พัฒนาโดยคนไทยทั้งหมด
การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการอ่านผลของเอกซเรย์ สามารถแสดงผลให้รังสีแพทย์ในการอ่านค่าได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้นด้วยการไฮไลท์สีต่างๆและระบุความน่าจะเป็นของโรคที่ฟิล์มเอกซเรย์แสดงออกมา นอกจากนี้ยังสามารถวัดขนาดของหัวใจเพื่อวิเคราะห์และวินิจฉัยโรคอื่นๆได้อีกด้วย โดยมีความถูกต้องสูงสุดถึง 99%
รศ.นพ.ตรงธรรม ระบุว่า ระบบปัญญาประดิษฐ์ ดังกล่าว ทำให้ภาพเอกซเรย์เข้าไปอยู่ในระบบออนไลน์ นั่นหมายความว่าจะมีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและระเบียบมากยิ่งขึ้นและยังสามารถทำให้แพทย์และคนไข้สามารถอ่านผลเอกซเรย์ออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน AI ของโรงพยาบาลศิริราชที่พัฒนาสามารถวิเคราะห์โรคได้ 8 โรคโดยแบ่งเป็นความแม่นยำตั้งแต่ 89 จนถึง 99% ตามแต่โรค การพัฒนาและใช้งานซอฟต์แวร์ของคนไทยที่พัฒนาขึ้นเองสามารถที่จะลดรายจ่ายจากการซื้อซอฟต์แวร์ของต่างประเทศราว 1 ใน 5 ของรายจ่ายทั้งหมด ซึ่งช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านมายังมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการอ่านเคส กว่า 250,000 กรณี เพื่อลดภาระงานของรังสีแพทย์
อาการสั่นไม่ทราบสาเหตุ รักษาได้ ไม่ต้องผ่าตัด
อ.พญ.ยุวดี พิทักษ์ปฐพี แพทย์ประจำสาขาประสาทวิทยาภาคอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า อากาศของผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาส่วนใหญ่จะมีอาการสั่นที่ได้รับผลกระทบต่อชีวิตประจำวันซึ่งหากอาการจะแสดงก็ต่อเมื่อมีความพยายามที่จะใช้อวัยวะส่วนต่างๆในการขยับเช่นถือขวดน้ำและเขียน มีการรักษาอาการดังกล่าวก็จะเริ่มด้วยการใช้ยาเข้าไปยังกล้ามเนื้อบริเวณที่สั่นเพื่อ หากไม่ได้ผล ก็จะนำไปสู่การผ่าตัดต่อไป
รักษาอาการสั่นไม่ทราบสาเหตุแบบใหม่ อย่างไร ?
รศ.นพ.ฑิตพงษ์ ส่งแสง จากสาขารังสีวินิจฉัยภาควิชารังสีวิทยาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในการรักษาอาการดังกล่าว จะเป็นการใช้คลื่นเสียงที่ส่งเข้าไปในจุดเดียวกันเพื่อให้เกิดความร้อนในการทำลายเนื้อสมองที่ทำงานผิดปกติและรักษาอาการผิดปกติในสมอง
การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความแม่นยำเป็นอย่างสูงดังนั้นจึงต้องใช้เครื่องสแกน MRI ในการรักษาควบคู่ไปด้วยกันเพื่อให้การรักษาเกิดความแม่นยำมากที่สุด ซึ่งตัวคนไข้เองจำเป็นที่ต้องโกนศีรษะและสวมใส่เครื่องมือเสริม ซึ่งสามารถต่อยอดในการรักษาโรคอื่น ๆ ในอนาคตได้
"เพราะการรักษามีความแม่นยำจึงทำให้แผลที่เกิดขึ้นจากการรักษามีขนาดที่เล็กดังนั้นจึงทำให้คนไข้สามารถที่จะพักฟื้นได้อย่างรวดเร็วมากกว่าการผ่าตัดสมอง"
ขณะเดียวกันภายในงานแถลงข่าวมีการนำผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวมาแสดงผลการรักษา โดยคนไข้รายหนึ่งได้รับการรักษาไปเมื่อเดือนตุลาคม 2565 โดยพบว่าผลการรักษาทำให้คนไข้ไม่มีอาการสั่นโดยไร้สาเหตุแสดงให้เห็น ซึ่งทางคณะแพทย์ระบุว่า คนไข้จะหายจากอาการเดิมถึง 80% ซึ่งคนไข้รายหนึ่งระบุว่ามีผลข้างเคียงคืออาการชาตามปลายประสาทเช่น ปลายนิ้วและมุมปากเพียงเล็กน้อย ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่แพทย์และคนไข้รับได้
รศ.ดร.นพ.ศรัณย์ นันทอารี จากสาขาวิชาศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การรักษาดังกล่าวจะกลายเป็นทางเลือกให้กับคนไข้ในการรักษาอาการสั่นที่ไม่ทราบสาเหตุโดยไม่ต้องผ่าตัดและจะทำให้มีค่าใช้จ่ายลดลง แต่เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบัน ยังมีข้อจำกัดอยู่ว่าสามารถรักษาได้เฉพาะจุด เช่นอาการสั่นที่มือเพียงข้างเดียว ก็จะใช้ในข้างที่คนไข้ถนัดก่อน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งแตกต่างจากวิธีการผ่าตัดที่สามารถรักษาได้ทั้ง 2 ข้างในครั้งเดียว