จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันยังคงต้องเฝ้าระวังกันอยู่ และในด้านการเรียนการสอนก็มีการปรับให้เข้ากับสถานการณ์มีทั้งการเรียนแบบ Online สลับกับ On-site เรียนที่โรงเรียน และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้คุณครูครีเอตวิธีการสอนที่ได้ทั้งความสนุกและความรู้
เนื่องจากการเรียนออนไลน์ที่บ้านทำให้เด็กต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้เทียบเท่ากับการเรียนในห้องเรียน ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กเกิดช่องว่างทางการเรียนรู้ได้ เทคโนโลยีต่างๆ จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบห้องเรียนท่ามกลางภาวะวิกฤตในครั้งนี้ โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่เน้นให้เด็กมีส่วนร่วมกับกระบวนการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายทั้งบนแพลตฟอร์มออนไลน์และนอกห้องเรียน
เราจะพาไปรู้จักกับแนวทางใหม่การเรียนการสอนยุคโควิด-19 ที่ประสบความสำเร็จ จากโรงเรียนที่ได้มีการใช้เทคนิคต่างๆ เหล่านี้
ครูสวมบทบาทแม่ค้าออนไลน์
ไอเดียของครูคนหนึ่งในโรงเรียนโรงเรียนบ้านค่าย จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่เจอกับปัญหาเด็กนักเรียนหลุดออกนอกระบบหลังจากปิดเรียนและการสอนทางไกลเป็นระยะเวลานาน โดยได้นำกลยุทธ์การสอนผ่านหน้าจอในรูปแบบแม่ค้าออนไลน์มาปรับใช้ ซึ่งเกิดจากไอเดียของครูคนหนึ่งที่ชื่นชอบการดูไลฟ์สดของ วิธีนี้เริ่มจากการสมมติในหมู่ครูว่ากำลังเปิดร้านไลฟ์สดออนไลน์ในแต่ละวัน และสวมบทบาทเป็นแม่ค้าขายของออนไลน์ โดยใช้การสอนร่วมกันถึง 3 คนในวิชาเดียว มีการรับส่งมุกตลกเพื่อสร้างเสียงหัวเราะให้กับนักเรียนอย่างสนุกสนาน และต่อยอดมาเป็นห้องเรียนออนไลน์ที่เน้น “เรียนปนเล่น” เพื่อฝึกให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน บรรยากาศในการเรียนที่ไม่เครียด ได้ทั้งความสนุกและประโยชน์จากเนื้อหาความรู้ เมื่อนักเรียนมีความสุขในการเรียน อยากมีส่วนร่วมกับห้องเรียนอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ครูเกิดแรงบันดาลใจในการจัดการเรียนการสอนต่อไป
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
Metaverse โลกเสมือนจริงที่ไร้ขีดจำกัด กับเรื่องที่พวกเราควรรู้
Alyona Tkachenko ผู้ส่งเสริมการศึกษาในคาซัสสถาน ได้รางวัล Power of Radiance
Makerspace และ STEAM Design Process
วิธีนี้เป็นการนำ Makerspace และ STEAM Design Process มาปรับใช้เสริมการสอน จากเดิมที่เด็กต้องเรียนตามที่ครูกำหนด เปลี่ยนเป็นให้เด็กสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่อยากเรียนได้ผ่านฐาน Makerspace ทุกวันอังคารช่วงบ่ายเป็นเวลา 3 ชั่วโมง เช่น การประดิษฐ์ ดนตรี ศิลปะ หรือแม้แต่การทำอาหาร หากเรียนแล้วรู้สึกไม่ชอบก็สามารถเปลี่ยนได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งทำให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่สนใจ ไม่ใช่การถูกบังคับให้เรียน จึงไม่ทำให้เกิดการต่อต้านหรือเบื่อหน่ายที่จะเรียน
