SHORT CUT
การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และ การค้าขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์ หรือ ขนส่งสินค้า ของไปรษณีย์ไทยเติบโตต่อเนื่อง ด้วยจุดแข็ง คือ ที่ทำการไปรษณีย์และบุรุษไปรษณีย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ทำให้ครึ่งปีแรกสามารถทำรายได้มากกว่าหมื่นล้านบาท
สำหรับรายได้ของไปรษณีย์ไทย ครึ่งปีแรก 10,602.30 ล้านบาท มีกำไร 136.60 ล้านบาท ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลได้ทำให้การค้าออนไลน์และการค้าขายระหว่างประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยขยายตัวสูง โดยคาดการณ์ว่าตลอดจนถึงสิ้นปี 2567 ตลาดอีคอมเมิร์ซจะมีมูลค่ากว่า 700,000 ล้านบาท
“ครึ่งปีแรกไปรษณีย์ไทยมีกำไรจากการบริหารจัดการต้นทุน เติบโตแบบไม่งอมืองอเท้า ทำให้ศักยภาพพัฒนาขึ้น เพราะภาพรวมของตลาดโลจิสติกส์ไม่ได้เติบโตมากนักจากเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ไม่ฟื้นตัว”
ดร.ดนันท์ ยอมรับว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซ ดร็อปลง เพราะการจัดเก็บภาษีมูลค่าสำหรับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่า 1,500 บาทขึ้นไปทำให้กำลังซื้อลดลง ซึ่งช่วงครึ่งปีหลังต้องติดตามว่า นโยบายนี้ของกรมศุลกากร จะกระทบอย่างไร
เพราะรายได้จากกลุ่มธุรกิจบริการระหว่างประเทศทำได้ถึง 1,293.31 ล้านบาท คิดเป็น 12.20% ของรายได้รวม ทำให้ไปรษณีย์ไทยคาดว่า สิ้นปีนี้รายได้จากธุรกิจบริการระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านบาท บริการเรือธงที่ทำรายได้หลักได้แก่ บริการ EMS World บริการพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศ บริการส่งแบบลงทะเบียนระหว่างประเทศ บริการ ePacket
ปลายทางที่ได้รับความนิยมในการส่งระหว่างประเทศ 5 อันดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สินค้าที่นิยมส่ง คือ เสื้อผ้า ขนมและอาหารแห้ง สินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม เอกสาร ของสะสม
“จุดเด่นที่สำคัญ ได้แก่ เส้นทางการขนส่งที่หลากหลาย การเสริมสร้างความร่วมมือกับการไปรษณีย์ทั่วโลก การดึงเอกชนร่วมปิดช่องว่างการขนส่ง การสร้างพันธมิตรกับกลุ่มแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ พร้อมเปิดเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศเพิ่มเติม”
จุดแข็งของไปรษณีย์ไทย คือ การมีเครือข่ายทั้งในและระหว่างประเทศครอบคลุม 205 ปลายทาง 193 ประเทศ สามารถเข้าถึงพื้นที่เฉพาะที่ผู้ให้บริการรายอื่นๆ อาจยังไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น พื้นที่เกาะ ภูเขาและปลายทางห่างไกล เช่น อียิปต์ เอสโตเนีย อาร์เจนตินา และประเทศที่เป็นเกาะเล็ก ๆ
นอกจากธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักแล้วไปรษณีย์ไทย ยังสนใจ จะเข้าสู่ธุรกิจธนาคารไร้สาขา เพราะถือเป็นโอกาส และ ช่องทางหารายได้เพิ่ม จากการใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่าสูงสุด เนื่องจากไปรษณีย์ไทยมีเครือข่าย และ ช่องทางการให้บริการที่ครอบคลุมอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดจะทราบความชัดเจนเมื่อนำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดในเดือนสิงหาคมนี้
พร้อมยกตัวอย่างประเทศอินเดีย ที่มีบริการระหว่างประเทศ และ บริการ Post Payment Bank ซึ่งบุรุษไปรษณีย์มีลูกค้ามากถึง 2 แสนรายต่อวัน คืนทุนในธุรกิจนี้ราว 4-5 ปี