svasdssvasds

วอร์เรน บัฟเฟตต์ บริจาคเงิน 99.5% ให้การกุศล นิยามใหม่การส่งต่อความมั่งคั่ง

วอร์เรน บัฟเฟตต์ บริจาคเงิน 99.5% ให้การกุศล นิยามใหม่การส่งต่อความมั่งคั่ง

วอร์เรน บัฟเฟตต์ แสดงวิสัยทัศน์ที่แตกต่างจากมหาเศรษฐีทั่วไป ด้วยการปฏิเสธและหันหลังให้กับแนวคิดการสร้างอาณาจักรความมั่งคั่งให้กับลูกหลานโดยตรง แต่เลือกที่จะมอบทรัพย์สินมหาศาลของเขาให้กับการกุศลเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดต่อสังคมในอนาคต

วอร์เรน บัฟเฟตต์ หนึ่งในนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่และร่ำรวยที่สุดในโลก รวมถึงผู้ก่อตั้งบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ (Berkshire Hathaway) ได้แสดงวิสัยทัศน์ที่แตกต่างจากมหาเศรษฐีทั่วไป ด้วยการปฏิเสธและหันหลังให้กับแนวคิดการสร้างอาณาจักรความมั่งคั่งให้กับลูกหลานโดยตรง แต่เลือกที่จะมอบทรัพย์สินมหาศาลของเขาให้กับการกุศลเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดต่อสังคมในอนาคต

บัฟเฟตต์ บนวัยแห่งประสบการณ์ 94 ปี ได้แต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์จำนวนสามคน เพื่อดูแลและบริหารทรัพย์สินในอนาคตให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเขา โดยทรัพย์สินเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในโครงการกุศลต่าง ๆ หลังจากที่เขาและภรรยาเสียชีวิต  โดยบัฟเฟตต์ยังบริจาคหุ้นของ Berkshire Hathaway มูลค่า 1,100 ล้านดอลลาร์ให้กับมูลนิธิครอบครัว 4 แห่ง เพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่เขาให้ความสำคัญ

เจตนารมณ์แห่งความรับผิดชอบ

บัฟเฟตต์เคยกล่าวเสมอว่าเขาตั้งใจบริจาค 99.5% ของทรัพย์สินที่เขาเป็นคนก่อร้างสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1965 เพราะเชื่อว่าการมอบมรดกมหาศาลอาจเป็นการลดแรงผลักดันในการพัฒนาตนเองของลูกหลาน และยังอาจสร้างความแตกแยกในครอบครัว

นอกจากนี้ เขายังมองว่าการปล่อยให้ทรัพย์สินตกทอดไปยังคนรุ่นหลังอย่างไม่มีระบบ อาจส่งผลเสียต่อสังคมในระยะยาว

"ผมไม่เคยต้องการสร้างอาณาจักร หรือวางแผนที่จะขยายความมั่งคั่ง นอกเหนือจากลูกๆ ของผม แต่คนรุ่นถัดไปเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ใครจะสามารถคาดการณ์ความสำคัญ สติปัญญา และความซื่อสัตย์ของคนรุ่นถัดๆ ไปในการจัดการกับบริหารทรัพย์สินมหาศาลได้" บัฟเฟตต์เขียนระบุในจดหมาย

ผู้ดูแลผลประโยชน์: ผู้พิทักษ์ความตั้งใจ

บัฟเฟตต์ ซึ่งปัจจุบันถือครองหุ้น Berkshire Hathaway Class A กว่า 37.6% ได้วางแผนล่วงหน้าอย่างละเอียด ด้วยการแต่งตั้งทรัสตีอิสระ 3 คน (หรือ ผู้ดูแลผลประโยชน์ ) เพื่อรับผิดชอบการจัดสรรทรัพย์สินในอนาคต โดยทั้งหมดนั้น เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากลูก ๆ ของเขา และมีอายุที่น้อยกว่าลูก ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว

แม้ว่าบัฟเฟตต์จะมีความเชื่อมั่นในความสามารถของลูกทั้งสาม—ซูซาน, ฮาเวิร์ด และปีเตอร์—แต่เขาก็ได้เตรียมแผนสำรองไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคต โดยมุ่งหวังให้ทรัพย์สินของเขาเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืน

วอร์เรน บัฟเฟตต์ แสดงวิสัยทัศน์ที่แตกต่างจากมหาเศรษฐีทั่วไป ด้วยการปฏิเสธและหันหลังให้กับแนวคิดการสร้างอาณาจักรความมั่งคั่งให้กับลูกหลานโดยตรง แต่เลือกที่จะมอบทรัพย์สินมหาศาลของเขาให้กับการกุศลเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดต่อสังคมในอนาคต Credit ภาพ REUTERS

การบริจาค: สะพานสู่อนาคต

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา บัฟเฟตต์ได้แปลงหุ้นประเภท A จำนวน 1,600 หุ้น ให้เป็นหุ้นประเภท B จำนวน 2,400,000 หุ้น เพื่อบริจาคให้กับมูลนิธิครอบครัว 4 แห่ง

โดยหุ้นส่วนใหญ่ถูกมอบให้กับมูลนิธิซูซาน ทอมป์สัน บัฟเฟตต์ ขณะที่ส่วนที่เหลือแบ่งให้กับมูลนิธิเชอร์วู้ด, มูลนิธิโฮเวิร์ด จี. บัฟเฟตต์ และมูลนิธิโนโว

"ช่วง 18 ปีที่ผ่านมา ผมได้เห็นการเติบโตและพัฒนาของลูกๆ ในการทำงานด้านการกุศล พวกเขาได้เรียนรู้บทเรียนชีวิตที่ล้ำค่ามากมาย พวกเขามีความมั่นคงทางการเงิน แต่ไม่ได้หมกมุ่นกับความร่ำรวย ผมเชื่อว่าภรรยาของผมคงจะรู้สึกภูมิใจในพวกเขามาก" 

สำหรับคุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ได้รับการยกให้เป็นนักลงทุนชื่อดังระดับโลก โดยเขาสนใจการลงทุนมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลาย และเมื่อมีโอกาสเข้าสู่ตลาดหุ้นในยุคแรก ๆ ธุรกิจที่เลือกลงทุนจะเกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่น บริษัท ซิตีส์เซอร์วิส (Cities Service) เนื่องจากเขาพบว่ามีปั้มน้ำมันของบริษัทแห่งนี้กระจายอยู่ทั่วสหรัฐอเมริกา และขยายไปลงทุนในเครื่องดื่มชื่อดัง โคคาโคล่า โดยเฉพาะหุ้นบริษัท โคคาโคล่า เขาได้เริ่มซื้อตั้งแต่ปี 1988 และเก็บสะสมเรื่อยมาจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทโคคาโคล่ามีสัดส่วน 9.2% ของหุ้นบริษัท โคคาโคล่า

แรงบันดาลใจแห่งการเปลี่ยนแปลง

การตัดสินใจของวอร์เรน บัฟเฟตต์สะท้อนถึงความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ทั้งในระดับครอบครัวและสังคม โดยเขาไม่ได้มองทรัพย์สินเป็นเพียงมรดกตกทอด แต่เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่าให้กับสังคม การกระทำนี้เป็นแรงบันดาลใจให้มหาเศรษฐีคนอื่น ๆ หันมาพิจารณาบทบาทของทรัพย์สินในมือของตน เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างยั่งยืนในโลกใบนี้

ที่มา : vnexpress  finance.yahoo

related