แม้นักวิชาการบางท่านจะบอกว่า อย่าเพิ่งไปไกลถึงขนาดนั้น เพราะตราบใดที่ยังนัวเนีย นุงนัง ยุ่งขิงกับเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อยู่ ยังไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องรัฐบาลชุดใหม่? เพราะสูตรคำนวณปาตี้ลิสต์ตรงนี้ จะมีผลทำให้เสียงสองขั้วที่ก้ำกึ่งกันอยู่ ยังจะถูกเทไปข้างใดข้างหนึ่ง ประมาณนั้น
เอาเป็นว่า..หากเป็นสูตรเอื้ออาทรพรรคเล็ก เสียงจะไหลมาข้าง พปชร.!?
แต่หากไม่วอกแว่ก..ยึดตามเกณฑ์ค่าเฉลี่ย กลมๆ 71,000 ต่อ ส.ส.1 คน เสียง ถี่ห่างซีก พท.ก็ยังเป็นต่อ!?
ส่วนเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ คงต้องรอหลังสงกรานต์ไปแล้ว และต้องจบก่อน 9 พ.ค.62 ตามกรอบเวลา 150 วัน เพราะถึงแม้จะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญก็เถอะ! คงไม่มีอะไรซับซ้อนถึงขั้นต้องเสียเวลาลากยาวออกไป..
ดังนั้น โฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่? ภายใต้สถานการณ์การเมืองแบบไทยๆ จะไม่หนีไปจาก 3 สูตรนี้
สูตรแรก พปชร.+ พันธมิตร
สูตรสอง พท.+พันธมิตร
สูตรสาม รวมสองขั้วเข้าด้วยกัน เป็นรัฐบาลสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ หรือจะเรียกรัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลเฉพาะกาล รัฐบาลเฉพาะกิจ! อะไรก็สุดแท้แต่จะเรียกขาน ว่ากันตามจริตของแต่ละคนไป..
เชื่อไหมครับ! ผมถามไถ่นักวิชาการดูแล้ว ปรากฎว่าให้น้ำหนักกับ 3 สูตรนี้เท่าๆ กัน คือ มีโอกาสเป็นไปได้ทั้ง 3 ทาง ตามประสาการเมืองแบบไทยๆ ที่เสียงของประชาชนไม่ใช่อาณัติสวรรค์ ที่เป็นคำตอบสุดท้าย สำหรับประชาธิปไตยแบบตัวแทนบ้านเรา
โดยเฉพาะสูตรที่สาม บางคนมองมีโอกาสสูงด้วยซ้ำที่จะเกิดขึ้น..ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกอาการแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่บอกปฏิเสธเรื่องนี้เสียทีเดียวในวันก่อน “รอให้ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งให้ชัดเจนก่อน..ว่ากันตามกติกา..อย่าไปกำหนดกติกาขึ้นเอง..”
ฟังอย่างนี้หลายคนเห็นรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ลอยมาตรงหน้าเลย!?
นั่นคือ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก หากไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี จากบัญชีของพรรคการเมืองได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้สมาชิกเข้าชื่อกันเพื่อขอยกเว้นไม่ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีของพรรคการเมืองก็ได้ โดยใช้มติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา หรือ 500 เสียง จากทั้งหมด 750 เสียง
และหากเป็นไปตามนี้ คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ย่อมมีโอกาสสูงถึงสูงมากที่จะไม่ใช่”ลุงตู่” ไม่ใช่เพราะเกณฑ์ กติกา ในมาตรา 272 เท่านั้น แต่เพื่อหา”คนกลาง” ที่ไม่ได้มาจากบัญชีของพรรคการเมือง!?
สุดท้ายรัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อผ่าน 2 ด่านนี้ไปแล้วคือการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกนายกรัฐมนตรีและการตั้งรัฐบาลจะเกิดขึ้นเป็นลำดับสุดท้าย
ทว่ารัฐธรรมนูญ กำหนดกรอบเวลาไว้เฉพาะการเลือกตั้งที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน การประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง และการเปิดประชุมสภาครั้งแรกภายใน 15 วัน หลังประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ร้อยละ 95
แต่ไม่ได้กำหนดให้เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร เลือกนายกรัฐมนตรีภายในกี่วัน? ซึ่งสุดท้ายแบบท้ายสุดอาจนำไปสู่เดทล็อค! ปล่อยให้รัฐบาล คสช.และนายกฯ ลุงตู่ บริหารประเทศต่อไปเรื่อยๆ แต่มีคนเชื่อว่าต่อให้เกิดเดทล็อคอย่างไร? อย่างมากสุดก็ไม่เกิน 3-4 เดือน ต้องมีรัฐบาลชุดใหม่..
โปรดรอดูว่า..คนคำนวณจะสู้ฟ้าลิขิตไหมครับ!?