ROVULA และ Kongsberg Ferrotech เผยความโดดเด่นนวัตกรรม ‘Nautilus’ หุ่นยนต์ซ่อมบำรุงท่อใต้ทะเลครั้งแรกของโลกช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายได้กว่า 50% พร้อมให้บริการลูกค้าและพันธมิตรทั้งไทยและต่างชาติแล้ววันนี้
ROVULA หรือ บริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ Subsea IRM (Inspection Repair & Maintenance) ที่ให้บริการเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์(หุ่นยนต์)ที่ใช้ในการสำรวจ และซ่อมบำรุงท่อปิโตรเลียมใต้ทะเลอย่างครบวงจร ในเครือ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) ร่วมกับ Kongsberg Ferrotech พันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ใต้ทะเลจากประเทศนอร์เวย์ ประกาศความพร้อมในการให้บริการ‘Nautilus’(นอติลุส) เทคโนโลยีหุ่นยนต์สำรวจและซ่อมบำรุงท่อปิโตรเลียมใต้ทะเลแบบครบวงจรครั้งแรกของโลก หลังประสบความสำเร็จจากการนำร่องใช้งานในภารกิจภายใต้เครือ ปตท.สผ. พร้อมแล้ว ที่จะให้บริการลูกค้าและพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและสำรวจปิโตรเลียมใต้ทะเล ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงท่อปิโตรเลียมใต้ทะเล การันตีด้วยรางวัลนวัตกรรมระดับโลกถึง 2 รางวัล
ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด เผยว่า “Nautilus คือความภาคภูมิใจที่ บริษัท โรวูล่า และเออาร์วี ได้พัฒนาร่วมกับบริษัท Kongsberg Ferrotech พันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ใต้ทะเลจากประเทศนอร์เวย์มาอย่างต่อเนื่องกว่า 4 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงท่อปิโตรเลียมใต้ทะเล ที่ปกติแล้วต้องใช้แรงงานคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อลงเรือดำน้ำที่มีการควบคุมแรงดัน พาลงไปใต้ทะเลลึกเพื่อซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันบุคลากรด้านนี้มีจำนวนจำกัด และยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายถึงชีวิต ซึ่งวิธีแบบเดิมมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูง และยังใช้เวลาในการซ่อมแซมนานเฉลี่ย 7-14 วันต่อครั้ง ทั้งยังมีโอกาสเกิดความผิดพลาด ทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรือรอยรั่วจนเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหล ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้ทะเล และชุมชนบริเวณใกล้เคียง กลายเป็นปัญหาสภาพแวดล้อมระดับประเทศได้”
Mr. Christopher Carlsen ผู้จัดการทั่วไป บริษัท Kongsberg Ferrotech เผยว่า “Nautilus ได้ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้น โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพในการใช้งาน และความสะดวกในการขนส่งไปปฏิบัติภารกิจกลางทะเลทั้งยังสามารถยืนยันตำแหน่งที่พบปัญหาด้วยการทำ NDT (Non-Destructive Testing) Scan และยังสามารถซ่อมแซมจุดที่เสียหายได้ทันที ความสำเร็จของการพัฒนาครั้งนี้ คือการที่เราได้รับการรับรองจาก DNV ว่าเป็นเทคโนโลยีการซ่อมแซมและแก้ปัญหารอยรั่วของท่อใต้ทะเลประเภทที่ไม่ใช่โลหะได้ ซึ่งเท่ากับว่า เรากำลังนำเสนอเทคโนโลยีการซ่อมแซมท่อใต้ทะเลที่ล้ำสมัย และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดโดยใช้เวลาซ่อมแซมน้อยมาก”
Nautilus สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างครบวงจรในการลงปฏิบัติการใต้น้ำเพียงครั้งเดียว ตั้งแต่การกำจัดสารป้องกันการกัดกร่อนบนพื้นผิวของท่อด้วยการลอก 3LPP (3-Layer Polypropylene Coating) สามารถยืนยันขนาดและตำแหน่งที่พบปัญหา จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนการเตรียมพื้นผิวของท่อ (Surface preparation) การเคลือบพื้นผิว การปิดผนึกรอยรั่ว และใช้คาร์บอนไฟเบอร์เสริมความแข็งแกร่งของโครงสร้างเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ผ่านการควบคุมด้วยระบบดิจิทัลและจัดทำรายงานออกมาได้อย่างสมบูรณ์ ภายใต้การควบคุมเรื่องสารปนเปื้อนให้มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะถูกรวบรวมและนำกลับขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อการกำจัดอย่างถูกต้องตามกรรมวิธีที่ปลอดภัย ทั้งนี้ Nautilus ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความแม่นยำ และความปลอดภัย ทดแทนการใช้มนุษย์ลงไปปฏิบัติงานใต้ทะเลซึ่งมีความเสี่ยงทั้งเรื่องสภาพอากาศ และความอันตรายใต้ผิวน้ำ โดยลดระยะเวลาการปฏิบัติงานที่ใช้มนุษย์ในแบบเดิมจาก 7-14 วัน เหลือเพียงไม่เกิน 48 ชม. รวมถึงทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัวซ่อมบำรุงท่อใต้ทะเลได้มากกว่า 50%
ตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ได้พัฒนาหุ่นยนต์ Nautilus ได้มีการทดสอบความสมบูรณ์ของตัวเครื่องและระบบมากกว่า 1,000 ชั่วโมง ทำให้มั่นใจได้ถึงคุณภาพที่เพียบพร้อมของตัวผลิตภัณฑ์ อีกทั้งการันตีความสำเร็จด้วยรางวัลชนะเลิศ ADIPEC Awards สาขา Breakthrough Technological Project of the Year ในปี 2020 และล่าสุดกับรางวัล Spotlight on New Technology Award ในงาน Offshore Technology Conference Asia (OTC Asia) เมื่อเดือนเมษายน 2022 ที่ผ่านมา
สำหรับ “ROVULA และ Kongsberg Ferrotech พร้อมแล้ว ที่จะให้บริการลูกค้าและพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและสำรวจปิโตรเลียมใต้ทะเล เข้ามาร่วมใช้บริการ และเป็นพันธมิตรในการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญร่วมกัน โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ คุณเพชร ลำเจียก โทร 02-078-4093 หรืออีเมล [email protected]”