svasdssvasds

ควบคุมการใช้ ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) แบบไหนจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

ควบคุมการใช้ ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) แบบไหนจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

เมื่อการใช้ประโยชน์จาก 'ข้อมูลส่วนบุคคล' สามารถสร้างรายได้ สร้างชื่อเสียง ขณะเดียวกัน การนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องก็สามารถทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงหรือสูญเสียทรัพย์สินได้ หลายประเทศจึงบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมดูแลการใช้ข้อมูลของภาคส่วนต่างๆ

ตั้งแต่มีการออก กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ General Data Protection Regulation: GDPR ของสหภาพยุโรป และบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 จนถึงการบังคับใช้กฎหมาย PDPA ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ข้อมูลจากเว็บไซต์ของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development หรือ UNCTAD) ระบุว่า มี 137 จาก 194 ประเทศที่ออกกฎหมายเพื่อปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัว โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีสัดส่วนการบังคับใช้กฎหมายแล้ว 57% 

กฎควบคุมการใช้ Data มีอิมแพ็กต่อการลงทุน

รู้หรือไม่ การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ดังกล่าว ส่งผลต่อการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ กล่าวคือ ทำให้บริษัทข้ามชาติที่ดำเนินธุรกิจอยู่หันมาตั้งเซิร์ฟเวอร์ในพื้นที่เขตอำนาจศาลและปฏิบัติตาม กฎหมายถิ่นที่อยู่ของข้อมูล (Data Residency Laws) ของรัฐบาลที่ออกกฎหมายให้องค์กรต่างๆ จัดเก็บข้อมูลในประเทศนั้น ซึ่งนอกจาก Data จะต้องจัดเก็บแต่ในประเทศแล้ว ยังต้องมีการตั้งเซิร์ฟเวอร์และสำนักงานในประเทศอย่างชัดเจนด้วย เช่น จีน รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย ส่วนไทยยังไม่ได้คุมเข้มเท่าเขา (Source: Data Residency Laws by Country: an Overview - InCountry)

MIT Technology Review Insights  คาดการณ์ไว้ว่า ในอนาคตอันใกล้ ปริมาณข้อมูลหรือ Data จะเติบโตทวีคูณเสมือนห่าฝน โดยในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นถึง 175 เซตตาไบต์ (ZB) หรือราว 1,000,000,000,000,000,000,000 ไบต์ ซึ่ง Data ปริมาณมหาศาลนี้จะครอบคลุมทุกสรรพสิ่งบนโลก ทั้งเรื่องการใช้ชีวิต สุขภาพ การเดินทาง การทำธุรกิจ การทำธุรกรรม การเข้าถึงแหล่งคอนเทนต์ต่างๆ

................................................................................................

อ่านเพิ่มเติม

................................................................................................

เปิดโมเดลธุรกิจใหม่จากการใช้ Data เรียกว่า 'Regulation as a Services'

Data Regulation ยังเป็นความท้าทายสำคัญที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุน เนื่องจากบริษัทข้ามชาติต่างๆ 'สับสนกับกฎหมายของแต่ละประเทศ' บริษัทที่เห็นโอกาสนี้จึงสร้างโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า Regulation as a Services หรือ Data Residency as a Service คือ บริการที่เป็นตัวกลางในการให้คำปรึกษาและจัดการเรื่อง Data Privacy รวมถึงการตีความเอกสารข้อมูลให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศนั้นๆ 

3 แกนหลักสำคัญของการใช้ Data เพื่อนำไปสู่ 'Data Economy'

ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา

มีมุมมองจากผู้บริหารธุรกิจบริการด้าน Data Center ในระดับไฮเปอร์สเกล ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ STT GDC Thailand ที่ระบุแกนการนำ Data ไปใช้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศจากการใช้ Data ดังนี้

  • เพื่อความมั่นคงของชาติ (National Security) กับสิทธิปกครอง Data ของเราเอง เนื่องจากประเทศไทยมีการ Consume Data มหาศาล เฉลี่ยใช้อินเทอร์เน็ตสูงกว่าวันละ 7 ชั่วโมง (อ้างอิงข้อมูลจาก ETDA) สำหรับผู้บริโภคทั่วไป เราจึงควรมีสิทธิ์ปกป้อง Data ของเราเอง ในขณะที่ Data ควรอยู่ในประเทศไทย โดยยึด Data Residency Laws ของประเทศนั้นๆ 
  • ต้องมีหลักการความเป็นส่วนตัวสำหรับการถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังประเทศอื่นๆ (หรือที่เรียกว่า Safe Harbor) ประเด็นนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างความมั่นใจว่า ข้อมูลจะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัยในบริบทของการถ่ายโอนระหว่างประเทศ ซึ่งตรงนี้ต้องเป็น กรอบการทำงานเชิง Data ระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ และเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศคู่ค้า
  • ออกกฎที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน (Commercial & Investment) เนื่องจาก Data is a New Oil ไม่ต่างจากพลังงานอื่นๆ ดังนั้นหลายๆ ประเทศจึงให้ความสำคัญในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Data เพื่อเพิ่มการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เช่น อินโดนีเซียที่ออกกฎว่า จะต้องจัดทำศูนย์ข้อมูลและศูนย์กู้คืนข้อมูลสำรองภายในประเทศ และ Data ต้องอยู่ในประเทศเท่านั้น ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะกระตุ้นการลงทุนในประเทศเป็นหลัก 

