เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การจัดการและระบบต่างๆที่เรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี แต่ AI หรือหุ่นยนต์ ยังต้องพัฒนาอีกมากจึงจะมาทดแทนมนุษย์ได้ ทางผู้เขียนได้วิเคราะห์และรวบรวมการงานที่เป็น ‘อาชีพแห่งอนาคต’
อาชีพด้านการศึกษา (Education)
บางครั้งการเรียนการสอนอาจทำได้ด้วยระบบ AI ก็จริง เช่น การประเมินผลสอบ , การจัดการเนื้อหาความรู้ต่างๆ
แต่คำพูดคำสอนและการแสดงถึงความเข้าใจไม่สามารถส่งต่อผ่านเทคโนโลยีได้ ปฎิสัมพันธ์ของมนุษย์ยังคงจำเป็นสำหรับเด็กที่กำลังเรียนรู้ หรือคนที่กำลังศึกษาหาความรู้
ซึ่งการสนทนาในรูปแบบต่างๆหลากหลายจนหุ่นยนต์ยังไม่สามารถทำได้ เช่น รายละเอียดต่างๆของสีหน้า การพูดคุย รวมถึงความเห็นอกเห็นใจ เป็นสิ่งที่เทคโนโลยียังต้องพัฒนาอีกหลายปี
อาชีพด้านกฎหมาย (Law)
กฎหมาย คดี ทนายความ เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการตัดสิน ซึ่งในแต่ละคดีก็มีรายละเอียดต่างๆที่ไม่ซ้ำกัน บ่อยครั้งที่ทนายความจะต้องใช้การเจรจา อาชีพนักกฎหมาย และผู้พิพากษา จึงเป็นอาชีพที่ระบบ AI หรือหุ่นยนต์ยังมาทดแทนไม่ได้เต็มตัว
ปัจจุบันทนายความมีการใช้ระบบ AI ในการตรวจสอบสัญญาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วยให้การต่อสู้คดีใหญ่ๆนั้นง่ายขึ้น แต่ก็ยังจำเป็นต้องใช้มนุษย์ที่มีทักษะการพูดคุยเจรจาและรายงานในชั้นศาลอยู่ดี
อาชีพด้านสุขภาพ (Healthcare)
ระบบ AI หรือหุ่นยนต์ถึงแม้จะช่วยในการผ่าตัด หรือหุ่นยนต์ที่ช่วยดูแลสุขภาพด้วยการทำตามคำสั่งจากระบบอัตโนมัติต่างๆทางการแพทย์
แต่ถ้ามองกลับมาที่พยาบาลผู้ดูแลคนไข้ หุ่นยนต์ไม่สามารถเป็นผู้ช่วยด้านดูแลสุขภาพที่ดีได้เท่ามนุษย์ เนื่องจากพยาบาลที่เป็นมนุษย์สามารถพูดคุยและเอาใจใส่จากการฟังและดูแลในความต้องการ
ซึ่งมีรายละเอียดต่างๆ ที่ส่งผลต่อการรักษา ยิ่งในส่วนของจิตเวช และสามารถยกตัวอย่างสิ่งที่หุ่นยนต์ทำแทนไม่ได้คือ การดูแลเด็กเล็กหรือทารก ซึ่งต้องใช้ความเอาใจใส่และความอ่อนโยนในการเลี้ยงดูหรือดูแล สรุปได้ว่าในเร็ววันนี้ AI หรือหุ่นยนต์อาจถูกนำมาช่วยในด้านการดูแลสุขภาพแต่ยังคงต้องมีมนุษย์ดูแลอยู่ด้วย
อาชีพด้านสังคมสงเคราะห์ (Social Work)
งานด้านสังคมสงเคราะห์ เกิดจากความใส่ใจของมนุษย์ซึ่งกันและกัน ซึ่งงานด้านนี้มีความจำเป็นของมนุษย์อยู่มาก เช่น งานสังคมสงเคราะห์ต้องมีการพูดคุยกันเพื่อเข้าใจถึงปัญหาและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทันที และระบบ AI หรือหุ่นยนต์ก็ไม่สามารถตัดสินใจเองและทำเองได้ทันที นอกจากจะรอให้มนุษย์จะสั่งการ ทำให้งานด้านสังคมสงเคราะห์ยากที่จะถูกเทคโนโลยีมาทดแทน และยังคงต้องมีการพัฒนาอีกมาก
อาชีพด้านการออกแบบ (Design)
ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ กราฟิก สถาปัตยกรรม หรืองานด้านอื่นๆที่จำเป็นต้องใช้ศิลปะ แม้จะมีระบบ AI ที่ทำให้เห็นกันได้แล้วเช่น Dall-E แต่ศิลปะของมนุษย์นั้นซับซ้อนกว่ามาก เอกลักษณ์ของศิลปะแนวต่างๆ ซึ่งเทคโนโลยีไม่สามารถลอกเลียนแบบได้แบบ 100%
เพราะ AI ทำได้เพียงนำข้อมูลของมนุษย์มาลอกเลียนแบบหรือประกอบให้เกิดขึ้นเป็นภาพหรือการออกแบบใหม่ๆ ทำให้ถึงแม้ AI หรือหุ่นยนต์จะถูกนำมาช่วยให้งานออกแบบง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ต้องมีมนุษย์ควบคุมและช่วยเหลืออยู่ดี
อาชีพด้านงานเขียน (Writing)
ทั้งนี้ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆเช่น นิยาย , วรรณคดีหรือวรรณกรรม ที่มีการร้อยเรียงคำอันสวยงามของมนุษย์
ในปัจจุบันแม้มีระบบ AI ที่สามารถเขียนข่าวสารหรือบทความได้โดยการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ แต่การเลือกใช้คำ , เรียบเรียงบทความ , คัดสรรเนื้อหา ยังไม่สามารถทำได้ดีเท่ามนุษย์ ยกตัวอย่าง การคิดแคปชั่นสเตตัสในโซเชียลมีเดีย , คำศัพท์ใหม่ๆแปลกๆของวัยรุ่น เป็นสิ่งที่ AI ไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้
ที่มา : firsthand ,techslang , businesslawtoday , thinkbusiness