นอกจากนี้สำหรับวิชาพื้นฐาน อย่าง ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ก็จะใช้ STEAM Design Process หรือแนวทางการจัดการเรียนการสอนให้เกิดการเรียนรู้และบูรณาการความรู้จาก 5 สาระวิชาหลักเข้าด้วยกัน ล้มเลิกการสอนแบบท่องจำและเปิดกว้างความรู้นอกห้องเรียน ให้เด็กได้คิด ได้ลงมือปฏิบัติเพื่อค้นหาความรู้ด้วยตัวเองจากทุกพื้นที่อย่างอิสระ ไม่ว่าจากอินเทอร์เน็ต จากยูทูบ หรือจากเกม โดยมีครูทำหน้าที่เป็นผู้คอยชี้แนะ ทั้งหมดไม่มีรูปแบบตายตัว เป็นอิสระของคุณครูที่จะออกแบบการเรียนการสอนของตัวเอง
ฉีกกรอบการสอนเดิมๆ ด้วยการบูรณาการแบบ PBL
PBL หรือ Problem-Based Learning คือการให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยใช้ปัญหาที่สามารถพบเจอได้ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน เป็นตัวนำในการเรียนรู้ ครูเปลี่ยนบทบาทครูจากผู้สอนหน้าชั้นเรียนตลอดคาบ เป็นผู้ดูแลกระบวนการและผู้สร้างสถานการณ์ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ โดยยังคงยืนพื้นด้วยเนื้อหาวิชาหลัก ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และในวิชาที่เหลือ เช่น วิทยาศาสตร์ สังคม การงานอาชีพและเทคโนโลยี สุขศึกษาและพละศึกษา จะถูกบูรณาการร่วมกันเป็น “หน่วยเรียนรู้” ตามโจทย์ต่างๆ เช่น ของเล่นพื้นบ้าน สมุนไพรผักพื้นถิ่น ให้เด็กได้เรียนรู้จากสภาพแวดล้อมรอบตัว แล้วจึงนำสิ่งที่ได้กลับมาถกเถียงและแลกเปลี่ยนกันผ่านห้องเรียนออนไลน์ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นพบว่าเด็กๆ มีความกล้าแสดงออกมาขึ้น สามารถคิดวิเคราะห์ และมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการเรียนในรูปแบบเดิม รวมทั้งยังได้รับความสนุกสนาน ซึ่งแนวคิดนี้ได้ถูกปรับใช้ในโรงเรียนเรียนบ้านห้วยปูลิง
กระเป๋าแดงแห่งการเรียนรู้
ภาวะความรู้ถดถอยและช่องว่างของการเรียนรู้เป็นปัญหาที่โรงเรียนวัดดอนพุดซากำลังเผชิญ ทั้งปัญหาด้านการอ่านออกเขียนได้ ต้องกลับมาเริ่มเรียนใหม่อีกครั้ง ส่วนเด็กชั้นโตมีปัญหาในการเรียนออนไลน์เช่นกัน โดยพบว่ามีนักเรียนเข้าเรียนออนไลน์ได้เพียงแค่ร้อยละ 10 โรงเรียนจึงต้องปรับรูปแบบมาใช้การเรียนการสอนที่ต่อยอดมาจากนวัตกรรมกล่องการเรียนรู้ (Learning Box) โดยออกแบบใช้สีแดงซึ่งเป็นสีประจำโรงเรียน และประยุกต์วัสดุ อุปกรณ์ข้างในให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ ภายในบรรจุอุปกรณ์สื่อการสอนสำหรับต่อยอดสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่บ้าน สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งในช่วงปิดเรียนและช่วงการเรียนแบบออนแฮนด์เพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้โรงเรียนยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูผู้สอน ทั้งเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศที่ต้องนำมาประยุกต์ใช้กับการสอนในรูปแบบที่ไม่คุ้นเคย การออกแบบการจัดการเรียนการสอนที่น่าสนใจ และการออกแบบสื่อต่างๆ ที่จะนำไปใส่ในกระเป๋าแดงแห่งการเรียนรู้ รวมถึงการตรวจวัดประเมินผลนักเรียน