หนึ่งใน Data Center ของ STT GDC Thailand

มาตรการส่งเสริมและหลักเกณฑ์ควบคุมการใช้ Data ต่างๆ ของภาครัฐยังส่งผลต่อความท้าทายและโอกาสที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่น่านน้ำทางเศรษฐกิจใหม่ กรณีนี้ ศุภรัฒศ์แนะนำว่า หากภาครัฐปรับนโยบาย 4 ด้าน มาสนับสนุนเพียงเล็กน้อยก็สามารถพาประเทศไปสู่การเป็นผู้นำใน Data Economy ได้ ดังนี้

  1. ภาครัฐต้องมี “มาตรการพิเศษ” เพื่อจูงใจผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ให้เลือกลงทุนในประเทศไทย (เหนือกว่าทุกประเทศในทวีปเอเชีย) ต้องมีสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่ากฎหมายการส่งเสริมการลงทุนทั่วไป (ทั้งกฎหมาย BOI และ EEC)
  2. ต้องมีนโยบานด้านพลังงานที่เหมาะสม โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าที่เป็นทรัพยากรหลักในอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ เนื่องจากสถิติในอุตสาหกรรม Data Center ที่ใช้พลังงานในปริมาณไม่ต่างจากอุตสาหกรรมสายการบิน หรือประมาณ 2% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในโลก ดังนั้นนโยบายความมั่นคงด้านพลังงาน การสนับสนุนด้านการผลิตไฟฟ้า แรงจูงใจด้านราคาหรือการจัดสรรหาแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ๆ จึงเป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะพลังงานไฟฟ้า คือ ต้นทุนหลักของสรรพสิ่งในโลกดิจิทัล
  3. ปรับกฎหมายหรือกฎระเบียบให้ชัด เปลี่ยนจากการกีดกันตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นการกำหนดแนวทางควบคุมการประกอบกิจการ ซึ่งนอกจากส่งเสริมแล้วยังช่วยผลักดันอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างหลากหลาย อาทิ 
    • Data Center
    • Automated E-Commerce
    • Industrial Park
    • E-Medical
    • Tourism
    • 5G Smart Farming
  4. ใช้เทคโนโลยี เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยผลักดัน Data Economy ประกอบด้วย AI, Cloud, และเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย (Security Technology) รวมถึง Tokenization ที่เป็นการผสมผสานความสามารถของเทคโนโลยี Blockchain บวกกับ Cryptocurrency ซึ่งจะนำไปสู่การสร้าง Property & Real Estate สมัยใหม่ที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมาเพิ่ม

Source : STT GDC Thailand

“ถ้าประเทศไทยไม่เริ่มเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก Data ตรงนี้ จะทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสด้านการลงทุนใหม่ๆ ในมุมกฎหมายและการจัดทำนโยบายของภาครัฐ สามารถปรับได้ แต่ต้อง 'สมดุล' และ 'ทันสมัย' เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลให้กลายเป็นธุรกิจ S-Curve ของประเทศ โดยมี Data Center เป็น 'House of Data' สำคัญ เพื่อนำประเทศไปสู่น่านน้ำเศรษฐกิจใหม่" ศุภรัฒศ์ย้ำ

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังผันผวน ทุกภาคส่วนที่กำลังเดินหน้าทำ Digital Transformation การปรับตัวของภาครัฐ-เอกชน ในเชิงนโยบาย การวางแผน การลงทุน และการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Data Privacy มาใช้ ล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญและส่งผลต่อการขับเคลื่อน นอกจากนี้ยังมีภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับ Data Privacy ที่สร้างความเสียหายและปั่นป่วนแก่ธุรกิจเป็นระยะ 

อำนาจอธิปไตยของข้อมูล (Data Sovereignty) จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายควรคำนึงถึง และนำมาใช้เพื่อช่วยให้ประเทศเดินหน้าไปกับเทรนด์โลก 

related