ตำรวจเผยพยาน 2 ปากที่พลิกคดี “บอส อยู่วิทยา”เป็นพยานที่อัยการสั่งให้สอบเพิ่ม หลังคดีผ่านมา 7 ปี ในส่วนคดีบอสจบแล้วไม่สามารถรื้อได้อีก แต่ครอบครัวผู้เสียหายสามารถฟ้องเองได้
พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ สตช. พร้อมด้วยพล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.สมชาย พัชรอินโต ผบช.สำนักงานกฎหมายและคดี แถลงผลการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงครั้งที่ 1 โดยยอมรับว่า ความเห็นไม่แย้งคำสั่งของอัยการในคดีถือว่าคดีสิ้นสุดแล้วไม่สามารถแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงความเห็นได้อีก ส่วนการพิจารณาความเห็นที่อัยการส่งมานั้นเป็นการพิจารณาความถูกต้องในข้อกฎหมาย และดูข้อเท็จจริง ทางตำรวจไม่มีอำนาจตรวจสอบความเห็นของอัยการหรือขอให้อัยการอธิบายเหตุผลของการสั่งคดีได้ เพราะเป็นการถ่วงดุลอำนาจในกระบวนการยุติธรรม
โดยคณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่สืบหาข้อเท็จจริงว่า การใช้ดุลพินิจของพล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะรื้อฟื้นหรือสืบสวนเพิ่มเติม เพราะคดีผ่านชั้นสืบสวนของตำรวจมาแล้ว โดยจะกำหนดกรอบการทำงาน 3 ประเด็น คือ 1.การสอบสวนและความเห็นชั้นพนักงานสอบสวน 2.การสอบสวนเพิ่มเติมตามคำสั่งพนักงานอัยการ 3.การดำเนินการพิจารณาความเห็นตามป.วิอาญามาตรา 145/1 โดยจะพิจารณาการดำเนินการของตำรวจที่รับผิดชอบตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการว่าได้ดำเนินการถูกต้อง ตามระเบียบหรือไม่
ด้าน พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหากการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำความผิดแบ่งเป็น 2 ลักษณะ 1.การกระทำความผิดที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 2.การกระทำความผิดด้านวินัย ซึ่งทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด ให้เสนอท่านว่าใครกระทำความผิดบ้าง ด้านอาญาก็ให้ส่งทางป.ป.ช. ส่วนทางวินัยก็ให้ลงทัณฑ์ทันที
พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวอีกว่า พนักงานสอบสวนไม่เกี่ยวข้องกับพยานใหม่ 2 ปาก เนื่องจากอัยการเป็นฝ่ายมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบปากคำเพิ่ม หลังผู้ต้องหายื่นร้องขอความเป็นธรรมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พนักงานสอบสวนจึงทำตามขั้นตอนที่อัยการกำหนดเท่านั้น โดยไม่สามารถก้าวล่วงกับการให้น้ำหนักของพยาน 2 ปากนี้ พร้อมยอมรับว่า ที่ผ่านมา คดีร้อยละ 97 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความเห็นไม่แย้ง มีเพียงร้อยละ 3 ที่เห็นแย้ง
อย่างไรก็ตามผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ จะไม่มีผลต่อคดีความ เพราะคดีสิ้นสุดแล้ว หลังตำรวจมีความเห็นไม่ฟ้อง 1 ข้อหา และสั่งฟ้องข้อหาอื่นทั้งหมด และจะไม่เกี่ยวข้องกับผลการตรวจสอบของอัยการสูงสุด แต่หากพบว่ามีการใช้ดุลพินิจไม่ชอบ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาความผิดทางวินัยและอาญาต่อไปสำหรับคดีนี้แม้ทางกระบวนการของตำรวจจะเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่ครอบครัวผู้เสียหายยังสามารถฟ้องร้องคดีต่อศาลได้เองตามกระบวนการยุติธรรม